ย้อนประวัติศาสตร์ ดราม่าแรก ในวงการนางงามสยาม


ย้อนประวัติศาสตร์ ดราม่าแรก ในวงการนางงามสยาม


    "การประกวดนางงาม"
ถือเป็นกิจกรรมบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจจึงเกิดเป็นกระแสข่าวอยู่เสมอ ในปัจจุบันพบว่าสังคมไทยมีเวทีการประกวดนางงามน้อยใหญ่เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ระดับตำบลจนไปถึงระดับชาติ บ้างก็เป็นนางสาวจังหวัดนั้น นางงามอำเภอนี้ หรือไม่ก็เป็นเทพีต่างๆ ตามแต่จะเรียกกัน

แต่ถึงอย่างไรเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการประกวดความงามแล้ว ก็ย่อมมีทั้งผู้สมหวังและผิดหวัง เพราะตำแหน่งสูงสุดมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สาวงามกว่าสิบกว่าร้อยคนต่างพากันแย่งชิง จึงนำไปสู่การแข่งขันที่ดุเดือด โดยสาวงามแต่ละคนจะสรรหาวิธีการต่างๆ เพื่อพิชิตใจคณะกรรมการให้มากที่สุด จนบางครั้งอาจนำมาซึ่งการไม่ยอมรับผลการตัดสินจากบรรดาผู้ชม หรือไม่ก็เป็นสาวงามผู้เข้าประกวดที่มองว่าการตัดสินไร้ซึ่งความยุติธรรม ถึงขนาดที่ว่ามีการออกมาแฉเบื้องหลังของกองประกวด

บางเวทีถึงกับกระชากมงกุฎขณะสวมใส่ให้กับผู้ชนะก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วบนเวทีประกวดนางงามระดับชาติ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นหากย้อนกลับไปเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ในการประกวดนางสาวสยามก็เกิดเหตุการณ์การประท้วงผลการตัดสินจากบรรดาผู้เข้าประกวดจนเป็นข่าวโด่งดังอย่างมากในสังคมยุคนั้น อาจเรียกได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปฐมบทของ "การประท้วง" ผลการตัดสินในวงการนางงามก็ว่าได้

ประกวด "นางสาวสยาม"

เป็นที่ทราบกันดีว่า "คณะราษฎร" เป็นผู้ปลุกกระแสการประกวดนางงามให้เป็นที่นิยมในสยาม อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ในระบอบประชาธิปไตยไปสู่ประชาชน จึงได้มีการริเริ่มให้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญทั่วทั้งประเทศ โดยใช้งานมหรสพและงานแสดงกิจกรรมจากส่วนราชการต่างๆ มาดึงดูดให้ประชาชนเที่ยวชมงาน เพื่อสอดแทรกความรู้ในระบอบปกครองใหม่ภายใต้กิจกรรมความบันเทิงควบคู่ไปด้วย

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการริเริ่มให้มีการประกวด "นางสาวสยาม" เกิดขึ้นครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพ ซึ่งในปีนั้นมีสาวงามผู้เป็นตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมการประกวดทั้งหมด 16 คน ผลการตัดสินปรากฏว่า นางสาวกันยา เทียนสว่าง ตัวแทนจากจังหวัดพระนครสามารถคว้าตำแหน่งนางสาวสยามไปครองได้สำเร็จ โดยเธอได้รับมงกุฎและถ้วยเกียรติยศ

นอกจากนี้เธอยังจะต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยชาติในด้านต่างๆ อาทิ การแสดงละครเวทีเพื่อสาธารณกุศล การออกงานเพื่อช่วยสมทบทุนหาเงินซื้ออาวุธให้กองทัพสยาม ตลอดจนการออกงานเพื่อเป็นเกียรติให้กับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน

"ดราม่าครั้งแรกในวงการนางงาม"

กิจกรรมการประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญดูเหมือนจะราบรื่นดีไม่เกิดปัญหาใดๆ อีกทั้งยังได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ มา แต่ทว่าในการประกวดนางสาวสยามในปี พ.ศ. 2479 เรื่องราวดราม่าก็ได้อุบัติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการนางงาม เพราะมีผู้เข้าประกวดนางงามรวม 4 คน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านผลการตัดสินโดยอ้างเหตุผลที่ว่า ผู้ชนะนางงามในปีนี้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากอายุไม่ถึงเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้

ที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่การประกวดนางงามประจำภาคที่ 4 ซึ่งจะทำการคัดเลือกสาวงามเฉพาะจังหวัดพระนครที่ผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย

