นอนหลับมากเกินไป เสี่ยง! เป็นโรคนี้?


นอนหลับมากเกินไป เสี่ยง! เป็นโรคนี้?

การนอนหลับ คือ การพักผ่อนที่ดีต่อสุขภาพและร่างกาย แต่การ นอนหลับมากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้ร่างกายดูเฉื่อยชา ไม่สดชื่น ไร้ชีวิตชีวา ในบางครั้งอาจรับประทานอาหารน้อยแต่ทำให้น้ำหนักเพิ่มได้ง่าย และการนอนที่มากเกินไปอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิตอย่าง โรคซึมเศร้า ได้เช่นกัน


วงจรของการนอนหลับ

-หลับตื้น เป็นระยะแรกของการนอนหลับยังไม่มีการฝัน
-หลับลึก ร่างกายเข้าสู่โหมดพักผ่อนเป็นช่วงหลับสนิทที่สุดของการนอนใช้เวลา 30 - 60 นาที
-หลับฝัน ช่วงหลับฝันร่างกายจะได้พักผ่อนแต่สมองจะยังตื่นตัวอยู่ นอกจากนี้การหลับฝันยังช่วยจัดระบบความจำในเรื่องของทักษะต่าง ๆ


อาการที่บอกว่า นอนหลับมากเกินไป

การนอนมากเกินไป (hypersomnia) เป็นสิ่งที่ผิดปกติ เกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ภาวะนี้จะมีลักษณะที่ต้องการนอนเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน อาจรู้สึกง่วงเพลีย แม้เราจะหลับมาอย่างมากเพียงพอแล้ว เมื่อตื่นขึ้นมาอาจงัวเงีย ไม่สดชื่น 

บางครั้งอาจจะรู้สึกสมาธิหรือความจำแย่ลง รู้สึกเพลียทั้งวันไม่ค่อยมีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ บางคนอาจหงุดหงิดง่ายทำให้มีปัญหาทะเลาะกับบุคคลอื่น ๆ เป็นประจำ และระหว่างวันมีความต้องการที่จะนอนหลับหลาย ๆ ครั้ง บางรายอาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ขับรถ ใช้เครื่องจักรที่อาจเกิดอันตราย ขณะคุยกัน หรือระหว่างรับประทานอาหาร


สาเหตุที่ทำให้นอนมากเกินไป

-อดนอนเป็นเวลานานและบ่อยครั้งจนร่างกายพักผ่อนไม่พอ
-ร่างกายแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น การเดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากัน
-ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองไม่ปกติ
-นอนกรน มีภาวะการหยุดหายใจในช่วงนอนหลับทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่พอ
-สมองได้รับบาดเจ็บหรือโรคเกี่ยวกับทางสมอง
-การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด
-สุขภาพจิต เช่น ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า อาจมีเรื่องการนอนไม่หลับหรือบางคนหลับมากเกินไปรู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่อยากทำอะไร อยากนอนตลอดทั้งวัน


ผลกระทบจากการ นอนหลับมากเกินไป

-สมองเฉื่อยชา สมองล้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา
-ประสิทธิภาพการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อ ลดลงหากไม่มีการเคลื่อนไหวนาน ๆ
-น้ำหนักเกิน เนื่องจากระบบการเผาผลาญไขมันลดลง มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง
-ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ของตนเอง อาจถูกตำหนิต่อว่าจากคนรอบข้าง เกิดความรู้สึกขาดคุณค่า และเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้


การนอนและภาวะซึมเศร้าสัมพันธ์กันอย่างไร

-รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า หรือหงุดหงิดง่าย
-รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า หรือรู้สึกผิด
-รู้สึกอ่อนเพลียและเชื่องช้า
-วิตกกังวลและกระวนกระวาย
-ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ
-หมดแรง
-มีปัญหาเกี่ยวกับการทำสมาธิ การคิด หรือการตัดสินใจ
-ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไปทำให้น้ำหนักร่างกายเปลี่ยนแปลง
-ความอยากนอนเพิ่มขึ้นหรือลดลง
-คิดเกี่ยวกับการตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ วางแผนหรือพยายามทำร้ายตัวเอง


วิธีแก้ไขอาการนอนมากเกินไป

-เข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพราะปกติร่างกายจะนอนหลับเป็นรอบ ถ้าเริ่มตั้งแต่เคลิ้ม ๆ สะลึมสะลือจนถึงขั้นหลับลึก จะกินเวลารอบละ 90 นาที คืนละ 5-6 รอบ ยิ่งนอนหัวค่ำก็จะทำให้มีโอกาสนอนได้หลับลึกมากขึ้น
-กำหนดตารางเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวันเป็นประจำสม่ำเสมอ
-จัดห้องนอนให้โปร่งโล่ง อากาศระบายได้ดี ร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมองเซื่องซึม และง่วงนอนตลอดเวลา
-ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงก่อนเวลาเข้านอน
-นั่งสมาธิหรือกิจกรรมเบา ๆ เพื่อผ่อนคลายก่อนเข้านอน
-รับประทานอาหารเป็นเวลาสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการกินจนแน่นก่อนเวลาเข้านอน
-หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน สูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนช่วงเวลาเช้านอน


เครดิตแหล่งข้อมูล : rama.mahidol


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์