ถ้วยรองประจำเดือน “มิติใหม่แห่งการมีประจำเดือน”
"ใช้มาจะครบปีแล้ว ลองใช้เพราะอยากลดขยะ"
วรนุช สุขแสง หรือนุช สาวมั่นวัย 30 ปี พนักงานบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เกมในเชียงใหม่ เปิดใจเล่าถึงการใช้ "ถ้วยรองประจำเดือน" ของแปลกใหม่ สำหรับคนไทย ที่เธอเห็นว่าเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเปลี่ยนกิจวัตรรายเดือนของสตรีเพศ ให้เป็นการสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
สาวผู้รักการถ่ายรูป ฟังดนตรีสด สังสรรค์กับเพื่อนรู้ใจ และมิตรสหายใหม่เริ่มรู้จักถ้วยรองประจำเดือน เมื่อราว 4 ปีก่อน จากคนรู้จักซึ่งทำงานอยู่ในมองโกเลีย ประเทศที่เพื่อนเล่าว่า "หาผ้าอนามัยได้ยาก"
แม้สนใจแต่ยังขาดความกล้า เธอจึงศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต อ่านความเห็นของผู้หญิงที่เคยใช้ใน ต่างประเทศ จนเมื่อ 1 ปีก่อน วรนุช ตัดสินใจกดคำสั่งทางออนไลน์ ซื้อถ้วยรองประจำเดือนชิ้นแรกในชีวิต และเป็นถ้วยเดียวที่ยังใช้มาถึงทุกวันนี้
ความรู้สึกแรกคือตื่นเต้นมากที่ได้สัมผัส และจะได้ใช้สิ่งที่เคยแต่จด ๆ จ้อง ๆ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน
"ต้องพับปลายให้มันเรียว ใช้นิ้วกดลงด้านหนึ่ง พับซ้ายขวาเข้าหากัน แล้วสอดเข้าไปเลยค่ะ" วรนุช เล่าวิธีการใช้งานอย่างคล่องแคล่ว
"แล้วก็มีเทคนิคนะ ต้องลองนั่งยอง ๆ ดู เพราะช่วยให้สรีระเปิดกว้างได้ดีกว่าท่าอื่น หรือใช้เจลหล่อลื่น หรือน้ำมันมะพร้าว"
ถ้วยรองประจำเดือน (Menstrual Cup) ทำจากซิลิโคนหรือยางชนิดนิ่ม ลักษณะทรงกรวย ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอด ระหว่างการมีประจำเดือนเพื่อรองรับเลือด
วรนุชซื้อถ้วยรองประจำเดือนในราคาประมาณ 1,000 บาท ซึ่งสูงกว่าผ้าอนามัย ที่ขายตามท้องตลาดในราคา 40-75 บาทต่อห่อ (ประมาณ 10 แผ่น) แต่ถ้วยรองประจำเดือนสามารถล้างนำมาใช้ใหม่ได้ และมีอายุการใช้งานนานเป็นสิบปี ทำให้เธอประหยัดเงินได้มากกว่าในระยะยาว
วรนุช ลองคำนวณเงินที่ประหยัดได้เมื่อเปลี่ยนมาใช้ถ้วยรองประจำเดือน และพบว่า เธอจะประหยัดเงินได้ราว 1,200 บาทต่อปี และ 35,000 บาทจนถึงวัยหมดประจำเดือน
"ชีวิตดีค่ะ" สาวนักทำเกมระบุ "ผ้าอนามัยมีความเฉอะแฉะ อับชื้น แต่ด้วยวิธีนี้ ผิวหนังเราไม่สัมผัสเลือดเลย มันแนบผนังด้านใน รองเลือดทั้งหมด ความไม่สบายตัวไม่มีเลย"
เมื่อถามว่าเธอมักใส่ถ้วยรองประจำเดือนในช่วงเวลาใดของวัน วรนุชตอบว่า "เปลี่ยนแค่เช้ากับก่อนนอน ตอนอาบน้ำนั่นแหละ"
"อารมณ์ว่าไหน ๆ แก้ผ้าแล้วก็ทำให้เสร็จสรรพไป"
มิติใหม่แห่งการมีประจำเดือน?
