อาชีพสงวนเฉพาะคนไทย..มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีกี่อาชีพ อะไรบ้าง?


อาชีพสงวนเฉพาะคนไทย..มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีกี่อาชีพ อะไรบ้าง?


แม้ว่าบนโลกนี้จะมี "อาชีพ" อยู่มากมาย และก็มีชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาทำงานอยู่ที่ประเทศไทยตลอดเวลา แต่ถ้าว่าตาม กฎหมาย มีอาชีพที่มีเพียงคนไทยเท่านั้นที่สามารถทำได้ หรืออาชีพสงวนเฉพาะคนไทย อาชีพเหล่านั้นมีอะไรบ้าง?

"รัชกาลที่ 6" จุดเริ่มต้นของกฎหมายการสงวนอาชีพให้คนไทย

หลังจากที่ชาวต่างชาติได้เข้ามาทำงานในสยามมากขึ้น รัชกาลที่ 6 ทรงห่วงว่า แรงงานไทยจะถูกแย่งงานไปเสียหมด ดังนั้น ในปี 2454 จึงมีการตรากฎหมายเพื่อควบคุมแรงงานและสภาพการทำงาน, ปี 2459 ตรากฎหมายกำหนดให้กรรมกรลากรถ ต้องจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน

และมีข้อปฏิบัติว่าต้องมีอายุระหว่าง 18-40 ปี พูดภาษาไทยได้ ซึ่งถือเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงานและควบคุมอาชีพ แรงงานต่างชาติ ฉบับแรกๆ ของไทย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รัฐบาลได้ตรากฎหมายหลายฉบับเพื่อจำกัดอาชีพคนต่างด้าวไว้ เช่น พระราชกฤษฎีกาสงวนอาชีพสำหรับคนไทย พ.ศ. 2483, พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ. 2484 เพื่อสงวนอาชีพและวิชาชีพบางประเภทไว้สำหรับคนไทย และกำหนดพื้นที่ที่ห้ามคนต่างชาติประกอบอาชีพ, พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ. 2485 ที่กำหนดให้โรงงานต้องจ้างคนไทยตามจำนวนหรือตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด

ปี 2490 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลเริ่มใช้นโยบายชาตินิยม มีการออก กฎหมาย บังคับให้โรงสี และกิจการก่อสร้างที่รับงานของรัฐ มีแรงงานชาวไทยไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ทั้งมีการควบคุมอย่างเข้มงวด และใช้มาตรการรุนแรงกับหัวหน้ากรรมกรชาวจีนที่ก่อเหตุนัดหยุดงานด้วยการเนรเทศกลับประเทศ, การออกกฎหมายควบคุมจำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย และขึ้นค่าธรรมเนียมภาษีคนต่างด้าว ด้วยขณะนั้นมีแรงงานชาวจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ปี 2499 รัฐบาลออกพระราชบัญัติสงเคราะห์อาชีพแก่คนไทย พ.ศ. 2499 กำหนดให้เจ้าของกิจการในกิจการที่มีคนงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องจ้างแรงงานสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกประกาศคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 52 ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2502 กำหนดให้สถานประกอบอาชีพ 9 ประเภท จะต้องมีสัดส่วนแรงงานไทยมากกว่าแรงงานต่างชาติ

ปี 2515 ยกเลิกพระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ. 2484 แล้วออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 (ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515) มาใช้ควบคุมการทำงานของแรงงานต่างชาติแทน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานในไทยก่อนวันประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้บังคับใช้ (ก่อน 14 มีนาคม 2516)

ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวจีนที่อาศัยอยู่ในไทยเป็นเวลานาน ได้ใบอนุญาตทำงานตลอดชีพให้ แต่แรงงานต่างชาติที่เข้ามาหลังกฎหมายประกาศใช้ ต้องยื่นขออนุญาตตามหลักเกณฑ์กฎหมายกำหนด เช่น มีความรู้ความสามารถ และเป็นอาชีพที่คนไทยยังทำได้ไม่ดีพอ

พ.ศ. 2516 ออกกฎหมายบังคับอาชีพที่ห้ามแรงงานต่างชาติทำครั้งแรก!

