สงบด้วยลมหายใจ(พระไพศาล วิสาโล)
ลมหายใจไม่เพียงช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น
หากยังสามารถพาเราเข้าถึงความสงบได้ด้วย
ทุกครั้งที่เราหายใจเข้า มิใช่ออกซิเจนเท่านั้นที่ถูกลำเลียงไปเลี้ยงร่างกาย
หากเราวางใจเป็น ลมหายใจเข้ายังนำความสงบเย็นไปบำรุงจิตใจเราด้วย
ขณะเดียวกันลมหายใจออกสามารถระบายความหม่นหมอง
ขึ้งเครียดออกไปจากใจของเรา ได้อีกต่างหาก
แต่ความจริงดังกล่าวมักถูกมองข้ามไป
คนส่วนใหญ่จึงหายใจแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ อย่างน่าเสียดาย
ความสงบสามารถบังเกิดกับเราได้ไม่ยาก
เพียงแต่น้อมจิตมาอยู่กับลมหายใจทั้งเข้าและออกอย่างต่อเนื่อง
จะปิดตาด้วยก็ได้ พร้อมกับผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า
ท่าที่ดีคือท่านั่งขัดสมาธิ แต่หากร่างกายไม่อำนวย
ก็ขอให้นั่งในท่าที่สะดวกที่สุด หรือนั่งเก้าอี้
โดยไม่เอนกายพิงกับพนักหรือเสา หาไม่จะง่วงหลับได้ง่าย
ทำใจให้สบาย ยิ้มน้อย ๆ ขณะเดียวกันก็วางความคิดต่าง ๆ เอาไว้ชั่วคราว
ไม่ว่าเรื่องที่ผ่านไปแล้ว หรือที่ยังมาไม่ถึง อย่าเพิ่งเอามาเป็นกังวล
ขอให้ถือว่า ลมหายใจเข้าและออกเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับเราในขณะนี้
แต่ก็อย่าเผลอไปบังคับลมหายใจ ให้หายใจอย่างสบาย ๆ เป็นธรรมชาติ
อย่าไปคาดหวังอะไรกับลมหายใจทั้งสิ้น
มีหลายวิธีในการน้อมจิตมาอยู่กับลมหายใจ
เช่น ตามลมหายใจเข้าตั้งแต่ปลายจมูกไปจนสุดที่อกหรือช่องท้อง
แล้วตามลมหายใจออกจนไปสุดที่ปลายจมูก
โดยมีการนับทุกครั้งที่หายใจออก ตั้งแต่ ๑ ไปถึง ๑๐ แล้วเริ่มต้นใหม่
หากเผลอไป จำไม่ได้ว่านับถึงไหน ก็เริ่มต้นนับ ๑ ใหม่
แต่บางคนก็นิยมใช้คำบริกรรมควบคู่ไปด้วย
เช่น หายใจเข้าก็นึกถึง “พุท” หายใจออกก็นึกถึง “โธ”
อีกวิธีหนึ่งก็คือ เพียงแต่รับรู้ถึงลมสัมผัสที่ปลายจมูกทั้งเข้าและออก
โดยไม่มีการนับหรือบริกรรมใด ๆ
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญอยู่ที่การวางใจให้เป็น
กล่าวคือ ไม่บังคับจิตจนเกินไป ควรมีความนุ่มนวลอ่อนโยนกับจิต
ไม่พยายามกดหรือห้ามความคิด
เมื่อเผลอคิดไป ไม่ว่าไปไกลแค่ไหน
ทันทีที่รู้ตัว ก็ให้พาจิตกลับมาที่ลมหายใจ
โดยไม่ต้องไปสนใจกับความคิดดังกล่าว รวมทั้งไม่ไปพยายามหยุดมันด้วย
ทันทีที่จิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ ความคิดเหล่านั้นก็จะสลายไปเอง
ใหม่ ๆ อาจมีความคิดฟุ้งซ่านมากมาย ก็ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
อย่าไปหงุดหงิดกับใจของตัว แต่ถ้าหงุดหงิดก็ให้รู้
ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับใจก็รู้อยู่เสมอ ไม่ว่าบวกหรือลบ
ผ่อนคลายหรือตึงเครียด
ข้อสำคัญคืออย่าให้ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ดึงจิตออกไปจากลมหายใจ
หากใจอยู่เคียงคู่กับลมหายใจกันอย่างต่อเนื่อง ย่อมเกิดความสงบในที่สุด
หากคุ้นเคยกับลมหายใจจนเป็นนิสัย ลมหายใจจะเป็นที่พักพิงอย่างดีของจิต
ในยามที่ถูกพายุอารมณ์เล่นงาน
เช่น ขณะที่กำลังโกรธ หงุดหงิด เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ เศร้าโศก
ให้กลับมาที่ลมหายใจทันที
ช่วงแรกอาจหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สัก ๕-๑๐ ครั้ง
เมื่อตั้งหลักได้ ก็เพียงแต่รับรู้เบา ๆ ถึงการเคลื่อนหรือสัมผัสของลมหายใจ
จะทำนานเท่าใดก็ได้สุดแท้แต่ใจต้องการ
ไม่ว่าอยู่บ้านหรือในที่ทำงาน หากมีเวลาว่าง
แทนที่จะปล่อยใจลอย หรือหายใจรดทิ้งไปเปล่า ๆ
ไม่ดีกว่าหรือหากจะหันมาใส่ใจกับลมหายใจของเราดูบ้าง
ยิ่งถ้ากำลังนั่งรถ หรือคอยใครอยู่
แทนที่จะปล่อยเวลาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
การฝึกใจให้รู้ตัวกับลมหายใจ คือการใช้เวลาว่างที่คุ้มค่าที่สุด
แต่ถ้าวุ่นจนลืมทำ ก่อนนอนและตอนตื่นนอนก็ควรหาเวลาทำ ๕-๑๐ นาทีก็ยังดี