ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย วิชาต้องห้ามในอดีต


ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย วิชาต้องห้ามในอดีต

ทรัพยาศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยาม วิชาต้องห้ามในอดีต โดยพระยาสุริยานุวัตร นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของประเทศ

#ทรัพยศาสตร์ #เศรษฐศาสตร์ #วิชาต้องห้าม #พระยาสุริยานุวัตร #ปัจจัยการผลิต #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #SilpaMag

ในขณะที่หลายคนมองว่าเศรษฐกิจประเทศอยู่ในช่วงขาลง เศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำ ขณะเดียวกันคณะเศรษฐศาสตร์ และภาควิชาเศรษฐศาสตร์ของหลายมหาวิทยาลัยก็กำลังเผชิญกับการ "ถูกยุบ" เพราะเศรษฐกิจอีกเช่นกัน ปัญหาปากท้องของประชาชนมีมาแต่อดีต แล้วเวลานั้นดำเนินการแก้ไขอย่างไร

พระยาสุริยานุวัตร บุคคลที่ได้ชื่อว่านักเศรษฐศาสตร์คนแรกของประเทศ เคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งถือเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยาม เพื่ออธิบายให้เห็นปัญหาเหล่านี้ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน มาดูว่าเราหลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ได้เพียงใด, หนังสือวิชาการโบราณๆ จะเชยหรือร่วมสมัยขนาดไหน

ก่อนอื่นของเริ่มจาก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค 2405-2479) เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) สมหุกลาโหมฝ่ายเหนือ กับ นางศิลา เมื่อแรกรับราชการมีตำแหน่งเป็นมหาดเล็กวิเศษ (เวรฤทธิ์) ภายหลังได้เลื่อนขั้นตำแหน่งตามโอกาส เป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเสศ อิตาลี สเปน และรัสเซีย, เป็นผู้ดูแลพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ที่ศึกษาอยู่ในยุโรป ฯลฯ พ.ศ. 2449 พระยาสุริยานุวัตรได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระกระทรวงการคลัง (มิ.ย. 2449-ก.พ. 2450)

ที่กระทรวงการคลังนี้ พระยาสุริยานุวัตร ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่เป็นภัยกับตัวเอง นั่นคือการโอนกิจการฝิ่นจากเจ้าภาษีผูกขาดให้กลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งทำจะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น แต่เจ้าภาษีนายอากรบางคนและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนไม่ให้ความร่วมมือ สุดท้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาเป็นการเฉพาะแนะนำให้ลาออกจากราชการเพื่อระงับเหตุ

เมื่อไม่ต้องทำราชการ พระยาสุริยานุวัตรจึงมีเวลาเขียนตำราเศรษฐศาสตร์ ที่ชื่อว่า "ทรัพยศาสตร์" หนังสือวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยาม ในปี 2454 ทรัพยศาสตร์เล่ม 1 ออกมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่พอพระทัยอย่างมาก และทรงใช้นามปากกา "อัศวพาหุ" ทรงเขียนคำวิจารณ์ทรัพยศาสตร์ ลงในวารสารสมุทสาร ของราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ตอนหนึ่งทรงวิจารณ์เรื่องการแบ่งชนชั้นในหนังสือทรัพยศาสตร์ว่า

"ปัญหาข้อนี้เหลือสติกำลังของข้าพเจ้าจะหาคำตอบได้ จึงต้องย้อนตั้งปัญหาขึ้นบ้างว่า การแบ่งคนเป็นชั้นๆ ในเมืองมีเหมือนอย่างในยุโรป ฤา? ข้าพเข้าเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนไทยไม่มีใครสูงกว่าใคร เว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว ใครๆเสมอกันหมด คือลูกพลเรือนก็มีช่องได้เป็นเจ้าพระยาเท่ากับหม่อมราชวงศ์

สำคัญที่คุณสมบัติส่วนตัวเท่านั้น ไม่ต้องกล่าวอื่นไกล แม้แต่เชื้อพระราชวงศ์ยังลดขั้ลงไปจนเป็นสามัญชน ข้าพเจ้าเห็นมีมาหลายสกุลนักแล้วที่พยายามจะตั้งตนเป็นผู้ดีแปดสาแหรกไปหลายๆ ชั่วคนก็ไม่เห็นส่าจะตั้งอยู่ได้จริงจังและถึงยังวางโตเป็นคุณอยู่ก็หลีกธรรมดาไม่ได้"

