ภูมิปัญญาในการรับมืออากาศร้อนในประวัติศาสตร์จีน


ภูมิปัญญาในการรับมืออากาศร้อนในประวัติศาสตร์จีน

สมัยโบราณไม่มีเทคโนโลยีทำความเย็นเหมือนสมัยปัจจุบัน และน้ำแข็งในธรรมชาติก็ไม่มีให้ใช้ตลอดปี มนุษย์จึงใช้ ‘ตู้เย็น' ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น การแช่น้ำนมวัวบริเวณเชิงเขาซึ่งมีน้ำเย็นที่ละลายจากน้ำแข็งเพื่อให้นมคงความสดไว้ การเก็บเนื้อสัตว์ในที่อากาศหนาวไม่ให้เน่าเสีย ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตละติจูดสูงอากาศหนาวเย็นนิยมสร้างบ้านน้ำแข็งริมทะเลสาบไว้เก็บวัตถุดิบประกอบอาหาร แต่สำหรับประเทศจีนฤดูร้อนและฤดูหนาวอากาศแตกต่างกันมาก บรรพบุรุษแดนมังกรใช้ชีวิตในช่วงฤดูร้อนซึ่งอากาศร้อนจัดอย่างไร เก็บรักษาอาหารสดที่ไหน และใช้วิธีใดรับมือกับธรรมชาติ

ผู้คนสมัยโบราณใช้น้ำแข็งจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่แข็งตัวในฤดูหนาว คัมภีร์ ‘ซือจิง' 《詩經》 ซึ่งเขียนในสมัยราชวงศ์โจว (周 1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีความตอนหนึ่งบันทึกเกี่ยวกับการเจาะน้ำแข็งเป็นก้อนแล้วเก็บไว้ในห้องน้ำแข็ง (冰窖) หรือบ่อน้ำแข็ง (冰井) จากนั้นนำมาใช้ในฤดูร้อน กล่าวคือ กษัตริย์โจวต้องการใช้น้ำแข็งในฤดูร้อน จึงแต่งตั้งขุนนางตำแหน่ง ‘หลิงเหริน' (凌人) ให้ประจำ ‘หน่วยงานดูแลการแช่เย็น' (冰政) คอยควบคุมดูแลด้านการแช่เย็นโดยเฉพาะ ทั้งการทำเครื่องดื่มเย็นและการเก็บน้ำแข็ง หน่วยงานดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ถึง 80 คน โดยทั่วไปเริ่มเจาะน้ำแข็งเก็บไว้ตั้งแต่เดือน 12 แล้วนำมาใช้ในช่วงฤดูร้อน หลิงเหรินจะนำข้าทาสหรือคนงานไปเจาะน้ำแข็งตามแหล่งน้ำซึ่งตรวจสอบแล้วว่าเป็นน้ำคุณภาพดี เมื่อได้ก้อนน้ำแข็งแล้วนำไปเก็บไว้ในห้องน้ำแข็งที่ปูด้วยฟาง จากนั้นคลุมด้วยวัสดุป้องกันความร้อน เช่น รำข้าว ใบไม้ ฯลฯ เสร็จแล้วปิดปากห้องรอจนถึงฤดูร้อนแล้วค่อยนำมาใช้ เมื่อถึงเวลานั้นก็มีน้ำแข็งละลายไปบางส่วน หลิงเหรินจึงต้องคำนวณว่าน้ำแข็งที่เหลือจากการละลายมีปริมาณเท่าใด

ปัจจุบันมีการค้นพบห้องน้ำแข็งโบราณสมัยจ้านกั๋ว (戰國 475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หลายแห่งกระจายอยู่หลายมณฑล เช่น เมืองซินเจิ้ง (新鄭) ในมณฑลเหอหนาน (河南), เมืองอี้เซี่ยน (易縣) ในมณฑลเหอเป่ย (河北), เมืองเสียนหยาง (咸陽) ในมณฑลส่านซี (陝西) ห้องน้ำแข็งใต้ดินเป็นที่นิยมจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) ‘บันทึกราชสำนักชิง'《大清會典》 บรรยายว่าปักกิ่งมีห้องน้ำแข็งอยู่มากมาย อาจมีมากถึง 23 แห่ง กระจายอยู่ตามพระราชวังต้องห้าม สวนจิ่งซาน (景山) และประตูเต๋อเซิ่งเหมิน (德勝門) รวมเก็บน้ำแข็งได้มากกว่า 2 แสนก้อน

