รู้หรือไม่!? ว่าโลกนี้ไม่มี โรคความดันโลหิตต่ำ
ก่อนจะไปพูดถึงสูงหรือต่ำ มาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ความดันโลหิต' กันก่อน ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้อธิบายไว้ว่า ความดันโลหิต หมายถึงแรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ สามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน (SPHYGMOMANOMETER) วัดที่แขน และมีค่าที่วัดได้ 2 ค่า คือค่าความดันซิสโตลิก (SYSTOLIC BLOOD PRESSURE) ซึ่งเป็นค่าตัวบน หมายถึงแรงดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งตัวเลขอาจจะสูงตามอายุ และอาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยตามการเคลื่อนไหวหรืออารมณ์ โดยค่าที่เหมาะสมทั่วไปจะอยู่ที่ไม่เกิน 120 มม.ปรอท ส่วนอีกตัวนึงคือค่าความดันไดแอสโตลิก (DIASTOLIC BLOOD PRESSURE) ตัวนี้จะเป็นค่าความดันตัวล่าง เป็นค่าที่แสดงถึงแรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัวนั่นเอง ซึ่งค่าที่เหมาะสมโดยทั่วไปจะอยู่ที่ ไม่เกิน 80 มม.ปรอท เพราะฉะนั้นความดันที่เรียกว่า ‘อยู่ในเกณฑ์ปกติ' จะอยู่ที่ช่วง 120-129/80-84 มม.ปรอท
ทำไม ‘ความดันโลหิตต่ำ' ไม่นับเป็นโรค
นอกจากที่ทาง สสส. จะบอกว่าความจริงแล้วไม่มีโรคความดันโลหิตต่ำ มีเพียงแต่ภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายขาดสารน้ำ ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ นพ.กระเษียร มหาพล แพทย์หัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เคยบอกไว้ว่า ‘โรคความดันต่ำนั้นไม่มี เป็นเพียงภาวะที่มีค่าความดันต่ำลงและเกิดขึ้นแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดจากเส้นเลือดขยายตัวหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมไม่พึงประสงค์ เพียงแค่นั่งพักซักระยะ ร่างกายก็จะปรับความดันให้อยู่ในระดับปกติได้'
ถึงส่วนมากแล้วความดันต่ำอาจจะดีขึ้นได้เอง แค่คุณหมอก็บอกว่าถ้ามีลักษณะอาการบางอย่างที่จำเพาะก็จำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์ เช่น มีเหตุทำให้ระดับน้ำในเลือดลดลง อย่าง การสูญเสียน้ำจากการอาเจียน การถ่ายท้อง มีภาวะเลือดออก หรือคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีและมีภาวะติดเชื้อ หรือคนที่มีโรคหัวใจอยู่เดิม มีอาการกระสับกระส่าย กระหายน้ำ สติเริ่มเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นลักษณะของภาวะช็อก ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
สาเหตุของความดันต่ำ เกิดจากอะไรได้บ้าง
ส่วนใหญ่แล้วภาวะของความดันต่ำนั้น เกิดจากภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะพวกโปรตีน วิตามินซี วิตามินบี ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรงและคลายตัวมากเกินไป หรืออาจเกิดได้จากการสูญเสียเลือด ทั้งแบบกระทันหัน อย่างการเกิดอุบัติเหตุ หรือแบบเรื้อรัง อย่าง การมีแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือไต อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันต่ำได้เหมือนกันก็คือการสูญเสียน้ำ เช่น เหงื่อ หรือท้องเสีย หรือแม้แต่การติดเชื้อรุนแรง โรคหัวใจ มีภาวะซีมเศร้า หรือการตั้งครรภ์
ทาง สสส. ได้แนะนำวิธีดูแลร่างกายตัวเองแบบง่ายๆ เมื่อมีภาวะความดันต่ำ
พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะยิ่งเราเหนื่อย นอนไม่พอ ก็จะยิ่งทำให้ความดันต่ำ พยายามหลีกเลี่ยงการนอนดึก และเวลานอนก็ไม่ควรหนุนหมอนที่ต่ำเกินไป
เปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ให้ช้าลง อย่าทำอะไรเร็วเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการยืนนานๆ
ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะช่วยให้ความดันต่ำดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ระบบประสาทเกิดความสมดุล หลอดเลือดหัวใจแข็งแรงขึ้นด้วย
ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะบางครั้งความดันต่ำก็มาจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอได้เหมือนกัน
ไม่ทานยาเอง ทุกครั้งที่ไม่สบายหรือมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ไม่ควรจ่ายยาเอง เพราะยาบางชนิดอาจทำให้ความดันที่ต่ำอยู่แล้วต่ำลงไปอีก ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อรักษาจะดีที่สุด และอย่าลืมแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าตัวเองเป็นคนที่มีภาวะความดันต่ำ