เปิดข้อมูลจริงจาก ศัลยแพทย์ เรื่องกรุ๊ปเลือดที่เป็นแผลเป็นง่าย


เปิดข้อมูลจริงจาก ศัลยแพทย์ เรื่องกรุ๊ปเลือดที่เป็นแผลเป็นง่าย

กรณีสังคมออนไลน์แชร์ภาพหญิงสาวท่านหนึ่งสักคิ้วแล้วเกิดคีลอยด์-แผลเป็นนูน จนเป็นที่ฮือฮา ส่งผลให้หลายคนวิตกกังวลและหาสาเหตุว่าทำไมแค่สักคิ้วจึงเกิดเป็นแผลคีลอยด์ได้ สิ่งที่น่าตกใจคือมีการส่งต่อข้อมูลเรื่อง "กรุ๊ปเลือดที่เป็นแผลเป็นง่าย" นั่นคือ กรุ๊ปเลือดเอ และกรุ๊ปเลือดเอก็มีโอกาสจะเป็นแผลเป็นมากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นๆ

สาเหตุเพราะคนเลือดกรุ๊ปเอ มีสารแอนติเจนเอ มากกว่าคนอื่น และสารแอนติเจนเอนี้ส่งผลให้เกิดแผลเป็นได้ง่าย ทำให้ชาวเน็ตแตกตื่น และมีความกังวลเป็นอย่างมาก

ในเรื่องนี้ นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงามโรงพยาบาลบางมด เผยว่า จากการวิจัยทางการแพทย์ มีการตั้งสมมติฐานว่ากรุ๊ปเลือดเอ และ เอบี มีสารแอนติเจนเอ ที่มี enzyme ที่สร้างสารที่เรียกว่า GAGs หรือ Glycosaminoglycans (ไกลโคสะมิโนไกลแคน) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับสารที่มีอยู่ในคีลอยด์ แต่งานวิจัยนั้นเป็นเพียงงานวิจัยเดียวเท่านั้น




ในทางกลับกันงานวิจัยที่ได้รับการรับรองอีกหลายตัว มีผลทางสถิติอย่างมีนัยยะสำคัญว่าเลือดกรุ๊ปเอ หรือ เอบี ไม่มีผลต่อการเกิดแผลคีลอยด์ 

โดยการศึกษาหรือหาข้อสรุปทางด้านการวิจัยต้องดูเปรียบเทียบกันอีกหลาย 10 งานวิจัย และมีผลการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1,000 คน ขึ้นไปถึงจะเป็นงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในขณะนี้ยังคงสรุปไม่ได้ว่าคนเลือดกรุ๊ปเอเป็นกลุ่มคนที่เกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้ง่ายว่าคนเลือดกรุ๊ปอื่น


นพ.ธนัญชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมให้เกิดแผลคีลอยด์ตามข้อมูลงานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้นั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ปัจจัย

1. ด้านเชื้อชาติ เช่น คนแอฟริกา หรือ คนผิวดำ จะมีโอกาสเกิดคีลอยด์ได้มากกว่าคนผิวขาว
2. ด้านพันธุกรรม สังเกตว่าถ้าบิดามารดาเป็นคีลอยด์ได้ง่ายเมื่อเรามีแผลเกิดขึ้นโอกาสที่จะเกิดคีลอยด์ก็จะสูงกว่าคนทั่วไป
3.บริเวณที่เกิดแผลคีลอยด์ได้ง่าย เช่น ใบหูหน้าอก และไหล่ ยกตัวอย่างเช่น แผลผ่าตัดบริเวณหน้าอก หรือใบหู มีโอกาสเกิดเกิดคีลอยด์มากกว่า บริเวณหน้าท้อง เป็นต้น
4. ระดับการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ แผลที่มีการบาดเจ็บมาก แผลที่หายช้า หรือ แผลที่มีการอักเสบติดเชื้อ ในระยะยาวมีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์ได้มากกว่า



นอกจากนี้ นพ.ธนัญชัย ยังเผยอีกว่าการรักษาปัจจุบันยังไม่มีวิธีไหนที่ทำการรักษาคีลอยด์ให้หายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นการทำการรักษา แบบ Multimodality หรือที่เรียกว่าการรักษาแบบผสมผสาน โดย

1. First line treatment การรักษาอันดับแรก คือการใช้ยาฉีด (Steroid), การใช้แผ่นลดรอยแผลเป็น (Silicone Sheet) หรือการใช้ยาทาแผลเป็น

2. Second line treatment หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฉายแสง การใช้เลเซอร์ หรือ การตัดก้อนคีลอยด์ออก ร่วมกับการฉีดยา

นพ.ธนัญชัย ฝากทิ้งท้ายว่าการเลือกเสริมความงามนั้น ควรเลือกสถานที่ที่ได้มาตรฐานรวมไปถึงตรวจสอบความปลอดภัยจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ เพื่อความสวยที่ปลอดภัยในระยะยาว



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์