จุดประสงค์หลักของการเก็บน้ำแข็งในฤดูหนาวแล้วนำมาใช้ในฤดูร้อนมี 2 ประการ คือ 1. ช่วยคลายร้อนในฤดูร้อน โดยปกติชนชั้นสูงนิยมใช้น้ำแข็งก้อนใหญ่ แกะสลักเป็นรูปทรงเหมือนภูเขาน้ำแข็ง แล้วให้คนใช้คอยพัดอยู่หลังฉากกั้น ลมเย็นก็จะไปถึงโต๊ะรับแขก 2. เก็บรักษาของกินให้เย็น สด ไม่เน่าเสีย เช่น การแช่เหล้า เพราะหากเหล้าอยู่ในอุณหภูมิสูง รสชาติจะเปลี่ยน หากต้องการรักษาคุณภาพและรสชาติก็ต้องแช่ให้เย็น

นอกจากการเก็บน้ำแข็งแล้ว คัมภีร์ ‘ธรรมเนียมปฏิบัติสมัยโจว' 《周禮》บันทึกว่า ‘เซ่นไหว้ถวายปิงเจี้ยน' (祭祀共冰鑑) คำว่า ‘ปิงเจี้ยน' ที่ปรากฏคืออะไรกันแน่

ค.ศ. 1978 มีการค้นพบภาชนะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ถงปิงเจี้ยน' (銅冰鑑) หรือ ‘ปิงเจี้ยนสัมฤทธิ์' ที่อำเภอสุย (隨縣) มณฑลหูเป่ย (湖北省) บริเวณสุสานเจิงโหวอี่ (曾侯乙 ประมาณ 477-433 ก่อนคริสต์ศักราช) เจ้าครองรัฐเจิง (曾國) สมัยจ้านกั๋ว ถงปิงเจี้ยนเป็นภาชนะสัมฤทธิ์สองชั้น กว้าง 76 ซ.ม. สูง 63.6 ซ.ม. แกะเป็นลวดลายต่างๆ ภายนอกเป็นทรงสี่เหลี่ยม ภายในมีภาชนะทรงกลมลักษณะคล้ายไห มีสี่ขา


ถงปิงเจี้ยน (銅冰鑑)

ถงปิงเจี้ยนมีกลไกซ่อนอยู่ตรงฐานภาชนะด้านในที่สัมผัสกับพื้นไห พื้นด้านในมีตะขอ 3 ตัว และมีอยู่ตัวหนึ่งที่ขยับเขยื้อนได้ ส่วนพื้นด้านนอกไหมีร่องอยู่ 3 ร่อง เมื่อวางไหลงไปในภาชนะ ตัวตะขอจะเสียบเข้ากับร่องพอดีทำให้ไหไม่ขยับเขยื้อน ส่วนตะขอที่ขยับได้ก็พลิกลงล็อคโดยอัตโนมัติ แต่หากต้องการยกไหก็ปลดล็อคตะขอตัวที่ขยับได้ แล้วค่อยยกไหออกมา ถือเป็นภาชนะสัมฤทธิ์ที่มีกลไกซับซ้อนและงดงามที่สุดในยุคจ้านกั๋ว

ในยุคนั้นสุราส่วนใหญ่หมักจากข้าว หากเก็บไว้นานรสชาติจะเปลี่ยนจึงต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ การใส่น้ำแข็งในสุราทำให้สุราเจือจาง จึงมีการคิดค้นภาชนะชนิดนี้ขึ้น วิธีใช้คือใส่สุราในไหแล้วใส่น้ำแข็งไว้รอบไห เป็นการแช่สุราให้เย็น กล่าวได้ว่าถงปิงเจี้ยนเป็น ‘บรรพบุรุษ' ของตู้เย็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ในฤดูหนาวยังใส่ถ่านไว้รอบๆ ไหเพื่ออุ่นสุราให้ร้อนได้อีกด้วย เนื่องจากผู้คนบางส่วนเชื่อว่าการดื่มสุราอุ่นๆ จะไม่ส่งผลเสียต่อม้ามและกระเพาะอาหาร

ปลายสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) มีการใช้ประโยชน์จากดินประสิวในการผลิตดินปืน ผู้คนค้นพบว่าเมื่อละลายดินประสิวกับน้ำจะทำให้น้ำมีอุณหภูมิลดลงจนถึงจุดเยือกแข็ง จึงเกิดการผลิตน้ำแข็งในฤดูร้อนขึ้น มีธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าจากน้ำแข็งหลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงการใส่น้ำตาลในน้ำแข็งเพื่อดึงดูดลูกค้า

