โจโจ้ซัง แม้เป็นเพียงเกอิชาก็ขอมีรักแท้

บทละครสาวเครือฟ้าและมิสไซง่อนอันโด่งดัง มีที่มาจากความรักของโจโจ้ซัง เกอิชาสาวชาวญี่ปุ่น ผู้ยึดมั่นในความรักและศักดิ์ศรีสมดังที่ประกาศว่า "ตายเสียดีกว่าที่จะอยู่อย่างไร้เกียรติ" โจโจ้ซังเป็นนิยายที่เขียนขึ้นจากปลายปากกาของ John Luther Long ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเซนจูรี่ ในปี 1897 จากนั้นอีกสามปีต่อมาก็ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีในนิวยอร์ค ในชื่อมาดามบัตเตอร์ฟลาย
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2443 (ค.ศ.1900) หลังจากสงครามโลกสงบลง นาวาโทเบนจามิน แฟรงคลิน พิงเคอร์ตัน นายทหารเรือชาวอเมริกันถูกส่งมาประจำการที่เมืองนางาซากิในประเทศญี่ปุ่น แต่ตามประสาผู้ชายเวลาต้องไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองคนเดียวนานๆ ก็กลัวจะเหงา นาวาโทพิงเคอร์ตันจึงได้ติดต่อไว้ล่วงหน้าให้พ่อสื่อชื่อโกโร หาหญิงสาวสักคนมาแต่งงานเป็นภรรยาของเขา โกโกนั้นอยากจะเอาใจทหารอเมริกันจนเนื้อเต้นอยู่แล้ว จึงพยายามเลือกเฟ้นผู้หญิงที่สวยที่สุดและมีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่สุดมาให้พิงเคอร์ตัน แต่สาวชาวบ้านทั่วไปไม่มีใครอยากแต่งงานกับคนอเมริกัน โกโรจึงพุ่งเป้าไปที่โจโจ้ซัง เกอิชาคนดังของนางาซากิ ซึ่งนุ่มนวลอ่อนหวานเป็นที่หลงใหลของชายทุกคน จนได้รับฉายาว่ามาดามบัตเตอร์ฟลาย
โจโจ้ซังเป็นบุตรสาวของนักรบญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เทิดทูนศักดิ์ศรียิ่งกว่าชีวิต เมื่อญี่ปุ่นปราชัยในสงครามโลก บิดาของเธอทนมีชีวิตอย่างผู้แพ้ไม่ได้ จึงทำฮาราคีรีตัวเอง ทิ้งให้ลูกสาววัย 15 ปีต้องเผชิญโลกเพียงลำพัง สาวน้อยโจโจ้ซังจึงต้องมาเป็นเกอิชาเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง เมื่อตัดสินใจที่จะแต่งงานกับนาวาโทพิงเคอร์ตันแล้ว โจโจ้ซังก็ตั้งใจจะเป็นภรรยาที่ดี เธอยอมแม้แต่ไปเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเธอจะขอติดตามสามีชาวอเมริกันและไม่หวนกลับมาเป็นชาวญี่ปุ่นตลอดกาล
