ภาพ 100 ปีก่อน บ่อนเต็มกรุงเทพ ‘ดื่นลูกตานับไม่ถ้วน’ คนติดหนัก กลางคืนไม่นอน
แท้จริงแล้วบ่อนจะมีหรือไม่ใน พ.ศ.2563 คนไทยรู้คำตอบอยู่ในใจ ไม่ต้องถามใครอื่น
ส่วนเมื่อย้อนไปเมื่อนับร้อยปีก่อน การพนันหลากรูปแบบก็ฮิตมากในสยาม ดังที่ ‘วีรยุทธ ปีสาลี' ค้นคว้าไว้อย่างละเอียด เผยแพร่ในหนังสือ ‘กรุงเทพฯ ยามราตรี' โดยสำนักพิมพ์มติชน ระบุว่า นอกเหนือจากการนอนแล้ว กิจกรรมยามค่ำคืนในบ้านของชาวพระนคร คือการเล่นพนันที่นับเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะไพ่ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุโรปยุคกลางก่อนมีไฟฟ้าใช้เสียอีก ส่วนอังกฤษก็ฮิตมากในกลุ่มคนมั่งคั่ง ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1820
ส่วนในกรุงเทพฯ มีหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 คนชั้นสูงนิยมมาก รวมถึงมีการเล่นไพ่ในหมู่แขกเหรื่อตะวันตกในวงอาหารค่ำ
ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 การเล่นไพ่ ยังฮิตต่อเนื่อง ทั้งบ้านเรือน สโมสรและสมาคมต่างๆ โดยเฉพาะหลังจากภาครัฐยกเลิก ‘บ่อนเบี้ย' ถาวรในพ.ศ.2460 คนกรุงเทพฯ เลยเปลี่ยนมาเล่นไพ่แทน
หนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เขียนถึงปรากฏการณ์นี้ว่า
"ตั้งแต่หวยแลบ่อนเบี้ยได้เลิกมาแล้ว มีผู้ที่ชอบเล่นการพนันพากันติดบ่อนไพ่ ตั้งแต่เล่นตามห้องแถวตลอดทั่วไป ทุกถนนหนทาง ที่สุดจนบ้านเรือนราษฎร ตามตรอกซอกถนนทั่วไป จนดื่นลูกตานับไม่ถ้วน"
นอกจากนี้ ยังปรากฏข่าวว่า
"ที่บ้านผู้มีบรรดาศักดิ์ผู้หนึ่งอยู่แถวโรงพยาบาลศิริราชได้ลักติดบ่อนไพ่อยู่เสมอ ทั้งกลางวันกลางคืน ภรรยาของท่านเป็นหัวหน้าพวกผู้หญิงลูกเมียชาวบ้านพากันเข้าไปเล่น เกิดเป็นหนี้สินให้ผัวเมียแถวนั้นวิวาทกันบ่อยๆ"
ทั้งนี้ เมื่อรัฐพยายามยกเลิกการออกใบอนุญาตเล่นไพ่ในยามค่ำคืน ได้มีข้อโต้แย้งว่า ไม่ควรยกเลิก เพราะไม่เห็นเป็นโทษ แต่เป็นการรวมญาติมิตร แถมยังช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ขายของยามค่ำคืนมีรายได้ ไม่ว่าจะเป็น เจ๊กขายข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด ขนมจีน ข้าวแกง เจ๊กขายน้ำแข็ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในวงพนันขันต่อ ยังเป็นวง ‘นินทา' และปรับทุกข์ จนถูกเรียกเสียดสีว่าเป็น ‘นินทาสโมสร' อีกด้วย