ชมดาวหางนีโอไวส์ เข้าใกล้โลก พร้อมจุดเห็นได้ด้วยตาเปล่า
วันนี้เราจัดมาให้ชมกันอย่างจุใจครับ แม้เมฆจะมาก ฝนจะเยอะ แต่เราก็เสาะแสวงหา สอยดาวหางนีโอไวส์ มาฝากคนไทยทุกคนครับ
22.07.2020 เย็นๆ ตามเวลานัดหมายของดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ที่จะปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เราแบ่งทีมออกเป็น 3 ทีม ออกตามล่าดาวหางหลายๆ มุมของเชียงใหม่ เลือกทำเลที่เหมาะๆ และแน่นอนครับว่าต้องเป็นที่สูงสักนิด สามารถเห็นท้องฟ้าเป็นมุมกว้างทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อเลือกทำเลกันได้แล้ว ก็ขนอุปกรณ์แยกย้ายออกไปปฏิบัติภารกิจกันครับ
ในเย็นวันนี้ (23 กรกฎาคม 2563) ยังเป็นอีกหนึ่งวันที่เรามีโอกาสเก็บภาพดาวหางดวงนี้ก่อนที่ความสว่างจะะเริ่มลดลงและแสงดวงจันทร์จะเริ่มสว่างรบกวน ใครที่ยังไม่มีโอกาสเก็บภาพเรียนเชิญครับ
เทคนิคและวิธีตามล่าดาวหางดวงนี้ ทั้งการหาตำแหน่ง และเทคนิคการถ่ายภาพดาวหางเบื้องต้น โดย อ.แจ็ค ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ตามไปอ่านกันได้เลยที่ http://www.narit.or.th/.../astro-ph.../1200-neowise-photo-artcle ข้อมูลเกี่ยวกับดาวหางนีโอไวส์
ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว จากข้อมูลล่าสุดพบว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร
#ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ ประมาณวันที่ 18-22 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5 แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์
ส่วนวันที่ 23 กรกฎาคม เป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด สามารถสังเกตได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตก ถึงประมาณสามทุ่ม หากฟ้าใส ไร้เมฆ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า คืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้