ปี 2516 ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาชีพที่ห้ามแรงงานต่างชาติ (หรืออาชีพสงวนเฉพาะคนไทย) ทำขึ้นมาบังคับใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดงานอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างชาติทำ พ.ศ. 2516 ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างชาติทำ 39 อาชีพ เพื่อคุ้มครองคนไทยไม่ให้ถูกคนต่างชาติแย่งอาชีพ แต่ปรากฎว่ามีคนต่างชาติลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายจำนวนมาก เช่น ญวนอพยพ ลักลอบทำงานอยู่ในท้องที่จังหวัดต่างๆ โดยเสรี

ปี 2521 รัฐบาลไทยเริ่มมีนโยบายอนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 อนุญาตให้จ้างผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่ระหว่างรอการส่งกลับ แต่อนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ ปี 2535

โดยเริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี ตาก ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ฯลฯ หลังจากนั้นก็มีการจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็น 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชาในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น จังหวัดที่มีการประกอบกิจการประมงทะเล

ปัจจุบันมีอาชีพไหนที่ชาวต่างชาติห้ามทำบ้าง?

กระทั่ง พ.ศ. 2563 กระทรวงแรงงานประกาศ กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (อาชีพสงวนเฉพาะคนไทย) ทั้งหมด 40 งาน ห้ามทำเด็ดขาดอยู่ 27 งาน และสามารถทำได้แต่อยู่ใต้เงื่อนไข 13 งาน ซึ่งทั้งหมดนี้แบ่งออกได้เป็น 4 บัญชี

บัญชีที่ 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ได้แก่

1. งานแกะสลักไม้ 2. งานขับขี่ยานต์ยนต์หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลในประเทศ (ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศหรือขับรถยก หรือ forklift) 3. งานขายทอดตลาด 4. งานเจียระไน ขัดเพชรหรือพลอย 5. งานตัดผม งานดัดผม หรือเสริมสวย 6. งานทอผ้าด้วยมือ

7. งานทอเสื่อหรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง ไม้ไผ่ เยื่อไม้ไผ่ พืชหญ้า ขนไก่ ก้านทางมะพร้าว เส้นใย ลวด หรือวัสดุอื่น ๆ 8. งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9. งานทำเครื่องเขิน 10. งานทำเครื่องดนตรีไทย 11. งานทำเครื่องถม 12. งานทำเครื่องทอง เงิน หรือนาก 13.งานทำเครื่องลงหิน

14. งานทำตุ๊กตาไทย 15. งานทำบาตร 16. งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17. งานทำพระพุทธรูป 18. งานทำร่มกระดาษหรือผ้า 19. งานนายหน้าหรือตัวแทน (ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ) 20. งานนวดไทย 21. งานมวนบุหรี่ด้วยมือ

22. งานมัคคุเทศก์หรือจัดนำเที่ยว 23. งานเร่ขายสินค้า 24. งานเรียงอักษรไทยด้วยมือ 25. งานสาวบิดเกลียวไหม 26. งานเสมียนพนักงานหรือเลขานุการ 27. งานบริการทางกฎหมาย (ยกเว้น งานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการและงานให้ความช่วยเหลือหรือทำการแทนในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทที่พิจารณาโดยอนุญาตโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทย)

บัญชีที่ 2 เป็นงานสำหรับคนต่างด้าว ที่ประเทศนั้นมีข้อตกลงกับไทยเท่านั้น ที่ทำได้ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 อาชีพ ได้แก่ วิชาชีพบัญชี, วิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพสถาปัตยกรรม

บัญชีที่ 3 คือ งานที่คนต่างด้าวทำได้แต่มีเงื่อนไข นั่นคือ งานฝีมือหรือกึ่งฝีมือที่มีนายจ้าง ได้แก่ 1. งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง 2. งานช่างก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานช่างก่อสร้างอาคาร 3. งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 4. งานทำมีด 5. งานทำรองเท้า 6. งานทำหมวก 7. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8. งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

ส่วนบัญชีสุดท้าย บัญชีที่ 4 คืองานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข โดยคนต่างด้าวทำงานได้โดยมีนายจ้าง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายใต้ความตกลง ความเข้าใจ ที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาลต่างประเทศ มี 2 อาชีพ ได้แก่ งานกรรมกรและงานขายของหน้าร้าน



อาชีพสงวนเฉพาะคนไทย..มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีกี่อาชีพ อะไรบ้าง?


เครดิตแหล่งข้อมูล :เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์