“อบเชย” ประวัติศาสตร์พิสดารกับสัตว์ในตำนานที่ไม่มีจริง
พูดถึงอบเชยแล้ว เรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะเป็นเครื่องเทศทั่วไปที่เราสามารถพบได้ในสำรับอาหารเอเชีย แต่สำหรับชาวตะวันตกที่ไม่เคยรู้จักกับเจ้าสิ่งนี้แล้ว ในยุคแรกเริ่มเขาไม่เคยรู้ถึงที่มาของมันเลยว่ามาจากไหน ได้ยินมาก็แต่เรื่องราวพิสดารที่เขาเล่าต่อกันมาเพื่อสร้างมูลค่าให้กับเครื่องเทศ ซึ่งชาวตะวันตกก็ดันเชื่อจริง ๆ จนเอาไปเขียนไว้ใน "ตำราประวัติศาสตร์" เสียอย่างนั้น
ในโพสต์นี้จึงจะขอมาเล่าถึงตำราประวัติศาสตร์เหล่านั้นว่าเขาบันทึกเรื่องราวของอบเชยไว้อย่างพิสดารเพียงใด
พูดถึงประวัติศาสตร์จริง ๆ กันก่อนสักนิด อบเชยนั้นมีมากมายหลายชนิด โดยในอดีต ชาวตะวันตกมีการแบ่งเป็นอบเชยกับแคสเซียซึ่งอบเชยที่แท้จริงจะหมายถึงอบเชยเทศ(อบเชยลังกา) ในขณะที่แคสเซียหมายถึงอบเชยจีน โดยทั้งนี้ไม่ปรากฏชัดเจนว่าอย่างไหนเดินทางมาทางตะวันตกก่อนกัน เราทราบเพียงแค่ว่าทั้งสองอย่างนี้เดินทางไปถึงคาบสมุทรอาระเบียไม่เกิน 2,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยชาวอียิปต์ได้นำเข้าอบเชยมาใช้ในฐานะเครื่องบูชาทางศาสนาและดองมัมมี่ ในขณะที่ชาวกรีกนำเข้าไปใช้บูชาเทพเจ้าดังที่ในกวีนิพนธ์ของแซฟโฟซึ่งกล่าวถึงการนำแคสเซียไปใช้บวงสรวงเทพอพอลโลในพิธีแต่งงานของเฮกเตอร์กับแอนโดรมาคี
อบเชยเป็นสินค้าที่มีราคาแพงสำหรับชาวอียิปต์และชาวกรีก ทำให้มักจะถูกนำไปใช้เพื่อการศาสนา ทั้งนี้สาเหตุที่มันแพงนั้น จะว่ามาจากความหายากที่ต้องนำเข้ามาผ่านพ่อค้าคนกลางชาวอาระเบียก็เป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ ความหายากที่พ่อค้าชาวอาระเบียเอามาเล่าสู่กันฟังให้กับลูกค้าจากซีกโลกตะวันตกนี้รู้สึกเหมือนจะเป็นเรื่องที่เกินจริงไปหน่อย
ในตำรา "ประวัติศาสตร์" ที่เขียนโดย "เฮโรโดตุส" บิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกได้ระบุที่มาของเครื่องเทศชนิดนี้มาเป็นเครื่องเทศของชาวอาหรับ โดยบอกว่าอาหรับเป็นที่เดียวที่สามารถผลิตอบเชยได้ ซึ่งจะมีวิหคยักษ์ซึ่งเรียกกันว่า "นกอบเชย" (Cinnamon Bird) จะบินไปยังดินแดนที่ห่างไกลที่ไหนไม่รู้ ไปคาบเอากิ่งอบเชยซึ่งขึ้นอยู่ที่นั่นมาทำรังที่ริมผา (อบเชยที่เราเห็นจะมีหน้าตาคล้าย ๆ กับกิ่งไม้ ชาวตะวันตกเลยเข้าใจว่าเป็นกิ่งของมัน) โดยวิธีเก็บเกี่ยวนั้นจะเอาเนื้อสัตว์ใหญ่จำนวนมาก ๆ ไปกองไว้ใกล้ ๆ รังแล้วรอให้นกอบเชยมาคาบเอาเนื้อนั้นกลับเข้ารัง ซึ่งน้ำหนักมหาศาลพอไปกองกันอยู่ตรงริมผาจะทำให้รังของมันถล่ม แล้วชาวอาหรับก็ไปเก็บอบเชยที่ร่วงลงมาจากรังนั้น
นอกจากในตำราของเฮโรโดตุสแล้ว ใน "ประวัติศาสตร์สรรพสัตว์" ของอริสโตเติล ก็พูดถึงเจ้านกอบเชยนี่เหมือนกัน แต่ในเล่มของอริสโตเติลระบุว่านกอบเชยทำรังอยู่บนต้นไม้ ตัวไม่ได้ใหญ่มาก โดยจะเก็บเกี่ยวด้วยการยิ่งลูกศรที่มีการถ่วงหน้าหนักเข้าไปในรังเพื่อให้น้ำหนักเทเอารังลงมาแล้วไปเก็บ
แต่โชคดีที่ฝั่งโรมันไม่ได้เชื่อแบบฝั่งกรีก โดยพลินีผู้อาวุโสได้บอกว่าที่เฮโรโดตุสเชื่อกันไปนั้นไม่จริง น่าจะเป็นเรื่องเล่าที่พวกเขาฟังมาจากพ่อค้าอาหรับที่อยากจะสร้างเรื่องราวให้สินค้าดูหายากและโก่งราคาได้สูง ตลอดจนเป็นการปกปิดความลับที่มาไว้เพื่อผูกขาดการค้าแต่เพียงผู้เดียวไป
ตำนานการสร้างเรื่องราวเพื่อมูลค่าทางการตลาดนี้มีกันมาอย่างยาวนานจริง ๆเครดิตแหล่งข้อมูล : FB จานโปรด
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!