ภาวะลองโควิด อาการหลงเหลือเมื่อหายจากโรคโควิด 19
ภาวะ Long COVID คือภาวะที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ COVID 19 ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเกิดตั้งแต่เริ่มเป็น COVID 19 ต่อเนื่องเป็นระยะยาว หรืออาจจะเกิดขึ้นภายหลังที่หายจากอาการทั้งหมดแล้ว
อาการที่เกิดขึ้น เช่น รู้สึกไม่สบายเหมือนกับไม่หายจากการเจ็บป่วยสักที ที่พบบ่อยคือการหายใจไม่อิ่มและไม่สุด มีอาการเหนื่อย เพลีย มึนศีรษะ คิดอะไรไม่ออก หรือซึมเศร้าและมีภาวะเครียด บางรายอาจปวดเมื่อย ปวดข้อ ใจสั่น โดยมักจะเป็นอยู่ในช่วงราว 1-3 เดือน หลังจากหายจากการติดเชื้อ COVID 19
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภาวะ Long COVID เกิดจากอะไร และมีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยมากน้อยขนาดไหน แต่โดยทั่วไปที่พบในขณะนี้ ผู้ที่ป่วยในช่วงเป็น COVID 19 แม้อาการจะไม่รุนแรงก็สามารถพบภาวะ Long COVID ได้ หรือบางคนที่มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรง แต่ว่าไม่พบภาวะ Long COVID เลยก็มี
ภาวะ Long COVID ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านใดได้บ้าง
เมื่อเกิดการติดเชื้อ COVID 19 ไวรัสจะทำให้เกิดการอักเสบได้ทั่วร่างกาย ซึ่งอาจจะไปทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ประสาท เซลล์สมอง ถุงลมปอด ไต หรืออวัยวะอื่นๆ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือทำให้มีอาการของ Long COVID ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละคน ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการรุนแรงขณะติดเชื้อ อาจทำให้เชื้อไปทำลายอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายให้มีความผิดปกติมากกว่าผู้ที่มีอาการน้อย แต่ก็ไม่ใช่ทุกราย
ผลในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับปอด จากภาวะ Long COVID
ในช่วงที่เป็น COVID 19 หากไวรัสเข้าไปทำลายถุงลมปอด ซึ่งถุงลมปอดมีหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน ก็ส่งผลดังนี้
1.อาการติดเชื้อลงปอดไม่รุนแรงหรือเป็นไม่มาก : หากถุงลมปอดโดนทำลายไม่มาก โอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาปกติก็จะมีได้มาก
2.อาการติดเชื้อลงปอดรุนแรง : หากถุงลมปอดโดนทำลายไปมาก อาจทำให้ปอดไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ถุงลมปอดอาจจะกลายเป็นพังผืด การแลกเปลี่ยนออกซิเจนจึงลดลง
ภาวะ Long COVID ในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว
ภาวะ Long COVID อาจจะมีผลในระยะยาวได้ในคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคปอดติดเชื้อเรื้อรัง หรือว่ามีโรคปอดที่มีทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ก็จะทำให้โรคเป็นหนักขึ้น และโอกาสที่จะกลับมาเป็นปกติลดลง
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ปกติจะเกิดจากการขาดอินซูลินหรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน การติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้เซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินถูกทำลายได้ การติดเชื้อจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้อาการของโรคเบาหวานเกิดเร็วหรือรุนแรงขึ้น
สังเกตตัวเองเพื่อเช็กอาการ Long COVID
อาการภาวะ Long COVID บางคนอาจจะมีอาการ ไอ มีไข้ มีน้ำมูก ซึ่งผ่านไปเป็นสัปดาห์แม้จะรักษาโควิด 19 หายแล้วแต่ก็ยังมีอาการนั้นๆ อยู่ บางคนมีอาการเป็นสัปดาห์ หรือนาน 1-3 เดือนก็พบได้
ขณะเดียวกัน บางคนอาจจะเริ่มมีอาการ Long COVID หลังจากหายจากโรคไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ แต่หลังจากนั้นประมาณ 1-3 เดือน กลับเริ่มมีภาวะ Long COVID เกิดขึ้นอีก ซึ่งอาการของแต่ละคนจะเกิดได้หลายลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น
*รู้สึกหายใจไม่สุด หายใจไม่อิ่ม เหนื่อย เพลีย เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
*รู้สึกว่าคิดอะไรไม่ค่อยออก หัวตื้อๆ
*มีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะสั้น
*รู้สึกใจสั่น วิงเวียน
*มีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
*มีความผิดปกติของระบบประสาทการรับรู้การสัมผัส รู้สึกชาเหมือนมีอะไรมาทิ่มผิวหนังบริเวณมือ
*อาการผมร่วง เนื่องจากโดยปกติแล้วการติดเชื้อไวรัสจะเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เซลล์จึงถูกทำลาย หากเชื้อกระจายไปทำลายเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของรากผม ก็อาจทำให้ผมร่วงได้ง่ายขึ้น หรืออาจเกิดจากภาวะความเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็สามารถทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน
ติดเชื้อโควิด 19 ซ้ำ มีโอกาสเป็นภาวะ Long COVID ซ้ำได้
ปกติแล้ว หากมีติดเชื้อมารอบแรกจบไป ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก รวมถึงยังมีโอกาสเกิดภาวะ Long COVID ซ้ำได้ด้วย แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีอาการมากหรือน้อยแตกต่างจากรอบแรกอย่างไร
การฟื้นฟูร่างกายเมื่อมีภาวะ Long COVID
โดยรวมแล้ว ภาวะ Long COVID ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และอื่นๆ เช่น
1.การปรึกษาจิตแพทย์ : เมื่อมีปัญหาทางด้านจิตใจ อารมณ์ มีความเครียด หรือซึมเศร้า
2.การทำกายภาพบำบัดปอด : เมื่อมีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจไม่สุด หายใจไม่อิ่ม จะต้องฝึกการหายใจใหม่
3.การทำกายภาพบำบัดร่างกาย : คนที่รู้สึกเหนื่อย เพลีย กล้ามเนื้อไม่มีแรง และปวดเมื่อย จะเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน การวิ่งเยาะๆ เพื่อลดอาการภาวะ Long COVID และฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงขึ้น
และอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า อาการ Long COVID ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง ทั้งนี้หากมีความสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น