‘บันทึกปกิณกะอวิ๋นเซียน' 《雲仙雜記》ที่เขียนขึ้นสมัยราชวงศ์ถัง มีความตอนหนึ่งว่า "น้ำแข็งหิมะฉางอัน เมื่อฤดูร้อนมูลค่าดั่งหยกทองคำ" (長安冰雪,至夏月則價等金璧) แสดงให้เห็นว่าในอดีตน้ำแข็งถือเป็นของล้ำค่าหายาก มีราคาสูง สาเหตุที่ทำให้น้ำแข็งมีราคาสูงเนื่องจากขั้นตอน ‘การสกัดและเคลื่อนย้ายน้ำแข็ง' กับ ‘การเก็บรักษาน้ำแข็ง' ที่ยุ่งยากลำบาก น้ำแข็งยิ่งก้อนใหญ่ก็ยิ่งมีราคาแพง ส่งผลให้ในสมัยนั้นน้ำแข็งกลายเป็นเครื่องหมายของความร่ำรวย

สมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) น้ำแข็งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มแพร่หลายในหมู่ประชาชน เกิด ‘ห้องน้ำแข็งชาวบ้าน' (民窖) ซึ่งประชาชนสร้างไว้เก็บน้ำแข็ง นอกจากเครื่องดื่มเย็นแล้วยังมีของหวานแบบเย็นมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นในพระราชวังหรือตามตลาดทั่วไปและหาบเร่แผงลอย เมนูที่ขึ้นชื่อได้แก่ น้ำชะเอมใส่น้ำแข็ง (冰雪甘草湯) น้ำถั่วเกล็ดหิมะ (雪泡豆兒水) หวานเย็นลิ้นจี่ข้น (涼水荔枝膏) หวานเย็นเม็ดบัว (蓮子湯) เป็นต้น น้ำแข็งได้รับความนิยมมากถึงขั้นมีบันทึกว่าขุนนางสมัยราชวงศ์ถังและซ่งบางคนร่ำรวยเป็นเศรษฐีจากการจำหน่ายน้ำแข็ง

ภูมิปัญญาในการรับมืออากาศร้อนในประวัติศาสตร์จีน

หาบเร่จำหน่ายของหวาน

หยางว่านหลี่ (楊萬里 ค.ศ. 1127-1206) กวีสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋 ค.ศ. 1127-1279) เคยเขียนพรรณนาของกินชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘ปิงเล่า' (冰酪) ปิงเล่าเป็นของหวานที่ลักษณะคล้ายหวานเย็น มีส่วนผสมหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น ผลไม้ น้ำผลไม้ นมวัว ดอกเก๊กฮวย น้ำแข็ง ฯลฯ มาร์โค ​โปโล (Marco Polo ค.ศ. 1254-1324) นักเดินทางชาวอิตาลีผู้เคยสำรวจแผ่นดินจีนอยู่ช่วงหนึ่ง เคยเข้าเฝ้ากุบไลข่าน (元世祖 ค.ศ. 1215-1294) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1271-1368) และได้ลิ้มรสปิงเล่าในวังหลวงด้วย

นอกจากนี้ หยางว่านหลี่ยังเขียน ‘เพลงลิ้นจี่'《荔枝歌》เนื้อเพลงบรรยายว่า คนเหนือจำนวนมากยึดอาชีพที่เกี่ยวกับน้ำแข็ง การเก็บน้ำแข็งเต็มห้องใต้ดินสามารถเลี้ยงคนได้ทั้งครอบครัว ในฤดูร้อนมีพ่อค้าตะโกนขายน้ำแข็ง ชาวบ้านแค่ได้ยินเสียงตะโกนก็รู้สึกสดชื่นทันที

สมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) และราชวงศ์ชิง พบเห็นเครื่องดื่มใส่น้ำแข็งได้ทั่วไปแล้ว โดยเฉพาะในฤดูร้อนมีหาบเร่แผงลอยตะโกนขาย ‘เหลียงสุ่ย' (涼水 น้ำแช่น้ำแข็ง) อยู่ตามท้องถนน ประชาชนนิยมกินซุปเม็ดบัวในช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของปี

ชนชั้นสูงสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายมักใช้ไม้ราคาแพงสร้างลังน้ำแข็ง (冰箱) เช่น ไม้แดง (紅木) ไม้ประดู่ (花梨) ลังน้ำแข็งสมัยชิงที่โด่งดังคือ ‘ลังน้ำแข็งลงยาสี' (掐絲琺瑯冰箱) ของจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆 ค.ศ. 1711-1799) ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์กู้กงปักกิ่ง (北京故宮博物院) ลังน้ำแข็งไม้ทรงสี่เหลี่ยมใบนี้มี 4 ขา สูง 76 ซ.ม. ภายในบุด้วยตะกั่ว ใช้ไม้ประกอบโดยรอบอีกชั้น ด้านนอกเป็นลวดลายใบหน้าสัตว์ ด้านล่างแกะสลักตัวอักษร 6 ตัวคือ ‘大清乾隆御製' หมายถึงสร้างโดยเฉียนหลงแห่งต้าชิง เมื่อใส่น้ำแข็งลงไปจะละลายช้ามาก เนื่องจากชั้นตะกั่วและชั้นไม้ช่วยป้องกันความร้อนภายนอกและรักษาอุณหภูมิภายใน เวลาใช้งานให้พัดลังน้ำแข็ง รูขนาดเล็ก 2 รูด้านบนจะระบายไอเย็นออกมาทำให้รู้สึกเย็นสบาย ถือเป็น ‘บรรพบุรุษ' ของเครื่องปรับอากาศในปัจจุบัน

