เปิดข้อเท็จจริง โควิดสายพันธุ์ใหม่ จากประเทศอังกฤษ
ไม่ใช่ เพราะไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 2 (SARS-CoV-2) พันธุ์ใหม่ที่เพิ่งพบที่อังกฤษนั้นเป็นเพียงไวรัสที่เกิดจากการกลายพันธุ์ มีชื่อสายพันธุ์ว่า บี.1.1.7 (VUI-202012/01) โดยการกลายพันธุ์นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นในไวรัสอยู่แล้วตลอดเวลา
ซาร์ส 2 พันธุ์ใหม่นี้สำคัญอย่างไร
สำคัญ จากการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของไวรัสซาร์ส 2 ตรวจพบสายพันธุ์ บี.1.1.7 ครั้งแรกที่อังกฤษ ตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. แต่นักวิจัยพบความถี่ของการตรวจพบมากขึ้นเรื่อยๆ จากผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 จากพื้นที่ภาคใต้ของอังกฤษ สืบต้นตอไปได้ถึงเดือนก.ย.
แล้วบี.1.1.7 ติดต่อได้ง่ายขึ้นจริงหรือไม่
จริง เพราะจากการประเมินเบื้องต้นของนักวิทยาศาสตร์พบว่า บี.1.1.7 สามารถติดต่อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม สะท้อนจากการระบาดของสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวในพื้นที่ภาคใต้ของอังกฤษ จนมีปริมาณมากเทียบได้กับสายพันธุ์หลักที่ระบาดมานานหลายเดือน
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงตั้งคำถามต่อว่า บี.1.1.7 อาจระบาดรวดเร็วเนื่องมาจากสาเหตุอื่น เช่น ความบังเอิญ หรือไม่ ยกตัวอย่างบี.1.1.7 อาจเริ่มระบาดจากพื้นที่ชุมชนหนาแน่น ทำให้มีโอกาสติดต่อง่ายกว่า
ทว่า หลักฐานทางจีโนมจากการตรวจวิเคราะห์ข้างต้นนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า บี.1.1.7 มีความสามารถในการระบาดมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่มีการระบาดของสายพันธุ์ย่อยนี้
ศาสตราจารย์นีล เฟอร์กูสัน จากวิทยาลัยกรุงลอนดอน ประเมินว่า บี.1.1.7 มีความสามารถในการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50-70 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์หลัก
ด้านสาเหตุของการกลายพันธุ์มาเป็น บี.1.1.7 นั้นศ.เว็นดี บาร์คเลย์ นักไวรัสวิทยาจากวิทยาลัยลอนดอน สันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ไวรัสติดต่อไปสู่เด็ก แม้ที่ผ่านมา เด็กมีความเสี่ยงในการติดเชื้อและส่งต่อต่ำกว่าวัยรุ่นและผู้ใหญ่ แต่การศึกษาเบื้องต้นบ่งชี้ว่า บี.1.1.7 อาจมีความสามารถในการระบาดไปสู่เด็กได้เทียบเท่ากลุ่มอายุอื่นแล้ว
ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมาจากการทดลองนำไวรัสซาร์ส 2 สายพันธุ์ย่อย 614จี ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดใหญ่ไปใช้ในสัตว์ทดลอง เผยให้เห็นว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสซาร์ส 2 นั้นมีแนวโน้มทำให้ความสามารถในการระบาดสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์มิวจ์ เซวิก ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์ แอนดรูวส์ ในสก็อตแลนด์ กล่าวว่า มาตรการป้องกันเดิมต่อโควิด-19 ยังสามารถใช้สกัดกั้นการระบาดของบี.1.1.7 ได้
บี.1.1.7 ทำให้อาการของโควิด-19รุนแรงขึ้นหรือไม่
ยังไม่มีหลักฐาน บ่งชี้ว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์ย่อยบี.1.1.7 นั้นมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ ทว่า นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ตัดประเด็นดังกล่าวออกไป พร้อมแนะนำให้ทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังสูงสุดต่อความเป็นไปได้
สาเหตุของคำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรายงานการระบาดของไวรัสซาร์ส 2สายพันธุ์ย่อยอื่นในประเทศแอฟริกาใต้ โดยสายพันธุ์ย่อยนี้มีการระบาดชุกชุมตามชายฝั่ง และบรรดาแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยพบว่า มีปริมาณไวรัส (ไวรัล โหลด) สูงกว่าสายพันธุ์หลัก
สายพันธุ์ย่อยแปลกๆ พวกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ยังไม่แน่ชัด ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างถกเถียงถึงที่มาของไวรัสซาร์ส 2 สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ เหล่านี้ โดยความเป็นไปได้หนึ่ง คือ การกลายพันธุ์ระหว่างการติดต่อผ่านกลุ่มพาหะหลายชนิด
