เหตุผลในการสร้างพีระมิด
สิ่งมหัศจรรย์ 7 สิ่ง
ถึงแม้โลกโบราณจะมีสิ่งมหัศจรรย์ 7 สิ่ง ซึ่งได้แก่ ประภาคารแห่ง Alexandria รูปปั้นแห่งเกาะ Rhodes สวนลอยแห่ง Babylon วิหารแห่ง Artemis ที่ฝังศพแห่ง Helecarnassus รูปปั้นของเทพ Zeus และพีระมิดแห่งอียิปต์ก็ตาม แต่ก็มีพีระมิดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่ยังคงสภาพอยู่จนทุกวันนี้ เพราะสิ่งมหัศจรรย์อีก 6 สิ่งนั้นได้ล่มสลายและสลักหักพังไปจนหมดสิ้นแล้ว
วันนี้ โลกรู้ว่าพีระมิดที่ใหญ่ที่สุดคือ มหาพีระมิดแห่ง Giza ซึ่งกษัตริย์ Khufu สร้างขึ้น
ณ วันนี้ โลกรู้ว่าพีระมิดที่ใหญ่ที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุดคือ มหาพีระมิดแห่ง Giza ซึ่งกษัตริย์ Khufu ได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ 4,550 ปีก่อนนี้ ตัวพีระมิดทำด้วยหิน โดยมีฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีด้านยาวด้านละ 230 เมตร และประกอบด้วยหินสองล้านสามแสนก้อน ทำให้หนักประมาณ 6 ล้าน 5 แสนตัน ตัวพีระมิดสูง 146 เมตร มันจึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลก จนกระทั่งสถิติความสูงได้ถูกลบโดยหอ Eiffel ในปี พ.ศ. 2430
การศึกษาพีระมิดทำให้เรารู้ว่า ภายในพีระมิดมีห้องลึกลับและมีทางเดินที่คับแคบ
ซึ่งห้องเหล่านั้นเคยใช้เป็นที่เก็บมัมมี่ขององค์ฟาโรห์ มเหสีและมหาสมบัติมากมาย การมีขนาดใหญ่มโหฬารมากทำให้ชาวอาหรับในสมัยโบราณเรียกพีระมิดว่า มหาบรรพตแห่งองค์ฟาโรห์ และเมื่อ 200 ปีก่อนนั้น ใครก็ตามที่ได้ไปเยือนอียิปต์ มักจะถือโอกาสไต่พีระมิดขึ้นไปจนถึงยอด ปัจจุบันกิจกรรมนี้เป็นที่ต้องห้ามแล้ว เพราะนักท่องเที่ยวอาจเป็นอันตรายจากการตกพีระมิดตายได้
คนที่รู้จักพีระมิดมักพูดถึงชาวอียิปต์
คำถามหนึ่งที่คนทุกคนที่รู้จักพีระมิดมักถามคือ คนอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดได้อย่างไร และสร้างมันขึ้นด้วยเหตุใด และทำไมจึงต้องมีรูปแบบนั้น ในความเป็นจริง คนอียิปต์มิได้เป็นชนชาติเดียวเท่านั้นที่รู้จักสร้างพีระมิด ใน Sudan ก็มีพีระมิดใน Mexico ชน Aztec ก็สร้างพีระมิดเช่นกัน และแม้แต่ในอียิปต์เองก็มีพีระมิดอื่นๆ อีกราว 800 พีระมิด
ข้อสังเกตหนึ่งที่นักอียิปต์วิทยาสรุปได้จากการศึกษาพีระมิดคือ ผิวด้านข้างของพีระมิดที่สร้างในยุคแรกๆ นั้น มิได้ราบเรียบ แต่มีลักษณะเป็นขั้นบันได เสมือนจะให้กษัตริย์ได้ใช้ดำเนินขึ้นไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์ ดังที่ฟาโรห์ Djoser ได้ทรงสร้างพีระมิดขั้นบันไดขึ้นที่ Saqqara เมื่อ 4,680 ปีก่อนนั้น
