“พระนลคำหลวง” พระราชนิพนธ์ในร. 6 สู่ที่มานามปากกา “ทมยันตี”


“พระนลคำหลวง” พระราชนิพนธ์ในร. 6 สู่ที่มานามปากกา “ทมยันตี”

"ทมยันตี" เป็นที่คุ้นชื่อเป็นอย่างดีว่าเป็นนามปากกาของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักประพันธ์นวนิยายชื่อดังมากมาย ทั้งคู่กรรม, ทวิภพ, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, เลือดขัตติยา ฯลฯ และยังเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ. 2555

นามปากกา "ทมยันตี" เป็นหนึ่งในหลายนามปากกาของคุณหญิงวิมลที่ใช้ในผลงานประพันธ์ สำหรับนามปากกาดังกล่าวนี้มีที่มาจากชื่อ "นางทมยันตี" นางในวรรณคดีเรื่อง "พระนลคำหลวง" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระนลคำหลวงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2456 แล้วเสร็จในวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ทรงตรวจแก้ไขและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2459 [1] พระนลคำหลวงได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดแห่งกวีนิพนธ์ มีลักษณะเป็นหนังสือดีมีคุณวิเศษณ์บริบูรณ์ คือ 1) เป็นหนังสือดีกล่าวคือ เป็นเรื่องราวที่สมควรซึ่งสาธารณชนจะอ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์ คือเป็นเรื่องสุภาษิต และ 2) เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใด ๆ ก็ตาม แต่ต้องให้เป็นภาษาไทยอันดีถูกต้องตามเยี่ยงที่ใช้ในโบราณกาลหรือไม่ปัตยุบันกาลก็ได้

พระนลคำหลวงเป็นนิทานแทรกอยู่ในมหาภารตะ แต่งขึ้นโดยมุนีกฤษณไทวปายน (บ้างว่าชื่อพระฤาษีพฺฤหทัศวะ) ชื่อเรื่องดั้งเดิมคือ "นโลปาขยานัม" ต่อมา เซอร์โมเนียร์ โมเนียร์ วิลเลียมส์ ได้แปลความจากต้นฉบับจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาอังกฤษ และรัชกาลที่ 6 ทรงใช้ฉบับภาษาอังกฤษนี้พระราชนิพนธ์เป็นวรรณกรรมคำหลวง แต่ทรงตรวจทานกับฉบับภาษาสันสกฤตเพื่อความถูกต้องแม่นยำด้วย

เนื้อเรื่องของพระนลคำหลวงกล่าวถึง พระนล พระมหากษัตริย์เมืองนิษัท มีนางทมยันตี แห่งแคว้นวิทรรภ เป็นมเหสี กลี (ชื่อผีร้ายหรือผีการพนันตามคติของพราหมณ์-พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2554)​ เข้าสิงพระนลทำให้ลุ่มหลงการพนัน และแพ้พนันสกา (เครื่องเล่นการพนันอย่างหนึ่งใช้ลูกบาศก์ทอดแล้วเดินตัวสกาตามแต้มลูกบาศก์-พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2554) ท้าวบุษกรพระอนุชาจนเสียทรัพย์สินและบ้านเมืองทั้งหมด ทำให้พระนลและนางทมยันตีต้องออกจากบ้านเมือง เดินป่าและได้รับความทุกข์ยากลำบาก

ต่อมากลีแกล้งให้ทั้งสองพลัดพรากจากกัน นางทมยันตีต้องเดินทางติดตามหาพระนลด้วยความอดทน ฝ่ายพระนลได้ช่วยพญานาค ๆ พ่นพิษทำให้พระนลกลายเป็นวาทุกคนอัปลักษณ์ แต่มีฤทธิ์ทำให้กลีไม่สามารถสิงพระองค์ได้ พระนลเรียนวิชาสกากับท้าวฤตุบรรณ และเมื่อผ่านความลำบากและอุปสรรคต่าง ๆ พระนลกลับเมืองท้าเล่นสกาได้บ้านเมืองคืนมา พระนลและนางทมยันตีพบกันและกลับมาครองเมืองอย่างมีความสุขดังเดิม

