เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์วิทยาชาวเยอรมัน ได้ค้นพบว่าการโค้งงอของแสงเป็นกุญแจสำคัญในการทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพ และได้รับการพิสูจน์ในปี พ.ศ.2462 โดยนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้ทดสอบวัดความโค้งของแสงดาวรอบๆดวงอาทิตย์ในช่วงที่เกิดสุริยุปราคา ทฤษฎีดังกล่าวของไอน์สไตน์จึงกลายเป็นรากฐานของฟิสิกส์สมัยใหม่และจักรวาลวิทยาในเรื่องมุมมองของพื้นที่และเวลาที่มีอิทธิพลต่อแรงโน้มถ่วง
เมื่อเร็วๆนี้นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศนอกโลก สร้างแผนผังระยะเวลาสั้นๆของความผันแปรในเส้นทางของแสงจากดวงดาวอีกดวงที่อยู่ฉากหลังไกลจากโลก โดยใช้พื้นฐานจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์มาเป็นตัวช่วยวัดค่าแรงโน้มถ่วงและมวลของดาวแคระขาวชื่อ Stein 2051B ซึ่งเป็นดาวฤกษ์อยู่ห่างจากโลก 17 ปีแสง เปรียบเหมือนกับการวัดการเคลื่อน- ไหวของหิ่งห้อยตัวเล็กๆที่หน้าหลอดไฟจากระยะไกลเกือบ 2,500 กิโลเมตร
จากการประเมินดวงดาว Stein 2051B พบว่ามีมวลเป็น 2 ใน 3 ของดวงอาทิตย์ในระบบสุริยจักรวาล นักดาราศาสตร์เผยว่ามวลของดวงดาวเป็นข้อมูลสำคัญที่สุด ถ้าหากรู้ถึงมวล ก็จะรู้ว่ารัศมีของดวงดาวเป็นอย่างไร จะมีความสว่างนานแค่ไหน และดาวจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร รวมถึงอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากที่ดาวดับสูญ ทุกอย่างนี้ล้วนขึ้นอยู่กับมวลของดวงดาว.