แล้ว "ทรัพยศาตร์" ของพระยาสุริยานุวัตร มีเนื้อหา ทิศทางอย่างไร ขออ้างอิงตาม "ความคิดทางเศรษฐกิจของพระยาสุริยานุวัตร" ที่ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เคยเขียนไว้ใน หนังสือพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของเมืองไทย

ทรัพยศาสตร์ ที่พระยาสุริยานุวัตรเขียนได้แบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น 3 ประการ คือ ที่ดิน, แรงทำการ และทุน

ในทัศนะของพระยาสุริยานุวัตร ทุนนับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นไปได้สำเร็จ การลงทุนทำให้เกิดผลประโยชน์ และทรัพย์ได้ต่อไป ประเทศที่มีการลงทุนมากจึงเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว โดยยกตัวอย่างชาวนาไทยที่เสียเปรียบเพราะมีทุนน้อยว่า

"ชาวนาที่ยากจนขัดสนด้วยทุน ต้องออกแรงทำงานแต่ลำพังตัวด้วยความเหน็ดเหนื่อย...เสบียงอาหารและผ้านุ่งห่มไม่พอก็ต้องซื้อเชื่อเขาโดยต้องเสียราคาแพง หรือถ้าต้งอก็เงินเขาไปซื้อก็ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแรงเหมือนกัน เมื่อเกี่ยวเข้าได้ผลแล้ว ไม่มีกำลังและพาหนะพอจะขนไปลานนวดเท้า หรือไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บเข้าไปขาย เมื่อเวลาเข้าในตลาดขึ้นราคาก็ต้องจำเป็นขายเข้าเสียแต่เมื่ออยู่ในลานนั่นเอง จะได้ราคาต่ำสักเท่าใดก็ต้องจำใจขาย มิฉะนั้นจะไม่ได้เงินใช้หนี้เขาทันกำหนดสัญญา"

เมื่อครั้งที่ยังรับราชการพระยาสุริยานุวัตรเคยหนังสือกราบทูลกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการว่าไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินต่างชาติ 1 ล้านปอนด์ มาทางสร้างรถไฟ แต่ควรนำเงินจำนวนดังกล่าวมาอุดหนุนเกษตรกรด้วยการจัดตั้งธนาคารชาติ เพื่อออกเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้ชาวนาในการเพิ่มผลผลิต แล้วรัฐบาลจึงค่อยกู้เงินจากธนาคารชาติที่ได้กำไรจากการปล่อยกู้แก่ชาวนาไปสร้างรถไฟภายหลัง

ความหมายของทุนก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะ "เงินทุน" เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ทรัพยการบุคคลอีกด้วย จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มความรู้ ความชำนาญ ตอนหนึ่งใน "ทรัพยศาสตร์" จึงกล่าวว่า "ไม่มีการจ่ายเงินอย่างใดที่จะทําประ โยชน์ได้เป็นผลกลับคืนมายิ่งกว่าที่รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินในการบํารุงการศึกษาของชาติ" จึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการศึกษาขั้นต่ำในชั้นประถมศึกษาโดยไม่เก็บเงินให้ประชาชนทุกคน

ทรัพยศาสตร์ยังกล่าวถึงเรื่องการแบ่งผลผลิต ใครจะได้ผลผลิตเท่าใดขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ซึ่งถูกกําหนดขึ้นโดยประวัติศาสตร์และโดยกฎหมายแผ่นดิน กรรมสิทธิ์จึงไม่ได้เกิดความแข็งขันในอาชีพเสมอไป ตอนหนึ่งในทรัพยศาสตร์กล่าวไว้ว่า

"เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติมีอยู่ดังนี้แล้ว ก็ต้องเกิดมีผลอันจะหลีกหนีไม่ได้ต่อไปว่ากรรมสิทธิ์นั้นเองเป็นมูลเหตุที่ได้กระทำให้มนุษย์ทั้งหลายมีฐานะต่ำสูงไม่เสมอ เกิดมีเศรษฐีและเข็ญใจขึ้น เป็นต้น...คนชั้นต่ำถึงจะอุตส่าห์ทำการเหน็ดเหนื่อยตัวสักเท่าก็ได้ค่าแรงไม่พอเลี้ยงชีพให้มีความสุขเสมอไปได้ แต่ฝ่ายคนชั้นสูงแม้แต่จะไม่ได้ทำงานอย่างใดเลย หากมีทุนเป็นทรัพย์สมบัติสะสมอยู่มากก็ได้รับผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นจากทุนและทรัพย์..."

