สงครามฮากุสึคิโนเอะกับอวสานสามก๊กเกาหลี


สงครามฮากุสึคิโนเอะกับอวสานสามก๊กเกาหลี

ยุทธการแบคกัง หรือในชื่อญี่ปุ่นว่า สงครามฮากุสึคิโนเอะ ส่วนในจีนเรียก ศึกไป่เจียง เป็นการรบระหว่างพันธมิตรแพคเจและอาณาจักรยามาโตะแห่งญี่ปุ่นกับพันธมิตรซิลลาและราชวงศ์ถังของจีน สมรภูมินี้เกิดขึ้นที่แม่น้ำกึม มณฑลจอลลาบุคโด ประเทศเกาหลี 1,500 ปีก่อน คาบสมุทรเกาหลีแบ่งเป็นสามอาณาจักรหรือสามก๊กกับอีกหนึ่งแคว้น คือ โกคูรยอ แพคเจ ซิลลาและแคว้นกายะ ทั้งสามอาณาจักรทำสงครามชิงความเป็นใหญ่กันมานับร้อยปี อย่างไรก็ตาม ทั้งสามก็ไม่ได้เป็นศัตรูกันถาวร บางครั้งสองในสามอาณาจักรจะร่วมมือกันทำสงครามกับอีกอาณาจักร

    โกคูรยอเป็นอาณาจักรใหญ่ที่สุดและมีอาณาเขตติดกับจีน นับแต่ปฐมกษัตริย์จูมง ขับไล่กองทัพราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีนไปจากคาบสมุทรเกาหลี โกคูรยอก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนมาแทบตลอด โดยนอกจากทำศึกกับราชวงศ์ฮั่นแล้ว โกคูรยอยังทำศึกกับอาณาจักรเว่ย(วุย)ในยุคสามก๊ก แคว้นเอียนในยุคสิบหกแคว้น ต่อมาถึงยุคราชวงศ์เหนือใต้ จนถึงยุคราชวงศ์สุย ซึ่งแม้ผลัดแพ้ผลัดชนะ แต่ก็ไม่เคยมีราชวงศ์หรืออาณาจักรใดของจีนสามารถพิชิตโกคูรยอได้ ค.ศ.620 ซิลลาทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ถังของจีนซึ่งเพิ่งสถาปนาขึ้นไม่นาน ต่อมาในรัชสมัยของจักรพรรดิองค์ที่สอง คือถังไท่จง พระองค์ได้ทราบว่า เกิดความวุ่นวายในโกคูรยอ เนื่องจากแม่ทัพ ยอน แกโซมุน ใช้อิทธิพลควบคุมกษัตริย์และราชสำนัก ถังไท่จงจึงใช้เป็นโอกาสยกทัพไปตีโกคูรยอ ทว่ายอนแกโซมุนสามารถต้านทานได้อย่างเข้มแข็งจนทัพต้าถังต้องปราชัยกลับมา 


ก่อนสิ้นรัชกาล ถังไท่จงได้ยกทัพไปตีโกคูรยออีกครั้ง แต่ก็ยังไม่อาจเอาชัยได้ จนมาถึงรัชสมัยของจักรพรรดิองต่อมา คือ ถังเกาจง (พระสวามีของจักรพรรดินีหวูเจ๋อเทียนหรือบูเช็กเทียน) จีนได้บุกโกคูรยออีก แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ซึ่งทุกครั้ง ทัพจีนจะบุกจากทางเหนือ จนหลังล้มเหลวหลายครั้ง

จีนจึงกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ เป็นเข้าตีโกคูรยอพร้อมกันจากเหนือและใต้ โดยทางใต้จะอาศัยกำลังพลจากซิลลาที่เป็นพันธมิตร อย่างไรก็ตาม การดำเนินแผนนี้ ราชวงศ์ถังและซิลลาจำเป็นต้องกำจัดแพคเจเสียก่อน เพื่อไม่ให้มาเป็นพันธมิตรของโกคูรยอและจะได้ตั้งฐานทัพสำหรับแนวรบที่สองในภาคใต้ด้วย
ค.ศ.660 หลังพิชิตแคว้นกายะ กษัติย์มุนมูแห่งซิลลาได้ร่วมมือกับต้าถัง เปิดศึกพิชิตแพคเจ โดยให้กองทัพพันธมิตร ถัง-ซิลลา