ผลปรากฏว่า
นางสาววงเดือน ภูมิรัตน์ ส่งเข้าประกวดโดยหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์เป็นผู้ชนะนางงามภาคที่ 4 ท่ามกลางผู้เข้าประกวดที่ผ่านมาถึงรอบสุดท้ายอีก 4 คน ประกอบด้วย นางสาวเรียม แย้มบุญชู ตัวแทนจากอำเภอปทุมวัน, นางสาวจุลินทร์ ตนุลานนท์ ตัวแทนจากอำเภอลาดกระบัง, นางสาวชูศรี ณ นคร ตัวแทนจากอำเภอปทุมวัน และนางสาวสุณี สุ่นสวัสดิ์ ตัวแทนจากสาขาสมาคมรัฐธรรมนูญพระนคร

เมื่อได้นางงามประจำภาคครบทั้ง 4 ภาคแล้วก็จะทำการตัดสินผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวสยามอีกทีในคืนวันที่ 12 ธันวาคม โดยก่อนหน้านั้น ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมเรื่อยมาจะเป็นการประกวดนางงามในแต่ละภาคทั้ง 4 ภาค (ประกอบด้วย ภาคที่ 1 ประกวดนางงามจากภาคใต้และภาคกลาง, ภาคที่ 2 ประกวดนางงามจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคที่ 3 ประกวดนางงามธนบุรี และภาคที่ 4 ประกวดนางงามพระนคร)

สำหรับผู้ชนะในแต่ละภาคประจำปีนี้ได้แก่ ภาคที่ 1 นางสาวยินดี มกติ นางสาวนครศรีธรรมราช, ภาคที่ 2 นางสาวเจริญศรี ปาศะบุตร นางสาวชัยภูมิ, ภาคที่ 3 นางสาววิชิต สุนทราณู นางสาวธนบุรี และภาคที่ 4 นางสาววงเดือน ภูมิรัตน์ นางสาวพระนคร

นางสาววงเดือน สามารถเอาชนะนางงามในแต่ละภาคจนคว้าตำแหน่งนางสาวสยามคนที่ 3 ของประเทศมาครองได้สำเร็จ เรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่วันเริ่มมีกระแสข่าวลือถึงนางสาวสยามคนล่าสุดมีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ อันเป็นการผิดข้อบังคับของการประกวดนางงามในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดนางงามได้ถูกระบุไว้ดังนี้

*เป็นบุคคลมีสัญชาติไทย
*เป็นนางสาวและมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์
*มิใช่เป็นผู้ประกอบอาชีพ หรือมีความประพฤติชื่อเสียงเป็นที่รังเกียจในการสมาคมของสุภาพชน

จึงเป็นเหตุให้ในวันที่ 21 ธันวาคมปี พ.ศ. 2479 สาวงามทั้ง 4 คน ผู้เคยชิงตำแหน่งนางสาวพระนครกับนางสาววงเดือน (นางสาวเรียม แย้มบุญชู, นางสาวจุลินทร์ ตนุลานนท์, นางสาวชูศรี ณ นคร และนางสาวสุณี สุ่นสวัสดิ์) ยื่นหนังสือขอคัดค้านผลการตัดสินต่อหลวงเธียรประสิทธิ์สาร ณ สำนักงานผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขานุการของกองประกวดนางสาวสยาม และ พ.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ รัฐมนตรีฯ และประธานดำเนินงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2479 โดยมีสาระสำคัญดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ - กองบรรณาธิการ)

"ในการคัดค้านนี้มิได้มุ่งหมายต้องการแย่งชิงตำแหน่งนางสาวภาคหรือนางสาวสยามจาก นางสาววงเดือน ภูมิรัตน์เลย ผู้คัดค้านต้องการให้ผลการประกวดเป็นไปตามระเบียบที่กองประกวดนางงามวางไว้ การประกวดนางงามไม่ใช่งานที่จัดให้มีขึ้นคล้ายงานเล่นๆ เป็นงานที่เต็มไปด้วยเกียรติยศของชาติ...