ภูมิปัญญาในการรับมืออากาศร้อนในประวัติศาสตร์จีน

ลังน้ำแข็งลงยาสี

การออกแบบพระราชวังสมัยราชวงศ์ชิงมีลักษณะพิเศษที่แสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดของผู้คนสมัยโบราณ ตำหนักบรรทมของพระจักรพรรดิมีระเบียงทางเดินอยู่รอบ ระเบียงนี้ไม่เพียงมีหลังคากันฝน แต่ข้าราชบริพารยังนิยมมานั่งตากลมคลายร้อน จากบันทึกประวัติศาสตร์พบว่า ตำหนักบรรทมทั้งหมดในสมัยราชวงศ์ชิงต้องมีหน้าต่างสองชั้น ชั้นนอกเรียกว่า ‘หน้าต่างค้ำ' (支窗) เมื่อเปิดออกใช้ไม้ค้ำเอาไว้ ส่วนชั้นในเรียกว่า ‘หน้าต่างดึง' (摘窗) ในฤดูร้อนเมื่อเปิดม่านตอน 9 โมงเช้า ก็ปิดหน้าต่างค้ำ เพื่อป้องกันอากาศร้อนเข้ามาในห้อง ทำให้ห้องยังคงเย็นสบาย ตกกลางคืนค่อยม้วนม่านขึ้น เปิดหน้าต่างค้ำ เพื่อให้ลมเย็นเข้ามาภายในห้อง

นอกจากนี้ พระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิงหยวน (圓明園) มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยคลายร้อน เรียกว่า ‘สุ่ยมู่หมิงเซ่อ' (水木明瑟) เป็นการขุดร่องน้ำให้น้ำไหลผ่านตำหนักต่างๆ และใช้ประโยชน์จากพลังงานน้ำมาขับเคลื่อนพัดลมเพื่อความเย็น ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศแบบธรรมชาติ มีเสียงน้ำไหลและเสียงใบไม้พลิ้วไหวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ กระบวนการดังกล่าวมีบันทึกไว้ใน ‘ตำราไท่ซีสุยฝ่า' 《泰西水法》ซึ่งเป็นตำรารวบรวมความรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำของตะวันตก แต่น่าเสียดายที่โครงสร้างดังกล่าวเสียหายหลังจากการเกิดเพลิงไหม้

ภูมิปัญญาในการรับมืออากาศร้อนในประวัติศาสตร์จีน

หน้าต่างค้ำและหน้าต่างดึง

วิธีหนีร้อนอีกวิธีของจักรพรรดิสมัยชิงคือการไปพักร้อนตากอากาศ เช่น จักรพรรดิคังซี (康熙 ค.ศ. 1654-1722) มักออกไปพักร้อนรอบๆ พระราชวัง ต่อมาจึงไปพักร้อนในสวนนอกเมืองหรือนอกกำแพงเมืองจีนทางทิศเหนือ หนึ่งในนั้นคือสถานที่พักร้อนเฉิงเต๋อ (承德避暑山莊) แห่งมณฑลเหอเป่ย (河北) ใช้เวลาก่อสร้าง 89 ปี รวม 3 รัชกาล นับตั้งแต่จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิยงเจิ้ง จนถึงจักรพรรดิเฉียนหลง สถานที่แห่งนี้ออกแบบเหมือนหมู่บ้านตามภูเขาอันเรียบง่าย สวยงาม ล้อมรอบด้วยทะเลสาบ จึงเป็นสถานพักร้อนซึ่งจักรพรรดิหลายพระองค์โปรดปราน

ภูมิปัญญารับมืออากาศร้อนของจีนแสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาด ความอดทน และความสามารถในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและอยู่ดีของบรรพชนชาวจีน บางอย่างเป็นพื้นฐานของสิ่งอำนวยความสะดวกในปัจจุบัน

เครดิตแหล่งข้อมูล : arsomsiam.com

ภูมิปัญญาในการรับมืออากาศร้อนในประวัติศาสตร์จีน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์