 ซึ่งมีรี้พลร่วมสองแสนนายเข้าตีแพคเจและยึดซาบี เมืองหลวงแพคเจ จับตัวพระเจ้าอุยจา กษัตริย์องค์สุดท้ายของแพคเจและพระราชวงศ์เกือบทั้งหมดได้ แต่ไม่นาน ประชาชนทางภาคเหนือของแพคเจก็ก่อกบฏต่อต้านต้าถังกับซิลลา
โดยแม่ทัพแพคเจ ชื่อ บ็อคซิน ได้รวมไพร่พลและพยายามยึดเมืองทั้งสี่สิบเมืองกลับคืน ทั้งอัญเชิญเจ้าชายบูโยปังซึ่งประทับที่ญี่ปุ่น มาเป็นประมุขกองกำลังกู้ชาติและสถาปนาเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของแพคเจ

แม้กองกำลังกู้ชาติจะประสบความสำเร็จในการต่อต้านกองทัพถังและซิลลา ทว่าในปี ค.ศ.662 ก็เกิดขัดแย้งภายใน อีกทั้งเมืองหลวงใหม่ที่ป้อมชูริวก็ถูกข้าศึกปิดล้อมและในระหว่างนั้นเอง แม่ทัพบ็อคซินก็ถูกสังหาร แม้สถานการณ์ดูสิ้นหวัง แต่แพคเจก็ยังมีพันธมิตรอยู่ นั่นคือ อาณาจักรยามาโตะแห่งญี่ปุ่น ซึ่งนับแต่อดีต แพคเจและยามาโตะมีสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานนับร้อยปีและราชวงศ์สองฝ่ายยังผูกพันทางสายเลือดด้วย โดยชาวญี่ปุ่นเรียกแพคเจ ว่า คุดาระ ซึ่งการล่มสลายของซาบี ใน ค.ศ.660 ทำให้ราชสำนักยามาโตะตระหนกตกใจเป็นอันมาก

สงครามฮากุสึคิโนเอะกับอวสานสามก๊กเกาหลี

พระจักรพรรดินีไซเมอิและยุพราชนากาโนะโอเอะ(ซึ่งต่อมาคือ จักรพรรดิเทนจิ)ตัดสินพระทัยส่งกองทัพไปช่วยเหลือแพคเจฟื้นฟูอาณาจักร โดยทรงให้ อาเบะโนะฮิราฟุ เป็นแม่ทัพนำทหาร 42,000 นาย ไปยังคาบสมุทรเกาหลี

ในการส่งกองทัพเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ครั้งนี้ จักรพรรดินีไซเมอิทรงย้ายเมืองหลวงเป็นการชั่วคราวไปที่อาซาคุระ ซึ่งอยู่ใกล้กับท่าเรือ ในภาคเหนือของเกาะคิวชู เพื่อควบคุมการเคลื่อนพล ทว่าหลังกองทหารยามาโตะชุดสุดท้ายเคลื่อนพลไป พระนางก็สวรรคต องค์ยุพราชนากาโนะได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเทนจิ สิงหาคม ปี ค.ศ.661 แม่ทัพอาเบะโนะฮิราฟุนำเรือรบ 170 ลำและทหาร 5,000 นาย มาถึงเขตควบคุมของ กองกำลังกู้ชาติแพคเจ ก่อนที่ทหารญี่ปุ่น 27,000 นาย ที่นำโดยคามิสึเคโนะโนะคิมิวะคะโคและกองทหารอีกหนึ่งหมื่นนายที่นำโดยโอฮาระโนะคิมิ จะมาถึงในต้นปี ค.ศ.662

   ค.ศ.663กองทัพเรือพันธมิตรแพคเจและยามาโตะได้เคลื่อนพลเข้าสู่ภาคใต้ของแพคเจเพื่อทำลายการปิดล้อมป้อมชูริวของกองทัพซิลลา กองเรือยามาโตะส่งทหารราบขึ้นบกเข้าสู่ป้อมชูริวใกล้แม่น้ำกึม(Geum) และสลายการปิดล้อมของข้าศึกได้ ทว่ากองทัพถังได้ส่งทหาร 7,000 นายพร้อมเรือรบ 170 ลำ นำโดยแม่ทัพหลิวเหรินกุ้ย เข้าสกัดกองหนุนของยามาโตะ