ฉะนั้นเมื่อมีข่าวปรากฏว่า นางสาวสยามเกิดมีอายุไม่สมบูรณ์ตามระเบียบที่วางไว้ ก็จำเป็นต้องขอให้กองประกวดนางงามวินิจฉัยหาความจริง และเพื่อแสดงว่าผู้คัดค้านไม่ได้มุ่งหมายที่จะชิงตำแหน่งของนางสาววงเดือน ฉะนั้นต่อไปถึงหากจะปรากฏเป็นที่แน่นอนว่า อายุของนางสาววงเดือนไม่ครบ 15 ปี และจะให้มีการประกวดกันใหม่แล้ว นางงามผู้คัดค้านทั้ง 4 คน ก็ตั้งใจไว้ว่าจะไม่เข้าประกวด
"

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข่าวดังในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่หลายเดือน ซึ่งหลวงเธียรประสิทธิ์สารได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวต้องให้หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ประธานดำเนินงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2479 เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับที่ท่านติดราชการสำคัญ คือการตรวจสอบการฝึกภาคสนามของทหารราบในมณฑลทหารบกที่ 3 จึงทำให้การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวยืดเวลาออกไป ในระหว่างนี้บรรดาหนังสือพิมพ์ก็ต่างพากันประโคมข่าวโดยอ้างอิงข้อมูลและบทสัมภาษณ์จากทั้ง 2 ฝ่าย โดยใช้หลักเกณฑ์การนับอายุผู้เข้าประกวดจากวันสุดท้ายของการรับสมัคร คือ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 เป็นตัวกำหนด

ฝ่ายผู้คัดค้านได้อ้างอิงบัญชีสูติบัตรบัญชีแจ้งเกิดของเด็กหญิงกมล ชื่อเดิมของนางสาววงเดือนเมื่อคำนวณดูแล้ว เท่ากับว่านางสาววงเดือนจะมีอายุแค่ 14 กว่าปีเท่านั้น

ทางฝั่งของพระพิชัยบุริน เจ้าเมืองสมุทรสาคร ผู้เป็นบิดาของนางสาววงเดือนอ้างว่าตนมีบุตรชาย-หญิงรวมทั้งสิ้น 13 คน ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นหญิงได้คลอดในระยะเวลาติดๆ กัน คือ ปีละคน เมื่อปี พ.ศ. 2464 คลอดนางสาววงเดือน และใช้ให้คนในบ้านไปขึ้นทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า "แดง" พอปีต่อมาก็คลอดบุตรีอีกคนหนึ่งก็ลงทะเบียนชื่อ "แดง" เช่นเดียวกัน

ต่อมาจึงตั้งนามบุตรีทั้ง 2 คนซึ่งเป็นพี่น้องกัน คนพี่ชื่อ กมล ส่วนคนน้องชื่อ โฉมศรี ตอนหลังมีเจ้าหน้าที่ทางอำเภอมาสำรวจรายชื่อเพื่อเป็นฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์แล้วตนบอกสลับวันเดือนปีเกิดไขว้กัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิด

ย้อนประวัติศาสตร์ ดราม่าแรก ในวงการนางงามสยาม


ในขณะเดียวกัน เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างตัวสาวงามผู้เข้าประกวดเท่านั้น ซึ่งตอนนี้เรื่องดังกล่าวได้ลามไปเป็นการต่อสู้กันของบรรดาหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เนื่องด้วยนางสาววงเดือนนั้น หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ส่งเข้าประกวดจนสามารถคว้ามงกุฎอันทรงเกียรติมาได้ จึงทำให้หนังสือพิมพ์คู่แข่งมักจะเขียนข่าวเสียดสีบิดาของนางสาววงเดือน โดยเรียกร้องให้ทางครอบครัวของนางสาวสยามคืนมงกุฎและของรางวัลทั้งหมด

เรื่องราวดังกล่าวดูเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆ ท้ายที่สุดหลวงชำนาญยุทธศิลป์ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจต่างๆ ก็ได้มาสะสางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ยืนตามผลคำตัดสินของคณะกรรมการในการประกวดนางสาวสยามเช่นเดิม เนื่องจากการประกวดนางสาวสยามเป็นงานสำคัญในการสรรหาสาวงามมาเป็นเกียรติของชาติและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ

เรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดความด่างพร้อยกับผู้เป็นนางงามของชาติ หากจะประกวดใหม่ก็ย่อมเกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของคณะผู้จัดงานได้ สอดคล้องกับความเห็นของพระยาสุนทรพิพิธ อธิบดีกรมมหาดไทย ที่ได้ไปปาฐกถาและได้กล่าวถึงเรื่องนี้ดังที่ปรากฏในความตอนหนึ่งว่า "เกียรติของสยามนั้นไม่ได้อยู่ที่อื่น แต่ว่าอยู่ในรูปของนางสาวสยามผู้นี้แต่แห่งเดียว"

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ย้อนประวัติศาสตร์ ดราม่าแรก ในวงการนางงามสยาม


เครดิตแหล่งข้อมูล :
silpa-mag


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์