ความภักดีของโจโจ้ซังสร้างความหนักใจให้กับชาร์พเลส กงสุลอเมริกันซึ่งมาอยู่ที่ญี่ปุ่นนานพอที่จะเข้าใจในความคิดของผู้หญิงญี่ปุ่นยิ่งนัก ผิดกับนาวาโทพิงเคอร์ตัน ที่เห็นโจโจ้ซังเป็นเพียงดอกไม้ริมทางที่มีไว้เด็ดดมเล่นเท่านั้น เมื่อกงสุลชาร์พเลสถามพิงเคอร์ตันว่าเขารู้สึกอย่างไรกับโจโจ้ซังก็ได้คำตอบว่า "ความน่ารักน่าหลงใหลของเธอเปรียบเสมือนผีเสื้อปีกบางที่ผมจะต้องไล่ตามจับมาให้ได้ แม้ว่าจะเป็นการทำลายปีกของมันก็ตามที" จากนั้นทั้งสองก็ดื่มฉลองให้กับการแต่งงานของพิงเคอร์ตัน แต่เจ้าบ่าวทีเด็ดก็ยังไม่วายแถมท้ายว่า "และขอดื่มให้กับเจ้าสาวอเมริกันที่ผมจะมีในวันข้างหน้าด้วย"
ความคิดยอกย้อนเจ้าเล่ห์ของสามีเป็นสิ่งที่โจโจ้ซังมิได้เฉลียวใจเลย เธอเฝ้าปรนนิบัติเขาด้วยความซื่อสัตย์และภักดีเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะทำได้ ส่วนพิงเคอร์ตันก็ตอบแทนเธอด้วยการพร่ำพรอดบอกรักตลอดเวลาจนเกอิชาสาวเชื่อในคำหวานของเขาหมดใจ ชีวิตคู่อันแสนสุขของโจโจ้ซังดำเนินไปจนกระทั่งเธอตั้งท้อง นาวาโทพิงเคอร์ตันก็ถูกเรียกตัวกลับอเมริกา แน่นอนว่าเขาไม่คิดจะพาเมียชาวญี่ปุ่นกลับไปด้วย พิงเคอร์ตันจึงสัญญากับโจโจ้ซังว่าเขาจะกลับมารับเธอโดยเร็วที่สุด ทั้งยังพรรณนาเสียมากมายว่าไม่อยากจากเธอไปแม้แต่วันเดียว จนโจโจ้ซังปักใจมั่นว่าอีกไม่นานสามีจะกลับมารับเธอและลูกในท้องไปอยู่พร้อมหน้าร้อมตากันในอเมริกา
โจโจ้ซังเฝ้ามองเรือรบ "อัลบราฮัม ลินคอล์น" พาสามีสุดที่รักจากไปด้วยน้ำตานองหน้า เธอรู้ดีว่าชีวิตของเธอในญี่ปุ่นจะไม่สงบสุขสวยงามอีกต่อไปแล้ว เพราะนับตั้งแต่วันที่เธอเข้ารีตเปลี่ยนศาสนา เธอก็ถูกเพื่อนบ้านญาติพี่น้องรุมประณามและตัดขาดอย่างสิ้นเชิงในฐานะคนทรยศต่อสายเลือดบูชิโด การที่ภรรยาถูกทุกคนที่เธอรู้จักมาตลอดชีวิตตะโกนสาบแช่งเข้ามาถึงในบ้าน เป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับพิงเคอร์ตัน เขาปลอบใจโจโจ้ซังที่นั่งร้องไห้อยู่ว่า "อย่าไปเสียน้ำตาให้กับคำด่าว่าของคนที่ไม่สำคัญพวกนี้เลย วงศาคณาญาติของเธอ รวมถึงพระทั้งหลายในญี่ปุ่น ไม่มีค่าเท่ากับน้ำตาเพียงหยดเดียวที่ไหลออกมาจากดวงตาสวยน่ารักของเธอหรอก" เป็นการแสดงทัศนคติที่ชาวอเมริกันมีต่อคนญี่ปุ่นออกมาอย่างเปิดเผย แต่ในขณะนั้นโจโจ้ซังไม่ได้รู้เลยว่าในบรรดา "คนไม่สำคัญ" ของสามีจะรวมถึงตัวเธอซึ่งเป็นเพียงผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่งด้วย
โจโจ้ซังเฝ้ารอสามีอยู่ถึงสามปีเต็ม เงินทองที่มีอยู่ก็ร่อยหรอลงไปจนแทบจะประคองตัวไปไม่รอด แต่เพราะเอยึดมั่นในความภักดีต่อพิงเคอร์ตัน จึงไม่ยอมกลับไปทำงานเป็นเกอิชาตามเดิม เวลาที่ผ่านไปเนิ่นนานทำให้ชาวบ้านเริ่มโจษจันด้วยความสะใจว่าโจโจ้ซังถูกสามีชาติศัตรูทิ้งขว้างแล้ว แม้แต่ซูซูกิ สาวใช้ขิงเธอเองก็ยังเชื่ออย่างนั้น แต่ด้วยความสงสารเจ้านาย ซูซูกิจึงต้องเก็บความสงสัยเอาไว้แต่เพียงในใจ