แม้ทัพยามาโตะจะมีกำลังพลมากกว่า แต่การที่แม่น้ำช่วงนั้นแคบ ทำให้กองเรือต้าถังสามารถรักษาที่มั่นของตนไว้ได้ ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ยกพลเข้าตีถีงสามครั้งแต่ก็ต้องล่าถอยออกมาทุกครั้งจนเริ่มอ่อนกำลังกองทัพถังฉวยโอกาสข้าศึกอ่อนแรง รุกกลับฉับพลันและทำลายเรือรบญี่ปุ่นไปเป็นอันมาก ทหารยามาโตะจำนวนมากจมน้ำตายและถูกสังหารด้วยอาวุธ นายทัพยามาโตะ นาม อิชิโนะตาคุสึ ถูกทหารจีนรุมสังหารสิ้นชีพในสนามรบ

สงครามฮากุสึคิโนเอะกับอวสานสามก๊กเกาหลี

การรบครั้งนี้ ญี่ปุ่นสูญเสียเรือรบ 400 ลำ และทหารกว่าหนึ่งหมื่นนาย ในเวลาเดียวกัน ซิลลาก็ส่งทัพม้าเข้าตีทัพแพคเจที่รอกองหนุนจากทัพเรือยามาโตะจนแตกพ่ายและกองทัพซิลลาก็ยึดป้อมชูริวได้สำเร็จในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.663 กษัตริย์บูโยปังลงเรือพร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่งหลบหนีไปโกคูรยอ

สงครามฮาคุสึคิโนเอะเป็นความพ่ายแพ้ในการรบนอกประเทศ ครั้งใหญ่ครั้งแรกของญี่ปุ่นในยุคโบราณ โดยนอกจากสูญเสียกำลังพลจำนวนมากแล้ว ยังเสียที่มั่นและพันธมิตรสำคัญบนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกด้วย ส่วนอาณาจักรแพคเจนั้น ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ได้ดับความหวังทั้งหมดที่จะฟื้นฟูอาณาจักรอีกครั้ง ชาวแพคเจจำนวนมากได้ลี้ภัยไปอยู่ในโกคูรยอและบางส่วนก็ข้ามไปญี่ปุ่น

สำหรับราชวงศ์ถัง ชัยชนะเหนืออาณาจักรแพคเจทำให้สามารถเข้าคุมพื้นที่ของแพคเจและสร้างฐานทัพทางตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรเกาหลีเพื่อประสานกับซิลลาในการโจมตีโกคูรยอ

ขณะทัพซิลลา-ต้าถัง มีชัยเหนือแพคเจและยามาโตะนั้น ทางโกคูรยอก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก ยอนแกโซมุนได้สิ้นชีวิตลง บุตรชายทั้งสองของเขาเกิดความขัดแย้งกัน จนทำโกคูรยออ่อนแอลง เมื่อต้าถังทราบเรื่อง จึงถือเป็นโอกาสเผด็จศึก โดยส่งแม่ทัพเซี่ยเหรินกุ้ย(ซิยิ่นกุ้ย)คุมทัพร่วมกับกองทัพซิลลาที่นำโดย แม่ทัพคิมยูซิน เข้าตีโกคูรยอ ทัพพันธมิตรซิลลา-ต้าถังเข้ายึด พยองยัง(เปียงยาง) เมืองหลวงโกคูรยอได้ในปี ค.ศ.668 จักรพรรดิถังเกาจงทรงให้ เซี่ยเหรินกุ้ยเป็นข้าหลวงใหญ่ ควบคุมดินแดนโกคูรยอ

ทว่าในปีที่โกคูรยอล่มสลาย พันธมิตรระหว่างราชวงศ์ถังกับซิลลาก็สิ้นสุดและเกิดขัดแย้งจนเป็นสงคราม แม้สุดท้าย ซิลลาจะขับไล่ทหารจีนออกจากคาบสมุทรได้ ทว่าดินแดนโกคูรยอส่วนที่อยู่เหนือคาบสมุทรเกาหลีก็ถูกผนวกเข้ากับจีน ซึ่งในเวลาต่อมา ได้แยกตัว ตั้งเป็นอาณาจักรชื่อ บัลแฮ ส่วนซิลลาได้ครอบครองส่วนที่เป็นคาบสมุทรทั้งหมดและถือเป็นการปิดฉากยุคสามก๊กแห่งเกาหลี

สงครามฮากุสึคิโนเอะกับอวสานสามก๊กเกาหลี


สงครามฮากุสึคิโนเอะกับอวสานสามก๊กเกาหลี


สงครามฮากุสึคิโนเอะกับอวสานสามก๊กเกาหลี

เครดิตแหล่งข้อมูล : ประวัติศาสตร์สโมสร

สงครามฮากุสึคิโนเอะกับอวสานสามก๊กเกาหลี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์