เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า การค้นพบดังกล่าวน่าตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยจักรวาลพร้อมกันถึง 7 ดวง ที่สำคัญมีลักษณะคล้ายโลกมากคือเป็นหินแข็งรวมทั้งมีน้ำอยู่เป็นของเหลวได้และเป็นน้ำที่ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ขณะที่การค้นพบที่ผ่านมาแม้จะมีการค้นพบดาวเคราะห์ลักษณะคล้ายโลกเราถึง 3 พันกว่าดวง แต่ส่วนมากจัดเป็นพวกดาวยักษ์แก๊ส ไม่ใช่ดาวเคราะห์หินแข็งคล้ายโลก ที่มีเพียง 3 ร้อยกว่าดวง การค้นพบดังกล่าวทำให้เป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ซึ่งต้องดูการเคลื่อนไหวของโมเลกุลในดาวเคราะห์ที่ค้นพบทั้ง 7 ดวง
นายศรัณย์ กล่าวต่อว่า การจะเดินทางไปพิสูจน์ ยังดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง คงลำบากเพราะอยู่ห่างจากโลกถึง 40 ปีแสงหรือ 235 ล้านล้านไมล์ 1 ปีแสงเท่ากับระยะทางที่แสงจะเดินทางในเวลา 1 ปีประมาณ 3 แสนเมตรต่อวินาที ลองคูณเอาว่าจะต้องใช้เวลาเดินทางกี่ปี เมื่อเทียบกับระยะทางจากดวงอาทิตย์กับโลก แสงใช้เวลาเดินทาง 8.3 นาที และระยะทางจากดวงอาทิตย์ไปดาวพลูโต แสงใช้เวลาเดินทาง 5.5 ชั่วโมงเท่านั้น การเดินทางไปดาวอังคาร ที่อยู่ในระบบสุริยจักรวาลยังง่ายกว่า เพราะขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าว่าภายใน 15 ปีจะต้องเดินทางไปดาวอังคารเพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่อาศัยได้หรือไม่
Cr::matichon.co.th