ในระหว่างสงครามอังกฤษได้ใช้กลยุทธปิดล้อมเยอรมันทางทะเล เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเยอรมันมีความสามารถในการผลิตอาหารได้เพียงร้อยละแปดสิบของปริมาณความต้องการทั้งประเทศและต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารถึงร้อยละยี่สิบ ดังนั้นเมื่อถูกปิดล้อมทางทะเลจึงทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารขึ้นในเยอรมัน จนชาวเยอรมันในยุคนั้นต้องหันไปพึ่งอาหารเทียม
อาหารเทียมหรือที่เรียกว่าแอร์ซาตซ์ (Ersatz) เป็นอาหารที่ถูกผลิตขึ้นให้มีความใกล้เคียงกับอาหารจริง ๆ แม้ว่าวัสดุบางอย่างอาจดูเหมือนไม่น่าจะกินได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยต่อชีวิตของผู้คนที่กำลังหิวโหยให้อยู่รอดไปได้จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง และต่อไปนี้คือบางส่วนของอาหารแอร์ซาตซ์ที่ชาวเยอรมันในยุคนั้นกินกัน
ขนมปัง - ถูกเปลี่ยนจากใช้แป้งสาลีทำมาเป็นแป้งที่ทำจากถั่วและถั่วลันเตา นอกจากนี้ยังผสมผงขี้เลื่อยลงไปในแป้งสำหรับอบขนมปังเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณด้วย
ขนมเค้ก - ทำจากแป้งเกาลัดและแป้งที่ได้จากต้นโคลเวอร์
เนื้อ - ความขาดแคลนเนื้อสัตว์ทำให้มีการนำเอาข้าวสับผสมเศษเนื้อแกะมาบริโภคแทน นอกจากนี้ยังมีการบริโภคสเต๊กผักซึ่งผลิตมาจากผักขมมันฝรั่งถั่วลิสงและไข่เทียมนำมาบดผสมและอัดรวมกันเป็นชิ้น
เนย - ได้ถูกเพิ่มปริมาณด้วยการผสมแป้งลงไป นอกจากนี้ยังมีการทำเนยจากนมที่จับตัวเป็นก้อนผสมกับน้ำตาลและใส่สีเหลืองลงไป
ไข่เทียม - ทำมาจากข้าวโพดผสมมันฝรั่ง
พริกไทย - ถูกเพิ่มปริมาณด้วยการผสมขี้เถ้าลงไป
ไขมัน - ได้มีความพยายามสกัดไขมันจากสิ่งต่าง ๆ ทั้งจากหนูนาหนูบ้านอีกาแมลงสาบ (แหวะ) หอยทากรองเท้าบู๊ตและรองเท้าอื่น ๆ แต่ไม่มีวิธีไหนเวิร์คเท่าที่ควร
กาแฟ - กาแฟเทียมทำจากลูกนัตอบและปรุงรสด้วยน้ำมันดิน (อันนี้นึกถึงในเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็มีกาแฟปลอมที่ทำจากเม็ดมะขามคั่วเอามาบดแทนเม็ดกาแฟเหมือนกัน)
คงไม่ต้องห่วงว่าผู้ที่กินอาหารเหล่านี้เข้าไปจะมีสุขภาพเป็นอย่างไรเพราะในช่วงเวลานั้นขอเพียงมีอาหารยาไส้ก็นับว่าดีพอแล้ว เพราะท้ายที่สุดเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งดำเนินมาถึงช่วงสุดท้ายในปี ค.ศ. 1918 แม้แต่อาหารแอร์ซาตซ์ก็ไม่มีเหลือและสิ่งที่ชาวเยอรมันต้องกินเพื่อประทังชีวิตก็มีเพียงหัวผักกาดกับเศษอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น .....นี่แหละรสชาติอันแสนโหดร้ายของสงคราม
ขอบคุณ>>komkid.com