การติดเชื้อไวรัสทั่วไปโดยปกติจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อกลายเป็นพาหะนำโรคอยู่ระยะหนึ่งก่อนอาการป่วยจะเริ่มแสดงออกมา โดยช่วงเวลานี้ปริมาณไวรัสในร่างกายจะเริ่มลดลงแล้ว เนื่องจากถูกตอบโต้จากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
หากไม่มีอาการป่วยจนร้ายแรง ภูมิคุ้มกันจะสามารถกำจัดไวรัสได้อย่างราบคาบภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ อย่างไรก็ดี กรณีบุคคลที่ติดไวรัสมีร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องก็จะทำให้ไวรัสอาศัยอยู่ในร่างกายได้นานหลายเดือน
กรณีศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 ประเภทนี้ พบว่า ไวรัสจะกลายพันธุ์ผ่านการเพิ่มปริมาณภายในร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า มีโอกาสที่การคัดเลือกทางธรรมชาติจะส่งผลให้ไวรัสกลายพันธุ์มีความสามารถในการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันได้
ยังไม่เท่านั้น วิวัฒนาการของไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้ที่ถูกกระตุ้นด้วยยาต้านชนิดต่างๆ อาจส่งผลให้ไวรัสพัมนาตัวเองจนมีความสามารถต่อต้านยาต้านและโมโนโคลนอลแอนติบอดีด้วย
อีกที่มาหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่จับตามอง คือ การระบาดผ่านสัตว์รังโรค (anime reservoirs) อื่นก่อนติดต่อมาสู่มนุษย์ หลังมีการตรวจพบเชื้อไวรัสซาร์ส 2 ในสัตว์หลายชนิด
วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะยังใช้ได้ผลหรือไม่
ใช้ได้ แม้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่า บี.1.1.7 จะไม่ส่งผลให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ใช้ไม่ได้ผล แต่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถตัดประเด็นความเป็นไปได้ดังกล่าวออกไปได้เช่นกัน
รายงานระบุว่า หลักการทำงานของวัคซีน เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสร้างแอนติบอดี ซึ่งจะเป็นสารที่จะไปจับกับแท่งโปรตีนบริเวณเยื่อหุ้มไวรัส ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถใช้แท่งโปรตีนดังกล่าวเพื่อจับกับแท่งรับที่ผิวเซลล์เพื่อเปิดประตูเข้าไปภายในเซลล์ร่างกายได้
อย่างไรก็ดี ความเป็นไปได้นั้นมีอยู่ เนื่องจากการกลายพันธุ์ที่ยีนส์ซึ่งทำหน้าที่สร้างแท่งโปรตีนของไวรัสอาจเปลี่ยนแปลงไปทำให้แท่งโปรตีนดังกล่าวมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แอนติบอดีเข้าไปจับได้ยาก ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นในบี 1.1.7
ทว่า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของมนุษย์สามารถสร้างแอนติบอดีได้หลากหลายรูปแบบเช่นกัน เพื่อลดโอกาสที่ไวรัสเหล่านี้จะเร็ดรอดไปได้ กรณีนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโดย สถาบันวิจัยวอลเทอร์ รีด ของกองทัพอังกฤษ
นพ.มอนเซฟ สลาอุย หัวหน้าคณะที่ปรึกษา โอเปอเรชั่น วาร์ปสปีด โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า วัคซีน 2 ชนิด ของไฟเซอร์-บิออนเทค และโมเดอร์นา จะไม่ได้รับผลกระทบจากบี 1.1.7 แต่ในอนาคตนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ไวรัสจะกลายพันธุ์และทำให้ต้องมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ออกมารับมือ ทุกฝ่ายจึงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ศ.คริสเตียน แอนเดอร์สัน นักไวรัสวิทยาจากสถาบันวิจัยสคริปส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดความเป็นไปได้เรื่องผลกระทบของ บี.1.1.7 ต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะหากปล่อยให้ บี.1.1.7 ติดสู่ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
กรณีนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ไวรัสจะพัฒนาตัวเองจนหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และหมายถึงจะทำให้วัคซีนใช้ไม่ได้ผล หรือทำให้ด้อยประสิทธิภาพลงในที่สุด ทว่า วงการวิทยาศาสตร์ไม่ประมาท และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาทางรับมือล่วงหน้าแล้ว
"ถึงตอนนี้เราอาจยังไม่รู้ แต่ไม่นานเราต้องได้รู้แน่ค่ะ" ศ.แอนเดอร์สัน ระบุ