กว่าจะตัดสินใจซื้อถ้วยรองประจำเดือนมาใช้ วรนุชใช้เวลาศึกษาข้อมูลนานพอสมควร รวมทั้งยังสอบถามจากผู้จัดจำหน่ายสินค้าเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถึงที่มาของผลิตภัณฑ์
"ต้องดูเกรดดี ๆ เพราะเพื่อนเล่าให้ฟังว่า สินค้าออนไลน์จากจีนมีราคาตั้งแต่ 30 บาท ถึง 1,000 บาท"
แต่เธอไม่คิดว่าถ้วยรองประจำเดือนราคาถูกเพียงไม่กี่สิบบาทจะปลอดภัยและใช้ในระยะยาวได้
สุภัชญา เตชะชูเชิด (แอน) ผู้ร่วมก่อตั้งร้านรีฟิลสเตชัน (Refill Station) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จำหน่าย ถ้วยรองประจำเดือน ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยผ่านทางโทรศัพท์ถึงจุดเริ่มต้นที่นำเข้ามาจำหน่ายเมื่อกว่า 1 ปีก่อนว่าเป็นเพราะ "ตั้งใจจะใช้เองอยู่แล้ว...จึงเลือกสิ่งที่ดีที่สุด"
ถ้วยรองประจำเดือน หรือถ้วยอนามัย ที่เธอใช้และขาย ผลิตจากซิลิโคนทางการแพทย์ ได้ใบรับรองว่า "ไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้" แต่ต้องนำเข้ามาจากเดนมาร์ก เพราะไม่มีผลิตในไทย
ในช่วงแรกเธอรวมกลุ่มกับลูกค้าที่สนใจราว 30 คน ร่วมกันนำเข้าเพื่อให้ได้ราคาถูกลง แต่เมื่อผลตอบรับดี และตอบโจทย์ของร้านที่ต้องการ "ลดขยะ" จึงนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
เจ้าของร้านรีฟิลสเตชัน อ้างอิงคำนิยามของบริษัทผู้ผลิตถ้วยรองประจำเดือนที่เธอนำเข้ามาจำหน่ายว่า นี่คือ มิติใหม่แห่งการมีประจำเดือน (New Period)
"เราไม่เคยรู้เลยว่า การมีประจำเดือนจะสบายขนาดนี้" เพราะสำหรับตัวเธอเอง เมื่อใส่ถ้วยรองประจำเดือนแล้วแทบไม่รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกายเลย
สุภัชญา เตชะชูเชิด (ซ้าย) และอีก 2 ผู้ร่วมก่อตั้งร้านรีฟิลสเตชัน (Refill Station)
"ว่ายน้ำ ตีลังกา เล่นโยคะ ทำได้หมด ข้อเสียคือ อย่าลืมเอาออก" สุภัชญา พูดเหมือนเป็นสโลแกน
ไม่รู้จะใส่ยังไง ใส่เข้าไหม เจ็บหรือเปล่า จะซึมออกมาไหม เป็นคำถามที่ วรนุชและสุภัชญา ถามตัวเองก่อนใช้ครั้งแรก รวมถึงให้ความกระจ่างกับผู้อื่นในฐานะ "ผู้มีประสบการณ์"
สุภัชญา ผู้จำหน่ายยอมรับว่า ถ้วยรองประจำเดือนมีหลายขนาด และรูปทรงต่างกัน ผู้สนใจจะใช้ต้องสำรวจตัวเองก่อนแต่สำหรับผู้ใช้งานมาแล้ว 1 ปี อย่างวรนุช คิดว่า ผลพลอยได้มากกว่าการลดขยะ และ "ความโล่งสบาย" คือ การได้รู้จักร่างกายของตัวเองมากขึ้น ได้เห็นว่าเลือดที่ร่างกายขับออกมานั้นมีลักษณะอย่างไร
"ต้องควานหาว่าอยู่ไหน ลุ้นว่าจะเอาออกมาได้ไหม" วรนุช สุขแสง
"โดยเฉพาะตอนที่หาก้านไม่เจอ (ก้านยื่นเพื่อใช้ดึงถ้วยออกมา) ต้องควานหาว่าอยู่ไหน ลุ้นว่าจะเอาออกมาได้ไหม...ได้สำรวจเส้นทาง (ภายในร่ายกาย) ที่ปกติเราไม่ไป เหมือนผจญภัยในร่างกายตัวเองนี่แหละ"
บทความเรื่องการใช้ถ้วยรองประจำเดือนของคนในทวีปแอฟริกาที่บีบีซีไทยเผยแพร่ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 มีผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 1,100 คอมเมนต์ โดยมีหญิงไทยหลายคนพูดถึงประสบการณ์ใช้งานถ้วยรองประจำเดือนที่ดี แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่สามารถใช้ได้ ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น "ดึงออกไม่ได้" "ไม่กล้าใส่" หรือ "ตอนถอดทรมานมาก"
วรนุช ได้อ่านข้อความของผู้หญิงที่มีปัญหาการใช้งานถ้วยรองประจำเดือนอย่างเห็นใจ และแนะว่า ไม่ควรเกิดความรู้สึกไม่ดี เพราะเธอเชื่อว่าร่างกายทุกคนอาจไม่เข้ากับสิ่งนี้
"ไม่ต้องฝืนธรรมชาติ ถ้าอยากลดขยะ ก็มีตัวเลือกเป็นผ้าอนามัยแบบซักได้" เธอเสริมว่า ตัวเองก็เจอปัญหา อาทิ ถอดยาก และการซึม โดยเฉพาะในวันที่ประจำเดือนมามาก ที่เธอใช้คำติดตลกว่า "วันแดงเดือด""อย่าเพิ่งถอดใจ ถ้ามันไม่ได้สวยงามนะคะ"
"การเห็นเลือดประจำเดือนเอย การสัมผัสร่างกายส่วนนั้นของตนเองเพื่อสอดถ้วยเข้าไป หรือดึงออกมาเอย เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องสกปรก หรือน่าอาย น่ารังเกียจนะคะ" วรนุช แสดงความเห็นและมุมมองของผู้ใช้นาน 1 ปี"
มันเป็นอีกวิธีในการจัดการกับประจำเดือน หลุดจากความเคยชินที่มี ต้องให้เวลาตัวเองปรับตัว อย่าเพิ่งถอดใจ ถ้ามันไม่ได้สวยงามนะคะ" กล่าวพร้อมหัวเราะอย่างเริงร่า
เครดิตแหล่งข้อมูล : bbc.com/thai