“อับปาง” เป็นคำจากภาษาจีน? อ่านข้อสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน


“อับปาง” เป็นคำจากภาษาจีน? อ่านข้อสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน


"อับปาง"
แปลว่า ล่ม จม หรือแตก มักใช้แก่เรือเดินทะเล ในหนังสือ "บันทึกความรู้เรื่องต่าง ๆ เล่ม 4" พระยาอนุมานราชธน อธิบายว่าเป็นคำในภาษาจีน

เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีหนังสือถึงพระยาอนุมานราชธน ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ทรงถามถึงที่มาของคำว่า "อับปาง" ความว่า "...จะถามคำลางคำ อับปาง ใช้ในที่ว่าเรือแตกเรือเสีย เป็นภาษาอะไร ที่ใช้อย่างอื่นนึกไม่ออก..."

พระยาอนุมานราชธน มีหนังสือลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ตอบกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึงเรื่องดังกล่าวความว่า "...อับปาง อับเฉา สองคำนี้ เห็นจะไม่ใช่คำไทย เพราะเมื่อแยกแปลแต่ละคำ ก็ไม่ได้ความหมายไปในทางว่า เรือแตก เรือจม หรือเรื่องของหนักใช้ถ่วงเรือ อับปาง และ อับเฉา จะเกี่ยวกับเรื่องเรือเดินทะเล โดยเฉพาะเรือสำเภา เพราะฉะนั้น ควรจะเป็นคำมาจากภาษามลายู หรือภาษาจีน เมื่อได้ค้นดูในภาษามลายู ก็ยังไม่พบความหมายว่า อับปาง และ อับเฉา ในภาษามลายูใช้เป็นอีกอย่างหนึ่งไม่มีเค้าใกล้เคียงเข้ามา

ค้นดูในภาษาจีน พบแต่คำว่า โฉย ในภาษากวางตุ้ง แปลว่า บรรทุก ใกล้เข้ามาในคำว่า อับเฉา แต่คำจีนที่ออกเสียงว่า อับ อิบ หยับ หยิบ ให้มีความหมายไปในทางที่ต้องการก็ไม่พบ ข้าพระพุทธเจ้าจึงสอบถามคนจีนคนหนึ่ง เขาโทรศัพท์บอกว่า อับเฉา เป็นสำนวนในภาษากวางตุ้ง ใช้ว่า อับโสย ส่วน อับปาง ยังไม่ทราบ ข้าพระพุทธเจ้าขอให้เขาจดตัวจีนมาให้ดู เขารับปากแล้วต่อมาจนบัดนี้ ซึ่งล่วงมาได้ 2 วันแล้ว ก็ยังไม่ส่งมา ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่าเขาอาจบอกพลาดผิดก็ได้ จึงยังไม่ตอบมา..."

ต่อมา พระยาอนุมานราชธน มีหนังสืออีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 อธิบายที่มาของคำว่า "อับปาง" เอาไว้ความว่า "​...เมื่อข้าพระพุทธเจ้าถวายหนังสือลงวันที่ 7 ไปแล้ว พอรุ่งขึ้นในวันที่ 8 ผู้ที่เขารับปากไปสืบเรื่องคำว่า อับปาง และ อับเฉา มาหาข้าพระพุทธเจ้า และนำเอาตัวจีนมาให้ดู คือคำว่า อับปาง ในภาษาจีนเรียกว่า ฮอบป๊าง ฮอบ 合 เป็นเสียงชาวกวางตุ้ง ถ้าเป็นเสียงแต้จิ๋วก็เป็น ฮับ หรือ ฮะ ซึ่งเป็นคำที่มีดกดื่นอยู่ในชื่อคนและชื่อยี่ห้อ ฮะ แปลว่าปิดหรือหับ เข้ากัน รวมกัน ทั้งหมด ป๊าง 崩 แปลว่า แตก พัง ทำลาย ฮอบป๊าง ก็คือ แตกทำลายทั้งหมด เรืออับปาง ก็คือ เรือแตกจม สินค้าในเรือก็ศูนย์ คนในเรือก็ตาย เป็นเรื่องแตกหมด จมหมด ไม่มีอะไรเหลือ..."

หากคำว่า "อับปาง" มาจากภาษาจีนดังที่พระยาอนุมานราชธนอธิบายจริง นี่จึงเป็นอีกร่องรอยสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสยาม ว่าคนจีนมีบทบาทต่อการเดินเรือและการค้าสำเภาของสยามเป็นอย่างมาก




“อับปาง” เป็นคำจากภาษาจีน? อ่านข้อสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน


"พระมหาชนก" จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร จังหวัดสุพรรณบุรี

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์