ความตกต่ำของโจโจ้ซังเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจจากบรรดาผู้ชายที่อยากจะเชยชมผีเสื้อแสนสวยคนนี้ โกโรพ่อสื่อเอกจึงเดินเข้าออกบ้านโจโจ้ซังไม่เว้นแต่ละวัน เพื่อทาบทามเธอไปเป็นภรรยาของผู้ชายหลายคน หนึ่งในนั้นมียศเป็นถึงเจ้าชายยามาโดริ เศรษฐีประจำเมืองนางาซากิ เมื่อโจโจ้ซังปฏิเสธเสียงแข็งด้วยเหตุผลว่าเธอมีสามีอยู่แล้ว โกโรก็อธิบายว่าตามกฎหมายของญี่ปุ่น เมื่อสามีทอดทิ้งภรรยาไปอยู่คนละเมือง นั่นก็คือการหย่าร้างกันโดยปริยาย แต่โจโจ้ซังไม่รับฟัง เธอยืนกรานว่าเธอไม่ใช่คนญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่เป็นชาวอเมริกันตามสามี หารู้ไม่ว่าขณะนั้นพิงเคอร์ตันได้ส่งจดหมายมาถึงกงสุลชาร์พเลส บอกว่าเขาได้แต่งงานแล้วกับผู้หญิงชาติเดียวกัน และกำลังจะกลับญี่ปุ่นเพื่อมารับลูกชายที่เกิดกับโจโจ้ซังไปอยู่อเมริกา
กงสุลชาร์พเลสรู้จักโจโจ้ซังดีเกินกว่าจะกล้าบอกข่าวนี้กับเธอ เกอิชาสาวจึงได้รู้ความจริงทั้งหมดด้วยตนเอง เมื่อเรือรบอเมริกันแล่นมาเทียบท่าในอีกสามวันต่อมา ตอนแรกเธอดีใจมากที่สามีกลับมาหาลูกเมียอย่างที่เขาสัญญาไว้ เธอเฝ้ารอพิงเคอร์ตันอยู่ที่บ้านตลอดคืน แต่เขาก็ไม่ย่างกรายไปพบเธอและลูกน้อยเลย ในวันที่สองมีผู้หญองแปลกหน้าคนหนึ่งพร้อมกงสุลชาร์พเลสมาหาโจโจ้ซังถึงบ้านพร้อมกับแนะนำตัวว่าเธอคือเคท ภรรยาชาวอเมริกันของพิงเคอร์ตัน การปรากฏตัวของเคททำลายความหวังของโจโจ้ซังจนไม่เหลือชิ้นดี เธอรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบพลิกคว่ำ ไม่มีอะไรเป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว
ในตอนแรกพิงเคอร์ตันก็ไม่คิดว่าโจโจ้ซังจะภักดีต่อเขามากมายถึงเพียงนี้ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องราวความลำบากของเธอจากชาร์พเลส เขาก็รู้ว่าตัวเองประเมินน้ำใจสาวญี่ปุ่นคนนี้ต่ำเกินไป เป็นครั้งแรกที่พิงเคอร์ตันรู้สึกผิดกับโจโจ้ซังจนไม่กล้าไปสู้หน้าเธอ เขาจึงเคทกับชาร์พเลสไปแทนโดยหวังว่าทั้งสองจะสามารถเกลี้ยกล่อมโจโจ้ซังได้ ทว่าการหลบหน้าของเขากลับเป็นการซ้ำเติมโจโจ้ซังให้ปวดร้าวยิ่งขึ้นไปอีก เธอเพิ่งได้ประจักษ์ว่าความรักความภักดีที่เธอมีให้ไม่มีค่าอะไรสำหรับสามีเลย สายตาของพิงเคอร์ตันมองเธอเป็นเพียงดอกไม้ริมทาง ไม่ใช่คนที่เขาจะยกย่องเชิดชูให้เป็นคู่ชีวิตของเขา
