“ฝิ่น” หมัดเด็ดที่อังกฤษใช้แก้ลำจีนที่กีดกันการค้า และยึดเมืองจีน


“ฝิ่น” หมัดเด็ดที่อังกฤษใช้แก้ลำจีนที่กีดกันการค้า และยึดเมืองจีน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 18 เป็นมูลเหตุที่ผลักดันให้อังกฤษเกิดความทะเยอทะยานที่จะเป็นเจ้าโลก และหันมาสะสมอาณานิคม ขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมสร้างความได้เปรียบเชิงการผลิตแก่อังกฤษด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

ทว่าความเจริญทางอุตสาหกรรมก็ทำให้อังกฤษต้องการแหล่งระบายสินค้าใหม่ และทรัพยากรสำหรับเป็นวัตถุดิบที่จำเป็น ทวีปเอเชียจึงเป็นพื้นที่เป้าหมาย โดยมีอินเดีย ตัวอย่างความภาคภูมิใจของอังกฤษ ทั้งการเมือง การค้าของอินเดียถูกอังกฤษครอบงำใน ค.ศ. 1818 เป็นเมืองขึ้นแห่งแรกในเอเชีย

หากอังกฤษพบเป้าหมายที่ ท้าทาย กว่าอย่าง จีน พี่ใหญ่ในภูมิภาค แต่ปัญหาที่อังกฤษต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นการกีดการค้า, การขาดดุลการค้ากับจีน, การขับไล่บาทหลวงนิกายเจซูอิตที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ฯลฯ ก่อนที่จะจบลงด้วยฝิ่น เครื่องมือทรงพลังที่ได้ผล ซึ่ง ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ใน ฉากหลัง เซอร์จอห์น เบาริ่ง ตอนที่ 1 แผนยึดเมืองจีน โดยใช้ฝิ่นครอบงำ ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2553 แต่ในที่นี้ขอนำมาเสนอเพียงบางดังนี้

ที่ผ่านมา การติดต่อระหว่างอังกฤษกับจีนไม่ได้เป็นการติดต่อเจริญทางพระราชไมตรีกับทางราชสํานักทั่วไปตามปกติเหมือนการติดต่อระหว่างประเทศเอกราชทั้งหลายที่มีกษัตริย์เป็นประมุข แต่เป็นการติดต่อทางการค้าระหว่างนายหน้า (ยี่ปั๊วหรือพ่อค้าคนกลาง) ของทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายจีนตั้งหน่วยงานทางราชการ เป็นสํานักงานกลาง ผูกขาดตัดตอนทางการค้าขึ้น (ในสยามเรียกกรมพระคลังสินค้า - ผู้เขียน) ส่วนฝ่ายอังกฤษ ก็ใช้บริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) ซึ่งรัฐบาลอังกฤษตั้งขึ้นไว้ค้าขายกับอินเดีย ตั้งแต่ ค.ศ. 1600 ให้มาค้าขายกับจีนด้วย

เรียกได้ว่าทั้งจีนและอังกฤษก็ตั้งหน้าแต่จะทําการค้า กันโดยไม่พะวงถึงการพระราชไมตรีของราชสํานัก หมายถึงไม่มีจุดศูนย์กลาง คือกษัตริย์ของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นตัวเชื่อม ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีและเกรงใจกัน ดังนั้น การติดต่อที่มุ่งเน้นไปที่ความได้เปรียบเสียเปรียบเป็นสําคัญจึงนําไปสู่ความขัดแย้งได้โดยง่าย หากการจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัวจนเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นที่มาของความไม่ไว้ใจกันในที่สุด

และเนื่องจากการค้าของชาวยุโรปกับจีนจํากัดอยู่เฉพาะที่กวางตุ้ง จึงเกิดระบบการค้าที่รู้จักกันว่า ระบบกว่างโจว (Canton System) ซึ่งจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ทรงมอบหมายให้พวกเจ้าหน้าที่จีนที่เรียกว่า พวกฮอปโป (Hoppo) มีหน้าที่ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เก็บภาษี ท่าเรือ ฯลฯ เป็นผู้ดูแลการค้าขายกับพ่อค้าต่างชาติโดยเคร่งครัด โดยการกําหนดให้ชาวต่างชาติมาค้าที่กวางตุ้ง ในฤดูหนาวเท่านั้น ถ้ามาในฤดูอื่นให้จอดเรือรอคอยอยู่ที่มาเก๊า (Macao) ก่อน เมื่อมาถึงเมืองกวางตุ้ง ก็กําหนด ให้พักอยู่นอกเมืองด้านตะวันตกเฉียงใต้ที่มีโรงงานขนาดย่อมตั้งอยู่ 13 แห่ง และไม่อนุญาตให้พ่อค้าต่างชาติเข้ามาในกําแพงเมือง