ตามปกติคนอียิปต์นั้นมีความเชื่อว่า ฟาโรห์คือเทพเจ้าผู้เป็นทั้งแม่ทัพ ผู้พิพากษา และเป็นผู้พิทักษ์รักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินทั้งมวล พูดง่ายๆ คือ พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจคนทุกคนในประเทศ ดังนั้น ในการสร้างพีระมิดแต่ละลูก คนงานที่ลากหินมาสร้างพีระมิดจึงไม่ใช่ทาส แต่เป็นชาวนา ชาวไร่ผู้มีความเชื่อว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้น มีส่วนช่วยให้องค์ฟาโรห์ได้ไปจุติบนสวรรค์ และเมื่อถึงเวลาที่ตนจะจากโลกนี้ไปบ้าง เทพฟาโรห์ก็จะได้พิทักษ์ปกป้องตนต่อไป
เพราะพีระมิดที่สร้างเมื่อ 4,000 ปีก่อน ยังตั้งตระหง่านอยู่ได้จนทุกวันนี้ ความยืนยงคงกระพันของพีระมิดได้ทำให้ชาวอียิปต์มีคำกล่าวว่า ถึงแม้เวลาจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เวลาก็มิอาจทำลายพีระมิดได้
ตัวพีระมิดแห่ง Giza ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ Nile เพราะชาวอียิปต์ถือว่าดินแดนในทิศตะวันตกคือ ดินแดนสำหรับคนที่ตายไปแล้ว ดังนั้น เมื่อดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก ดวงอาทิตย์จึงได้ติดตามเหล่าวิญญาณไป ส่วนองค์ฟาโรห์นั้น พระองค์คือเจ้าชีวิตของประชาชนที่คนทุกคนอาจตายแทนได้
คำว่า pharaoh หมายถึงปราสาทไม่ใช่กษัตริย์
ความจริงคำว่า pharaoh แปลว่า บ้านหลังใหญ่ คำๆ นี้ในระยะแรกจึงหมายถึงปราสาทไม่ใช่กษัตริย์ และการสร้างพีระมิดสำหรับเก็บพระศพ หากสร้างใหญ่มาก ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี
ซึ่งองค์ฟาโรห์อาจสิ้นพระชนม์ก่อน นอกจากนี้การสร้างใหญ่เป็นการลงทุนที่มหาศาลที่ต้องใช้คนและทรัพย์มาก ซึ่งจะทำให้ความเป็นอยู่ของผู้คนลำบากมาก แต่ครั้นจะสร้างเล็กก็ดูไม่สมศักดิ์ศรีเลย
การศึกษาประวัติศาสตร์ของอียิปต์ทำให้เราทุกวันนี้รู้ว่า เวลาฟาโรห์สิ้นพระชนม์ พระนักบวชจะนำพระศพล่องเรือไปยังสถานศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำมัมมี่ก่อนแล้วจึงเอาผ้าลินินขาวพันพระศพ จากนั้นอีก 70 วันต่อมา พระนักบวชก็จะทำพิธีฝังพระศพ โดยให้สตรีในราชสำนักนุ่งขาวแล้วส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญ พร้อมกับโยนทรายไปในอากาศ
จนกระทั่งถึงพีระมิด พระก็จะนำพระศพเข้าไปข้างในห้องลึกลับ เพราะพระคิดว่าวิญญาณฟาโรห์ยังต้องการอาหารและเครื่องดื่มต่อ พระจึงนำอาหารวางไว้ด้วย แล้วก็ปิดห้องลึกลับนั้นทันที เพื่อป้องกันขโมยที่จะมาปล้นราชสมบัติในภายหลัง
ในสมัยนั้น คนอียิปต์นิยมใช้เรือเป็นพาหนะสำคัญ เพราะยังไม่รู้จักใช้รถที่มีล้อ และแม้แต่สุริยเทพ Re เอง ก็ทรงใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางข้ามท้องฟ้า ดังนั้น เวลาฟาโรห์สิ้นพระชนม์ศพพระองค์ก็ทรงเดินทางด้วยเรือเช่นกัน ดังที่ปรากฏในปี พ.ศ. 2497 ได้มีการขุดพบเรือศพของฟาโรห์ Khufu ใกล้พีระมิดที่พระองค์ทรงสร้างนั่นเอง
ในการสร้างพีระมิดฟาโรห์ต้องวางแผนก่อสร้าง รวมทั้งสถานที่ตั้งด้วย