นอกจากนี้แรงงาน ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้รับส่วนแบ่งจากการผลิตน้อยอยู่เสมอ เพราะต้องแย่งกันรับจ้างทำงานกับนายทุนจำนวนน้อยที่ผูกขาดเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ดังความตอนหนึ่งที่ว่า

"ผู้มีทุนมีปัญญาพึงจะหมายกินแรงหมู่คนทำงานที่โง่เขลา หรือมีอำนาจน้อยกว่าเป็นกำไรเสมอไป ที่สุดการที่เจ้าของทุนเจ้าของงานสู้ลงทุนจ้างคนทำงานมาใช้ในการทำผลประโยชน์นั้น ก็เป็นการทำนาบนหลังคนทั้งสิ้น หว่านทุนลงเป็นค่าแรงเลี้ยงคนทำงานเป็นผลงอกขึ้นได้เท่าใด ผลนั้นต้องเป็นของเจ้าของทุนทั้งหมด...ผู้ที่มีทุนมาก พึงจะมีอำนาจได่เปรียบมากขึ้นทุกปีไป เพราะคนทำงานโดยมากไม่มีที่พอจะทำการเลี้ยงชีพได้โดยลำพัง จะต้องอาศัยทุนผู้อื่นเป็นที่พึ่ง เจ้าของทุนก็มีแต่จะกลับใช้อาวุธกวัดแกว่งอยู่ว่า ถ้าเจ้าไม่ย่อมอดอาหารตาย เจ้าก็ต้องปลงใจยอมให้ข้าทำนาบนหลังของเจ้า"

บุตรหลานที่สืบตระกูลต่อไป ถ้าไม่มีใครสงเคราะห์ก็ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้สืบเนื่องไป

แม้พระยาสุริยานุวัตรจะไม่เห็นด้วยกับการเอารัดเอาเปรียบในระบบการแข่งขัน แต่ก็ไม่ต้องการให้ล้มเลิกระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคลนี้เสียทีเดียว เพราะหากเลิกระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แล้วริบเอาเป็นของกลางเสียหมด ผู้ที่ออกแรงเหน็ดเหนื่อยจะไม่ได้ผลงานนั้นเป็นของตนเอง จะทําให้เกิดความท้อถอยในการทํางาน แทนที่จะช่วยให้ประชาชนมีฐษนะดีขึ้นอาจให้ผลเลวร้ายในทางกลับกัน

ซึ่งทางออกที่เสนอไว้ใน "ทรัพยศาสตร์" คือ "สหกรณ์" ด้วยวิธีนี้แรงงานยังมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต แต่นําเอาปัจจัยนั้นมาร่วมกันในการผลิต ต่างมีส่วนในการจัดการและแบ่งปันผลผลิต ตามแรงและทุนที่ร่วมกันลงไป แรงงานเป็นเจ้าของทุนด้วยในขณะเดียวกัน ความอริวิวาทในระหว่างนายทุนกับแรงงานจะไม่มี ระบบนี้ยังให้ความยุติธรรมในการปันกําไรให้แก่แรงงานที่เป็นเจ้าของทุนด้วยตามความเหน็ดเหนื่อย

นอกจากนี้ในกรณีที่นายทุนขูดรีดไม่อยมแบ่งปันผลผลิตส่วนเกินให้แก่แรงงาน ฝ่ายแรงงานควรจัดตั้ง "สมาคมคนทำงาน" เพื่อใช้ต่อรองกับนายทุน เพราะแรงงานที่ร่วมกันย่อมมีกำลังมากที่ทำให้นายทุนต้องใส่ใจ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการนัดหยุดงาน

อย่างไรก็ตามการจำหน่ายเพยแพร่ ทรัพยศาสตร์ ไม่ได้ดำเนินการโดยง่าย เพราะฝ่ายราชการขณะนั้นได้ขอร้องผู้พิมพ์ไม่ให้เผยแพร่ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 รัฐบาลประกาศห้ามสอนลัทธิเศรษฐศาสตร์ ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมายอาญา

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์