พ่อค้าต่างชาติติดต่อค้าขายได้กับกลุ่มพ่อค้าจีนสิบกว่าคนที่เรียกว่า พวกโคฮง (Cohong) พวกเหล่านี้คือ กลุ่มพ่อค้าจีนมีหน้าที่ดูแลการค้ากับต่างชาติในนามของรัฐบาลจีน ตําแหน่งหัวหน้ากลุ่มพ่อค้าจีนนี้ เรียกว่า หัวกัว (Howguo) พ่อค้าต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับข้าราชการอื่นๆ ด้วย หากพ่อค้าต่างชาติตั้งผู้แทนเข้าไปก็ต้องผ่านโคฮงผู้ผูกขาดการติดต่อค้าขาย ของจีนกับต่างประเทศเสียก่อน ข้าราชการจีนก็ต้องฟังความคิดเห็นและเชื่อตามข้อเสนอของพวกโคฮง

รัฐบาลจีนจัดตั้งโคฮง ขึ้นที่เมืองกวางตุ้งก่อน แต่พอถึง ค.ศ. 1759 ก็ไม่อนุญาตให้พ่อค้ายุโรปค้าขายที่เมืองอื่นๆ นอกจากกวางตุ้งเท่านั้น ทั้งเริ่มวางกฎที่เข้ม งวดควบคุมความประพฤติและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยุโรป เช่น บังคับให้คนต่างชาติพักอาศัยได้เฉพาะในเขตพิเศษของตัวเมืองเท่านั้นและจะไม่ออก ใบอนุญาตให้ชาวต่างชาติพักอยู่นานเกินกว่าเมื่อติดต่อการค้าสําเร็จลงแล้ว การกระทําของจีนเช่นนี้ทําให้ชาวต่างชาติออกมาประท้วง แต่ทางการก็ไม่ยอมรับฟังใดๆ ชาวต่างชาติจึงหาทางออกกันเองโดยเมื่อค้า ขายเสร็จก็จะหลบออกไปพักอยู่ที่มาเก๊าซึ่งเป็นเขตของโปรตุเกสแทน

แต่ความต้องการสินค้าจีนในตลาดโลกก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สินค้าจําพวกผ้าไหมจีนและเครื่องถ้วยชาม กระเบื้องเคลือบ หรือกังไส เป็นที่นิยมในยุโรปและเป็นแฟชั่นของสะสมตามพระราชวังต่างๆ ดังนั้น ถึงแม้ว่าทางการจีนจะไม่เต็มใจค้าขายกับชาวต่างชาติ แต่สินค้าจีนก็ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดยุโรป ทําให้ชาวจีนเกิดความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง คิดว่าวิธีทําการค้าของตน นั้นฉลาดรอบคอบแล้ว และในระยะนี้เองจีนก็มีสินค้าตัวใหม่ซึ่งชาวต่างประเทศกําลังต้องการและทํากําไรให้กับจีนได้มาก นั่นคือ ใบชา ในระยะคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดมีความต้องการใบชาในประเทศอังกฤษเป็นการใหญ่ เพราะเกิดมีความนิยมดื่มชากันแทนที่การดื่มสุรา ซึ่งเคยนิยมกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ใน ค.ศ. 1684 พ่อค้าอังกฤษลองนําใบชาเพียง 5 หีบ ไปทดลองความนิยมของตลาด ครั้นถึง ค.ศ. 1720 ปรากฏว่าต้องนําเข้าใบชาเข้าไปในประเทศอังกฤษถึง 4 แสนปอนด์ พวกผู้ดีอังกฤษก็ทดลองปรุงใบชาแบบต่างๆ เช่น เอาใส่เครื่องเทศด้วย หรือไม่ก็เอาใบชาจากศรีลังกา ไปผสมกับใบชาจากจีน ฯลฯ พวกสมาคมในอังกฤษ สนใจดื่มน้ำชากันจนกลายเป็นการแสดงออกถึงรสนิยม ในสังคม พอถึง ค.ศ. 1800 อังกฤษก็ต้องนําเข้าใบชาจากจีนถึง 23 ล้านปอนด์ จีนได้เงินเข้าคลังจากการขาย ใบชาให้อังกฤษไม่น้อยเลย มีสถิติบันทึกไว้ว่าในทศวรรษ 1780 จีนได้เงินแท่งเป็นจํานวนถึง 16 ล้านออนซ์ จากการขายใบชา ตัวเลขนี้ไม่น่าจะทําความชื่นชมให้อังกฤษ เพราะปรากฏว่าจีนไม่ได้ซื้อสินค้าที่เป็นชิ้นเป็นอันจากอังกฤษ สินค้าประเภทอุปโภคบริโภคนั้นจีนก็ซื้อไม่ได้อยู่แล้ว เพราะประชากรของจีนไม่มีเงินทองมากพอที่จะซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ นอกจากนั้นชาวยุโรปยัง มีความรู้สึกว่าจักรพรรดิจีนทรงกีดกันการเผยแผ่คริสต์ศาสนาของชาวตะวันตก โดยเฉพาะภายหลังที่บรรดา บาทหลวงนิกายเจซูอิตถูกขับไล่ออกนอกประเทศ ความรู้สึกกดดันสร้างความระหองระแหงมากขึ้นกลายเป็นการดูถูกเหยียดหยามต่อคนต่างชาติต่างศาสนา

คนอังกฤษซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นชาติที่กระทบกระเทือนที่สุด เพราะนอกจากจะรู้สึกเสียเปรียบจีนในกฎเกณฑ์ที่รัดตัวแล้ว ยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปค้าขายโดยสะดวก พ่อค้าอังกฤษต้องการหาวิธีให้จีนซื้อสินค้าอังกฤษมากขึ้น โดยให้จีนเปิดเมืองท่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแหล่งผลิตใบชา อังกฤษดูถูกจีนว่ายังล้าหลัง ในเรื่องการแสดงยศศักดิ์ และบ้าอํานาจโดยเฉพาะวิธีเรียก ร้องให้ต่างชาติทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชบรรณาการถ้าต้องการติดต่อกับจีน ก็ต้องแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนให้เห็น หรือที่เรียก "จิ้มก้อง" ให้เปลี่ยนมาเป็นการรับรอง แบบให้เกียรติกัน โดยวิธีการเจรจาการค้าและแลกเปลี่ยน ราชทูตหรือสนธิสัญญาการค้าตามแบบประเทศที่มีเกียรติ ทัดเทียมกัน แต่ดูจีนจะไม่ค่อยสนใจนัก

ใน ค.ศ. 1893 รัฐบาลอังกฤษส่ง ลอร์ดแมคาร์ตนีย์ (Lord Macartney) ไปประเทศจีนเพื่อเจรจาขออนุญาต ให้เรือสินค้าอังกฤษมาค้าได้ในท่าเรืออื่นๆ นอกเหนือ จากที่กวางตุ้ง และขอให้จัดระบบภาษีใหม่ ให้ลดอัตราภาษี และเลิกเก็บภาษีรวมแบบ ขูดรีด ดังที่เคยปฏิบัติมา นอกจากนั้นลอร์ดแมคาร์ตนีย์ยังนําผลิตผลต่างๆ จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษมาโฆษณาหาตลาด ด้วย แต่ลอร์ดแมคาร์ตนีย์ก็ไม่ประสบผลสําเร็จทั้งการเจรจา และการหาตลาด จักรพรรดิเฉียนหลง (Qianlong) ทรงพระชราแล้ว ไม่โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการค้า ของจีนที่เป็นอยู่และไม่ทรงสนพระทัยกับตัวอย่างผลิตผล จากโรงงานอุตสาหกรรมของอังกฤษเลย

หลังจากลอร์ดแมคาร์ตนีย์กลับไปแล้ว ระบบกว่างโจวดําเนินต่อไปอีกเพียงไม่กี่ปีการค้าแบบเดิมของจีน ก็สิ้นสุดลงในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจีนเอง กล่าวคือ อังกฤษนําฝิ่นจากอินเดียเข้ามาขายในจีน ในระยะปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฝิ่นได้ถูกนําเข้าไปในประเทศจีนเพื่อประโยชน์ในการปรุงยารักษาโรค แต่ชาวจีนนิยมสูบฝิ่นและติดฝิ่นกันเป็นจํานวนมาก ทั้งที่ยังปลูกฝืนไม่เป็น อังกฤษเลยถือโอกาสนําฝิ่นที่อังกฤษให้ปลูกในอินเดีย แต่ห้ามขายในอินเดียมาขายในเมืองจีน เพื่อแก้ดุลการค้า ในทศวรรษ 1830อังกฤษขนฝิ่นจากอินเดียเป็นมูลค่าถึง 2 ใน 3 ของราคาสินค้าทั้งหมดที่อังกฤษนําเข้าจีน จีนจึงซื้อฝิ่นเข้าประเทศมากกว่าขาย สินค้าออก ดุลการค้าจึงเปลี่ยนไป เงินแท่งที่อังกฤษเคยขนเข้ามาซื้อสินค้าจีน อังกฤษกลับได้คืนไป เพราะจีนใช้ซื้อฝิ่นเข้าประเทศ ชาวจีนทุกหมู่เหล่าติดฝิ่นกันอย่างงอมแงม เข้าทางของอังกฤษที่ต้องการเปิดตลาดเสรีในจีนแบบไร้พรมแดน


คนอังกฤษ (นั่งซ้าย) สอนคนจีนให้ต้มฝิ่นดิบจนชาวจีนติดฝิ่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง (ภาพจาก THE BRITISH IN THE FAR EAST)

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com

“ฝิ่น” หมัดเด็ดที่อังกฤษใช้แก้ลำจีนที่กีดกันการค้า และยึดเมืองจีน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์