“แดกงา” ขนมโบราณที่ปรากฏในพระไตรปิฎก


“แดกงา” ขนมโบราณที่ปรากฏในพระไตรปิฎก


าหารหลาย ๆ อย่าง ปรากฎการพูดถึงในหนังสือเก่า ๆ มากมายหลายต่อหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นสูตรอาหาร, วรรณคดี หรือที่ยิ่งกว่านั้น "พระธรรมคำสอน" ก็มี เราอาจจะคุ้นชินกับพวกอาหารที่ปรากฏการกล่าวถึงในคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ กันมาบ้าง แต่กับพระไตรปิฎกที่ชาวไทยพุทธส่วนใหญ่รู้จักกันนั้น ก็มีการพูดถึงอาหารไม่ต่างกัน โดยอาหารอย่างหนึ่งที่พบในพระไตรปิฎก และยังคงพบเห็นมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยกตัวอย่างเช่น "ขนมแดกงา"

ขนมแดกงา, ข้าวเหนียวแดกงา หรือกวาญย์คะเปียง เป็นขนมโบราณที่มีมาอย่างยาวนาน โดยมีลักษณะเป็นข้าวเหนียวที่ตำจนเป็นแป้งคล้ายโมจิ แล้วเอาไปคลุกเคล้ากับงา พบทั้งในชุมชนชาวไทยและชุมชนชาวมอญ บางที่อาจจะเป็นแป้งข้าวเหนียวธรรมดา ๆ บางพื้นที่อาจจะมีการใส่ไส้บ้าง รสหวาน ๆ เค็ม ๆ อร่อยผิดกับชื่อและหน้าตาที่อาจจะไม่ได้ดูน่ากินนัก โดยนอกจากในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างแล้ว ในภูมิภาคอื่นก็พบขนมที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน บางที่อาจเรียกเหมือน บางที่อาจเรียกต่างกัน อาจจะมีสูตรที่แตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละพื้นที่ สะท้อนให้เห็นถึงการประยุกต์กันไปในแต่ละพื้นที่นี่เอง

ขนมนามแปลกนี้ ปรากฏการกล่าวถึงในพระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑. กัมมขันธกะ] ข้อ ๔. ปฏิสารณียกรรม ซึ่งว่าด้วยการลงโทษพระวินัยที่ให้พระภิกษุไปขอขมาต่อคฤหัสถ์ ได้ยกเอาเรื่องเล่าของพระสุธรรมที่ได้ไปวิวาทกับอุบาสกอย่างจิตตคหบดี โดยการพูดถึง "ขนมแดกงา" ให้เป็นที่แสลงใจแก่เศรษฐี ผู้ที่มีต้นตระกูลเป็นแรงงาน ซึ่งตรงนี้ทำให้เราเห็นถึงทัศนะในอดีตที่มองว่าขนมแดกงานี้เป็นอาหารของคนจน หรือคนชนชั้นแรงงานที่กินอาหารราคาถูกนี้เพื่อพลังงานในการออกแรงทำงาน

สำหรับที่มาของชื่อนี้ คำว่า "แดก" ไม่ได้หมายถึงกินในภาษาถิ่นอีสาน หรือหมายถึงอาการการกินอย่างมูมมามแต่อย่างใด กลับกันแดกในที่นี้หมายถึงการคลุกเคล้าเข้ากันต่างหาก อย่างไรก็ดี ความว่าแดกในบริบทปัจจุบันอาจจะถูกมองว่าเป็นคำหยาบคาย แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้หยาบคายแต่อย่างใด สำหรับในปัจจุบันนี้ ขนมแดกงาอาจจะพบเห็นได้ยากสักหน่อยตามเมือง ถ้าใครเคยเห็นหรือมีขายที่ไหนก็คอมเมนต์บอกกันได้น้าาา~

เครดิตแหล่งข้อมูล : FB จานโปรด


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์