ยืนยันจากเเพทย์ กระสุนยางอันตรายถึงชีวิต ไม่ควรใช้กับฝูงชน
แพทย์หญิงโรหิณี ฮาร์ ผู้นำทีมวิจัยและสมาชิกขององค์การแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวลงในวารสารวิชาการ BMJ Open โดยระบุว่ากระสุนยางหรือกระสุนชนิดที่คิดกันว่าปลอดภัยไม่ทำให้คนตายได้นั้น มีโอกาสจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้สูงกว่าที่คิด ทั้งในการยิงระยะประชิดและในการเล็งยิงจากระยะไกล
"การยิงกระสุนยางในระยะประชิด แม้จะเล็งเป้าหมายได้ดีกว่า แต่กระสุนก็จะมีพลังรุนแรงเท่ากับกระสุนจริง จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากเล็งยิงกระสุนยางในระยะที่ห่างออกไป ความแม่นยำจะลดลงอย่างมาก เพราะกระสุนยางนั้นทั้งกระเด้งกระดอนและควงสว่านในอากาศ จนทิศทางเบี่ยงเบนพลาดเป้าได้ง่ายกว่ากระสุนจริง บ่อยครั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตคือคนรอบข้างที่ถูกลูกหลง มากกว่าจะเป็นเป้าหมาย" แพทย์หญิงฮาร์กล่าว
ทั้งนี้ กระสุนยางหรือกระสุนพลาสติก รวมทั้งกระสุนบางชนิดที่เป็นโลหะบรรจุในถุงผ้า ถูกผลิตขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายใช้ยับยั้งบุคคลหรือฝูงชนที่อาจจะก่อเหตุสร้างความเสียหาย โดยไม่ให้บุคคลนั้นต้องเป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต โดยมีการออกแบบให้กระสุนประเภทนี้ลดความเร็วลงเรื่อย ๆ หลังถูกยิงออกมา จนแรงตกกระทบขณะถึงเป้าหมายไม่รุนแรงจนทำให้เสียชีวิตเหมือนกระสุนจริง และโดยทั่วไปแล้ว มักมีคำแนะนำแก่ผู้ใช้กระสุนยางหรือกระสุนพลาสติกให้เล็งยิงที่ขาของเป้าหมายเพื่อความปลอดภัย
รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปลี่ยนจากการใช้กระสุนยาง มาเป็นกระสุนพลาสติกเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 และหลังจากนั้นได้ทยอยเปลี่ยนเป็นกระสุนโพลียูรีเทนปลายกลวง (AEP) แต่ทางการระบุว่ากระสุน AEP ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ควบคุมฝูงชน แต่ใช้เพื่อยับยั้งบุคคลอันตรายเพียงคนเดียวมากกว่า