ในการสร้างพีระมิดทุกครั้ง ฟาโรห์ต้องวางแผนก่อสร้าง รวมทั้งสถานที่ตั้งด้วย โดยมีหลักการง่ายๆ ว่า พีระมิดที่จะสร้างใหม่ต้องอยู่ใกล้แม่น้ำ เพื่อความสะดวกในการขนหิน ชนิดของหินก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน เพราะพีระมิดมีหลายชั้น การใช้หินที่ไม่แข็งแรงอาจทำให้พีระมิดทรุดตัวลงได้
ณ วันนี้ ไม่มีใครรู้แน่ชัด 100% ว่า ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดอย่างไร เมื่อ 2,500 ปีก่อนนี้ นักประวัติศาสตร์ชื่อ Herodotus ได้อ้างว่าฟาโรห์ใช้คนในการก่อสร้างพีระมิดมากถึง 100,000 คน และนานถึง 20 ปี แต่นัเทคโนโลยีทุกวันนี้เชื่อว่า ตัวเลขกรรมกรขนหินน่าจะเป็นเพียง 4,000 คนมากกว่า การที่ใช้คนจำนวนน้อยเช่นนี้ เพราะกรรมกรไม่ต้องทำงานทั้งปี คือเฉพาะเวลาน้ำในแม่น้ำไนล์ท่วมฝั่งชาวนาและกสิกรจะว่างงาน จึงทิ้งนาเพื่อมาช่วยสร้างพีระมิดถวายแด่องค์ฟาโรห์ของตน
ที่น่าสนใจในยุคต่อมา เหตุใดฟาโรห์ในระยะหลังๆ จึงไม่สร้างพีระมิดให้ใหญ่
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อถึงยุคต่อมา เหตุใดฟาโรห์ในระยะหลังๆ จึงไม่ได้สร้างพีระมิดให้ใหญ่ขนาดนั้นบ้าง
ในหนังสือชื่อ Theory and Pradice in Mediterranean Archaeology : Old World and New World Perspectives ที่ Joyce Marcus เรียบเรียงและออกวางตลาดเมื่อเร็วๆ นี้
เธอได้อธิบายว่า ในอดีตเราเคยเชื่อกันว่า พีระมิดแห่ง Giza คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ฟาโรห์ทรงสร้างขึ้นเพื่อแสดงความเป็นมหาอำนาจ และความยิ่งใหญ่อลังการของอาณาจักรพระองค์ แต่ในความเป็นจริง พีระมิดขนาดใหญ่เป็นโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์อียิปต์ในยุคต่อจากฟาโรห์ Khufu แสดงให้เห็นว่า
ถึงฟาโรห์ในยุคหลังๆ จะมีพระราชสมบัติ และพระราชอำนาจยิ่งกว่า Khufu แต่พระองค์ก็ทรงไม่ใช้ผู้คนและทรัพย์สินในการสร้างพีระมิดให้ใหญ่กว่าพีระมิดของ Khufu อีกเลย
ดังนั้น เราจึงได้คำตอบว่า Khufu สร้างพีระมิดขนาดมโหฬารขึ้นมาเพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านตื่นตาตื่นใจ และศรัทธาในความเป็นอารยะของตน พีระมิดจึงเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ ชวนศรัทธาในฟาโรห์เท่านั้นเอง Marcus
ยังได้บรรยายต่อว่า การสร้างพีระมิดให้ใหญ่กว่าพีระมิดแห่งพระอาทิตย์ที่ Teatihuacan ก็หยุดเช่นกัน ถึงแม้กษัตริย์ Aztec มีอำนาจและอาณาจักรจะรุ่งเรืองกว่าเก่าก็ตาม
ดังนั้นในสายตาและมุมมองของ Marcus พีระมิดจึงเป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับแสดงแสนยานุภาพของฟาโรห์ให้คนอื่นยำเกรงเท่านั้นเอง
จึงสรุปได้ว่า ทุกวันนี้ก็เช่นกัน การสร้างถาวรวัตถุที่มีขนาดใหญ่มักถือเป็นการแสดงบารมีของผู้สร้าง แต่มันก็หาใช่บารมีที่แท้จริงไม่
ขอขอบคุณ
ข้อมูลที่มีคุณภาพจาก เกร็ดความรู้น่าอ่าน
เว็บไซต์ โบราณคดี
หมวดอารยธรรมต่างแดน