ความหยิ่งในศักดิ์ศรีทำให้โจโจ้ซังไม่ปริปากอ้อนวอนเคทแม้แต่คำเดียว เธอเพียงขอให้เคทรับปากว่าจะเลี้ยงดูลูกชายของเธอเหมือนเป็นลูกของตัวเอง เมื่ออีกฝ่ายรับปากเธอก็บอกให้เคทกลับมารับลูกชายในอีกครึ่งชั่วโมงข้างหน้า จากนั้นโจโจ้ซังก็ดึงลูกเข้ามากอดร่ำลาสั่งเสียอย่างขมขื่น เมื่อเด็กชายลับตาไป เธอก็เข้าไปในห้องพระ คุกเข้าร้องไห้ต่อหน้าพระพุทธรูปก่อนจะหยิบเอามีดที่พ่อของเธอใช้ทำฮาราคีรีออกมา บนใบมีดนั้นสลักคำจารึกว่า "การตายอย่างมีเกียรติ ดีกว่าที่จะอยู่ต่อไปอย่างไร้เกียรติ" เธอจูบรอยสลักนั้นอย่างเทิดทูนก่อนจะแทงปลายมีดลงที่ลำคอ จบสิ้นชีวิตและความรักอันงมงายของเกอิชาตัวเล็กๆ ลงอย่างเดียวดาย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2450 ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรละครอุปรากรเรื่องนี้ที่โรงละครในกรุงปารีส หลังจากนั้นก็ทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านว่า..."ค่ำไปดูละครคอมิกออปรา ตามที่ได้กะไว้แต่แรก เปนเรื่องที่เลื่องฤาว่าดีนัก เรียกชื่อเรื่องว่า มาดามบัตเตอไฟลย์ ผู้ที่เปนมาดามบัตเตอไฟลย์นั้นคือมาดามคาเร ที่เคยดูแล้วแต่ก่อน เสียงเพราะแลใช้บทดีมากเรื่องที่เล่นนี้ ผูกเรื่องเป็นยี่ปุ่น ฉากแลเครื่องแต่งตัว ผู้หญิงยี่ปุ่นทั้งนั้น..."
เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว ทรงเล่าเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายประทานให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง หลังจากนั้นกรมพระนราธิปฯ จึงทรงดัดแปลงเป็นบทละครร้องในเรื่องสาวเครือฟ้า แสดงถวายหน้าพระที่นั่งเป็นที่พอพระหฤทัยมาก นับเป็นการเริ่มต้นกำเนิดละครร้องที่ทรงดัดแปลงมาจากละครอุปรากรของยุโรป
ละครเรื่องนี้ ยังถูกดัดแปลงไปสร้างเป็นละครเพลงอันโด่งดังเรื่อง "มิสไซง่อน" (Miss Saigon) เกอิชาสาวโจโจ้ซังถูกดัดแปลงให้เป็นสาวน้อยไร้เดียงสาชื่อคิม และนาวาโทพิงเคอร์ตันกลายเป็นคริส นายทหารอเมริกันที่ถูกส่งมาประจำในไซง่อนในช่วงสงครามเวียดนาม
ความรักของโจโจ้ซังอาจจบลงที่ความตายแต่คำพูดที่ว่า "ตายเสียดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติ" ของเธอกลับเป็นวลีอมตะที่ครองใจแฟนๆ ต่อมาอีกนานแสนนาน

โจโจ้ซัง แม้เป็นเพียงเกอิชาก็ขอมีรักแท้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์