วิสุทธ์ บุษยกุล ผู้ศึกษาเรื่องนโลปาขยานัม ต้นเค้าของเรื่องพระนลคำหลวง สรุปว่าเรื่องนโลปาขยานัมแสดงถึงความสำคัญของความรักและความซื่อสัตย์ มีการพรรณนาถึงความรู้สึกอันเกิดจากการพลัดพราก ความทุกข์ทรมาน ความเป็นห่วง ความเสียสละ ความหวาดระแวง ความรู้สึกสำนึกผิด ความเข้าใจซึ่งกันและกัน การให้อภัย ซึ่งเรื่องนี้ให้รสวรรณคดีได้อย่างซาบซึ้ง เท่าเทียมกับวรรณคดีสันสกฤตเรื่องอื่น ๆ

รัชกาลที่ 6 ได้ทรงนำเสนอแนวคิดหลักของเรื่องตามแนวคิดเดิมคือ การฟันฝ่าอุปสรรค และมีความบากบั่นพยายามเพื่อความสำเร็จ แต่ตัวละครที่ยิ่งใหญ่เกิดความผิดพลาดในชีวิต คือมีลักษณะเป็นเรื่องของผู้ยิ่งใหญ่ที่ผิดพลาด เหมือนขนบของโศกนาฏกรรม ที่ผู้ยิ่งใหญ่คือ กษัตริย์ได้รับความสุขและความรักจากการได้นางทมยันตีเป็นมเหสี ต่อมาเสียสิ่งที่ยิ่งใหญ่คือศักดิ์ศรี บ้านเมือง และความรัก การได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัส และการกลับใจต่อสู้เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีและความรักกลับคืนมาดังเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ต้องเผชิญเพื่อพิสูจน์ตนเอง นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ยังทรงเสนอคุณธรรมของนางทมยันตีในด้านความซื่อสัตย์ในฐานะภรรยาที่มั่นคงต่อสามีอีกด้วย

ในเรื่องพระนลคำหลวงอธิบายความงานของนางทมยันตีไว้ว่า ฝ่ายนางทมยันตี มีโฉมเฉิดเลิศโสภา พร้อมสง่าบริบูรณยศ สำรวยสดสิริวิลาศ ในโลกธาตุทั่วไป ไม่มีเสมอเสาวภาคย์ นารีนาคเอวกลมกล่อม ย่อมปรากฎยศฤๅชา อันดวงสุดานั้นถับถึง ซึ่งชนมวัยอันแง่งาม

นางทมยันตีได้ชื่อว่าเป็นคน "จงรักภักดี บ่มีเสื่อมทราม" แม้ขณะที่พลัดพรากจากบ้านเมืองมาใช้ชีวิตอย่างลำบากก็คอยปรนนิบัติพระนลเป็นอย่างดี ครั้นจำต้องแยกจากพระนล นางก็ต้องออกเดินทางตามหาสวามีไปในป่า แม้ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เผชิญอันตรายมากมาย แต่ด้วยความห่วงหาอาลัยจึงพยายามตามหาพระนลอย่างถึงที่สุด

"หวลคิดจิตก็ โศก วิโยคผัวตัวอยู่ไกล ผิวพรรณอันผ่องใส ก็สลดหมดเลือดลง ๏ มีกรรมเจ้าจำจร จึ่งบังอรจรฝ่าดง โอ้เหนื่อยเมื่อยทั้งองค์ อีกมิหนำชํ้าอุรา ๏ เดินพลางทางครวญครํ่า รํ่าถึงพระภัสดา เดินย่างหว่างมรรคา ถึงฉายาอโศกไพร"

ในเรื่องจะเห็นได้ถึงน้ำจิตน้ำใจของนางทมยันตีอย่างมาก เป็นนางในวรรณคดีที่มีความเข็มแข็ง มานะบากบั่น เพียรพยายาม และทรหดอดทนไม่น้อยไปกว่าชายใด ดังในอธิบายในลักษณประพันธ์ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงอธิบายความหมายชื่อของนางทมยันตีว่าแปลว่า "ข่มชาย" คือให้ชายยำเกรงเพื่อเคารพในธรรมะแห่งนาง เปนนามแห่งธิดาท้าวภีมราช ผู้ได้เปนมเหษีพระนล ฯ

นี่คือที่มาของนามปากกา "ทมยันตี" จาก "นางทมยันตี" เรื่องพระนลคำหลวง นางผู้รัก ซื่อสัตย์ และมั่นคง ต่อสวามี

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์