เหตุแผ่นดินไหว ยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่วิทยาการในปัจจุบันพยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ
แต่ก็ยังโชคดีที่ในกรณีการเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลแล้วก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" นั้น
นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณเวลาที่คลื่นยักษ์จะซัดเข้ามายังชายฝั่งได้หลายสิบนาทีเลยทีเดียว
ฉะนั้นหากมีการจัดการ การวางแผนที่ดี ความสูญเสียจากความรุนแรงของคลื่นก็ย่อมลดน้อยลง
เมื่อช่วงกลางปี "เจอเร ลิปส์" ศาสตราจารย์ชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ พร้อมกับเพื่อนนักวิจัยอีกหลายคนจากมหาวิทยาลัยฮาลิแฟกซ์และศูนย์สำรวจธรณีวิทยาอะลาสกา เคยเสนอทฤษฎีพยากรณ์การเกิดสึนามิเอาไว้ในวารสารสมาคมธรณีวิทยาสหรัฐ แต่ก็ออกตัวไว้ด้วยว่ายังเป็นสมมติฐาน และต้องรอให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ พิสูจน์ความถูกต้องด้วย
ทฤษฎีทำนายสึนามิ จากระดับชายฝั่งทรุดตัว
พื้นที่ทรุดตัว 1ฟุตก่อนเกิดเหตุ
ศ.ลิปส์ ศึกษาข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหว 9.2 ริกเตอร์นอกชายฝั่งอะลาสกา ซึ่งทำให้เกิดสึนามิซัดถล่มชุมชนตามแนวชายฝั่งแถบ "Anchorage" จนราบเป็นหน้ากลองเมื่อปี 1964 (พ.ศ.2507) และพบว่า
ในช่วงระยะเวลา 5-15 ปี ก่อนหน้าจะเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวนั้น พื้นที่ตามแนวชายฝั่งของ Anchorage จะค่อยๆ "ทรุดตัว" ลงไปต่ำกว่าเดิมประมาณ 1 ฟุต ซึ่งเป็นอัตราการทรุดตัวของแผ่นดินที่เล็กน้อยมากจนคนในพื้นที่ไม่มีทางสังเกตความเปลี่ยนแปลง
แต่ผลการขุดเจาะเก็บตัวอย่าง "จุลชีพ" ตามแนวชายฝั่งจะพบว่า การทรุดตัวทำให้ "จุลชีพน้ำจืด" สูญหายไปจากแนวชายฝั่ง
เชื่อว่า สาเหตุของการทรุดตัวเกิดจากความผิดปกติใน "เขตมุดตัวของเปลือกโลก" ภายหลังจาก "แผ่นทวีป" ทรุดตัวต่ำลงเนื่องจากถูก "แผ่นมหาสมุทร" (แผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทร) ดันและดึง
ลักษณะการทรุดตัวที่ว่านี้เอง คือ สัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าว่าในอนาคตพื้นที่ใต้ทะเลหรือมหาสมุทรนอกชายฝั่งดังกล่าวจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านับตั้งแต่จุดที่ชายฝั่งเริ่มทรุดตัวถึงระดับ 1 ฟุต
ลิปส์แนะนำว่า ทางการของประเทศที่ตั้งอยู่ใน "เขตมุดตัวของเปลือกโลก" ควรติดตั้งเครื่องวัดระดับความลาดเอียงของพื้นที่ตามแนวชายฝั่งเพื่อดูว่าแผ่นดินทรุดตัวหรือไม่ ซึ่งถ้าทรุดจริงก็อาจใช้เป็นหนึ่งในสัญญาณเตรียมความพร้อมรับมือภัยสึนามิในอนาคตได้...
แต่ถึงสึนามิจะไม่เกิดก็ไม่เป็นไร เพราะดีกว่าวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก!