8 คำถามปรามความโกรธ

8 คำถามปรามความโกรธ


ความโกรธหรือการโกรธที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น จัดเป็นสภาวะพื้นฐานทางอารมณ์ของมนุษย์

หากแต่การสอนลูกให้รู้จักวิธีรับมือและควบคุมอารมณ์ที่พลุ่งพล่านขึ้นมาอย่างฉับพลัน ตั้งแต่เขายังเล็กนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าคุณพ่อแม่ปล่อยให้ลูก แสดงอารมณ์โกรธออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความรุนแรงของการแสดงออกของเขาจะมีมากขึ้นตามลำดับอายุวัยของลูก และผลลัพธ์ที่จะตามมาก็คือ ลูกจะมีความบกพร่องทางด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์ เมื่อเขาต้องเข้าสังคมกับเพื่อนที่โรงเรียน หรือแม้กระทั่งในขณะที่เขา ก้าวเข้าไปทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เขาก็จะกลายเป็นบุคคล ที่ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้เลย แล้วคนที่เป็นทุกข์ที่สุดก็คือ ลูกของเราเอง

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยเอาใจใส่กับอารมณ์โกรธของลูก

 ตั้งแต่ที่เขายังเล็กอยู่ "บันทึกคุณแม่" ฉบับนี้ จึงหยิบเอาสัมภาษณ์ อ.นพ.ทัศนวัต สมบุญธรรม จากหน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เกี่ยวกับวิธีสยบอารมณ์โกรธเป็นพืนเป็นไฟของลูกตั้งแต่ยังเนิ่นๆ อยู่ และเสริมสร้างความเข้าใจในอารมณ์พื้นฐานของเจ้าตัวเล็กแบบเต็มๆ

1. เด็กเริ่มมีความรู้สึกโกรธได้ ตั้งแต่สักอายุประมาณเท่าไหร่

จริงๆ ก็ตั้งแต่เล็กเลยนะครับ เด็กเล็กเขาก็มีความต้องการเกิดขึ้นแล้ว และถ้าเกิดว่า ความต้องการนั้นไม่ได้รับการตอบสนองที่สอดคล้อง เขาก็อาจจะเกิดความโกรธขึ้นได้ เช่น เด็กเล็กๆ ร้องเพราะหิวนม หรือเพราะผ้าอ้อมเปียกแฉะ แต่โดยปกติแล้วเด็กในขวบปีแรก จะไม่แสดงความโกรธออกมาอย่างรุนแรงมากนัก เนื่องจากความต้องการของเขา จะเป็นความต้องการพื้นฐาน วัยที่โกรธแล้วมักจะมีปัญหาเริ่มเมื่อใกล้ขวบครึ่ง หรือสองขวบเป็นต้นไป เพราะว่าความต้องการของเขาจะขยายขอบเขต นอกเหนือไปจากความต้องการพื้นฐานแล้ว เช่น บางครั้งเขาอยากจะไปปีนป่ายตรงโน้น อยากจะไปเล่นของที่มีคม หรืออยากจะไปทดลองอย่างโน้นอย่างนี้ โดยที่เขาอาจจะยังไม่รู้ข้อจำกัดของตัวเอง ก็ทำให้เวลาที่เขาถูกขัดใจไม่ได้เล่น ไม่ได้ทำอย่างนั้น ก็จะมีอารมณ์กระฟัดกระเฟียดขึ้นมา

2. ในเรื่องของการขัดใจ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยนี้ ควรจะขัดใจลูกดีหรือตามใจลูกดี

ปกติเด็กที่มีปัญหาเรื่องร้องไห้ หรืออยากจะทำโน่นทำนี่ หงุดหงิดมาก มักจะเริ่มที่วัยประมาณสองขวบ ส่วนการสิ้นสุดนั้นไม่แน่นอน บางคนอาจจะเรื้อรังไปถึง 4-5 ขวบหรือกว่าได้ เขาเรียกว่า "terrible two" คือ เป็นเด็กวัย 2 ขวบ ที่ดื้อ หงุดหงิดง่าย สิ่งที่เกิดขึ้นในเด็กวัยนี้ก็คือ เด็กต้องการความเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอยากเล่นแบบนั้น ก็อยากจะลองทำด้วยตัวเอง แล้ววัยนี้ก็จะเป็นวัยที่ต่อต้านด้วย หากเราไม่ให้เขาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เขาก็จะทดสอบขอบเขตว่า เราจะยอมให้ทำได้มากน้อยแค่ไหน เลยดูเหมือนกับว่า เขาท้าทายกับขอบเขตที่เราวางไว้ ซึ่งที่จริงก็คือ การที่หนูกำลังเรียนรู้กฎเกณฑ์ของโลกนั้นเอง คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง สิ่งที่อาจยั่วยุให้เขาเกิดอารมณ์หงุดหงิดได้ เช่น เก็บของมีคม หรือของแตกได้ที่เขาชอบเล่นให้มิดชิด หากเขาบังเอิญไปได้เล่นเข้าแล้ว เราก็ต้องยืนยันไม่ให้เล่น โดยเอาคืนมาแล้วอาจหันเหความสนใจ ไปยังเรื่องอื่นแทน โดยสรุปก็คือ เด็กควรมีอิสระและสามารถเลือกได้ ในสิ่งที่เราเลือกไว้ให้เขาแล้ว

3. แล้วเราควรจะช่วยเด็กเล็กๆ นี้ในการพัฒนาอารมณ์ ให้เหมาะสมตามวัยได้อย่างไร

สิ่งที่เราช่วยได้กับเด็กวัยนี้คือ ให้เขาได้มีความเป็นตัวของตัวเองในกรอบ ในขอบเขตที่เหมาะสม สมมติว่าเขาอยากจะทดลองเล่นของบางสิ่งบางอย่าง ถ้าไม่อันตราย ถ้าเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ ก็น่าจะให้เขาเล่น เช่น เด็กเล็กๆ จะชอบทดลองโยนของเพื่อให้ของตกลงสู่พื้น เขาค่อยๆ เรียนรู้ว่า การโยนของเบาหรือแรง วัตถุต่างชนิดกัน ผลที่เกิดก็แตกต่างกัน ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ควรมีความอดทนเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ และสิ่งของที่จะให้เขาเล่นก็ควรเป็นอะไรที่นิ่มและไม่แตก
 
หากมีสิ่งของใดที่เขาอยากเล่น แต่ไม่ได้เล่น (ส่วนใหญ่มักเป็นเพราะ เหตุผลด้านความปลอดภัย) แล้วเขาร้องดั้นขึ้นมา เราก็ต้องยืนยันหนักแน่นตามนั้น คือ ไม่ให้เขาเล่นเพราะว่าสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในวัยนี้ก็คือ การฝึกระเบียบวินัยให้แก่เด็ก ผู้ใหญ่ควรสร้างขอบเขตแบบแผนที่ชัดเจน และแน่นอนให้แก่เด็ก เพื่อว่าเด็กจะได้เรียนรู้รูปแบบและกฎเกณฑ์ของชีวิต เช่น เมื่อเขาต้องการอะไรสักอย่างที่ไม่สมควร ครั้งแรกเขาอาจจะขอแล้วไม่ได้ ครั้งที่สองลองใหม่ก็ยังไม่ได้อีก ครั้งที่สามเมื่อยังไม่ได้ เขาก็จะเลิกตอแยไปเลย เพราะรู้แล้วว่า ถึงอย่างไรก็ขอไม่ได้อยู่ดี แต่หากเรามีความไม่ แน่นอน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ เช่น ครั้งแรกเขาอาจจะขอไม่ได้ ครั้งที่สองพอเขาร้องดังแล้วเราเริ่มมีท่าทีใจอ่อน เขาจะเริ่มสับสนแล้วว่า เอ๊ะ! จะยังไงกันแน่ ครั้งที่สามเลยร้องดังขึ้นไปอีก ทำท่ากระฟัดกระเฟียดมากขึ้น แล้วเราก็ให้เขาได้เล่นสิ่งนั้นจริงๆ สิ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ สงสัยตอนแรกร้องไม่ดังพอ พ่อแม่เลยไม่ยอมให้นั่นเอง เหตุการณ์ครั้งต่อไปก็จะมีการที่ดังกล่าวครั้งนี้อีกและยืดเยื้อยาวนานขึ้นอีก

4. เวลาโกรธฮอร์โมนในร่างกายเด็ก จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

มนุษย์เราเวลาโกรธมากๆ ก็จะมีการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธติก (Sympathetic nervous system) โดยอัติโนมัติ ซึ่งจะมีสารและฮอร์โมนหลายชนิดหลั่งออกมา ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกาย "สู้หรือหนี" (Fight or Flight) หัวใจก็จะเต้นแรงและเร็วขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆ พร้อมที่จะต่อสู้หรือถ้าสู้ไม่ไหวก็จะหนี ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราโกรธแล้วใจจะสั่น หรือบางคนโกรธแล้วจะมีแรงมาก จนทำอะไรรุนแรงเกินกว่าเหตุหากไม่ยับยั่งชั่งใจ 

5.ความโกรธสามารถที่จะนำมาดัดแปลง เป็นความสร้างสรรค์ได้บ้างไหม

มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องมีความโกรธ คนเราไม่ใช่เครื่องจักร เพราะฉะนั้นอารมณ์เราจึงมีขึ้นมีลง ความโกรธก็มีข้อดีคือ ทำให้เราได้รู้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่ง serious เป็นเสมือนสัญญาณบอกเหตุหรือเตือนภัย แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่พอเรามีอารมณ์โกรธแล้วเราควบคุมตัวเองไม่ได้อยู่ และแสดงออกอย่างผิดๆ เช่น ทำร้ายคนทำลายข้าวของ ตั้งสติไม่อยู่ หรือไปละเมิดสิทธิ์คนอื่นเขา ในขณะที่บางคนพอเริ่มมีอาการโกรธแล้ว ก็จะรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง จะไปขออยู่คนเดียวเงียบๆ สักครู่ หรือออกจากสถานการณ์ชั่วขณะเพื่อไปตั้งสติ การแก้ปัญหาอารมณ์โกรธอย่างสร้างสรรค์นี้ เป็นสิ่งที่สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก

6. แล้วจะปลูกฝังอย่างไรคะ

เช่น ถ้าเด็กโกรธจนก้าวร้าวมาก อาจร้องดิ้นหรือทำร้ายคน ทำลายข้างของ เราก็อาจใช้วิธีปรับพฤติกรรม ที่เรียกว่า Time-Out หรือผมแปลเป็นไทยบอกเด็กๆ ว่า "เวลาสงบสติอารมณ์" ได้ หลักการคือ เราจะเลือกสถานที่ที่น่าเบื่อ ไม่มีอะไรทำ (แต่ต้องปลอดภัยด้วย นั่นคือ เราจะไม่ใช้ห้องน้ำ ระเบียงหรือห้องนอนของเด็ก) แล้วส่งเขาไปนั่งในที่นั่น โดยไม่ให้ความสนใจใดๆ แก่เขาเลย เป็นเวลาเท่ากับอายุเขาเป็นปี เช่น เด็ก 5 ขวบ ก็ 5 นาที หากมีนาฬิกาจับเวลาแบบที่ใช้ในครัว ซึ่งจะมีเสียงเตือนเมื่อครบกำหนดก็จะดีมาก เราจะไม่ตอบสนองใดๆ กับเขาเลยในช่วงเวลานั้น เพราะมันจะยิ่งทำให้เขา ร้องมากขึ้นได้อีก การที่เขาได้ไปนั่งสงบๆ อยู่ตรงนั้น เขาก็จะเรียนรู้ว่า อารมณ์ที่เขาแสดงออกแบบนั้นไม่มีใครยอมรับ และจะเรียนรู้ที่จะสงบสติอารมณ์ ที่พลุ่งพล่านนั้นด้วยตนเอง จากนั้นเมื่อครบเวลาแล้วเขาก็สามารถลงมาพบ ทำกิจกรรมกับคุณพ่อคุณแม่พี่น้องได้ตามปกติ แต่ว่าเขาต้องละความโกรธ แล้วทิ้งมันไว้ตรงนั้น
 
ในช่วงต้นหากเด็กยังไม่เคยชินกับวิธีการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใช้ความหนักแน่นกับลูกมากเป็นพิเศษ อาจต้องไปจับเขานั่งตักผู้ใหญ่ (โดยเราไม่พูดคุยกับเขาเลย) หรือหากเขานั่งเองได้บ้าง แต่กระโดดลงมาก่อนที่จะครบกำหนดเวลา เราก็จะส่งเขากลับไปใหม่โดยไขเวลาย้อนไปเท่ากับเวลาที่เขานั่งมาก่อนแล้วในช่วงต้น

7. แล้วถ้าเด็กโกรธแล้วแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมา แล้วคุณพ่อคุณแม่ยิ่งไปตีล่ะคะ

ตรงนี้ต้องระวัง เพราะว่าในการตีมีผลเสียอยู่หลายอย่าง เช่น เวลาตี พ่อแม่ก็มักจะเลือกเรื่องที่จะตีคือ ตีเฉพาะเรื่องที่สาหัสสากรรจ์เท่านั้น ทีนี้เรื่องที่หนักหนาอย่างนั้น เด็กมักจะมีอารมณ์อยู่แล้ว พ่อแม่ก็มักจะมีอารมณ์โกรธอยู่ด้วย ] จึงลงเอยด้วยการตีอย่างรุนแรง ทั้งที่ตัวผู้ใหญ่เองก็ไม่ได้ตั้งใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากระบบประสาทซิมพาเทติกดังที่ได้กล่าวแล้ว ผลก็คือ จากที่ตั้งใจจะตีเพียงแค่สั่งสอนแต่กลับหลายเป็น จ้ำเขียวห้อเลือดไป จนคุณพ่อคุณแม่มานั่งเสียใจในภายหลัง
 
ขณะที่ตัวเด็กเองก็จะมีอารมณ์ที่พลุ่งพล่านเหมือนกัน ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ แต่พอเมื่อเขาเกิดอารมณ์นั้น เขาก็ถูกจัดการด้วยอารมณ์ของพ่อแม่ที่รุนแรงกว่า ตัวใหญ่กว่าการเรียนรู้ด้วยวิธีสันติก็เลยไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากใช้วิธีสงบสติอารมณ์ตรงนั้น เด็กก็จะเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีกว่า ครอบครัวโดยส่วนใหญ่มักมีผู้ที่กล้าตีเด็กเพียงคนเดียว คือ คุณพ่อหรือคุณแม่ เด็กก็จะเรียนรู้เงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งว่า หากทำผิดแบบเดียวกัน แต่คนตีไม่อยู่ เขาก็ไม่ถูกตี ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งว่าสามารถทำความผิดนั้นได้ เป็นการฝึกให้เด็กมีลักษณะหน้าไหว้หลังหลอก โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ และหากตีบ่อยๆ เด็กก็มักจะเป็นเด็กก้าวร้าว วิธีปรับพฤติกรรมอย่างอื่น มักไม่ได้ผล ผลสุดท้ายครูที่โรงเรียนจัดการไม่ได้ จึงต้องลงเอยด้วยวิธีตีเขาอีก

8. พื้นฐานอารมณ์ในเด็กเล็กเขามีอารมณ์อะไร ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดบ้าง

เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ไม่เหมือนกัน ขนาดเป็นพี่น้องกัน หรือฝาแฝดกันก็ยังไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนที่มีพื้นอารมณ์ดั้งเดิม ติดตัวเขามาอยู่แล้ว พื้นอารมณ์คือลักษณะเฉพาะที่เด็กแต่ละคนตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บางคนอาจจะทนกับเสียงหรือแสงที่รบกวนเวลานอนได้ดี ขณะที่บางคนทนไม่ได้ บางคนชอบกินของแปลกๆ ใหม่ๆ ชอบโลดโผนโจนทะยาน ในขณะที่บางคนชอบกินแต่ของที่คุ้นเคย ชอบอยู่คนเดียว เล่นเงียบๆ สงบๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เรียนรู้ลักษณะพื้นอารมณ์ของเด็ก แต่ละคนแล้วคุณพ่อคุณแม่พยายามที่จะปรับสภาวะแวดล้อมหรือการเลี้ยงดู ให้เข้ากับเด็กคนนั้น ก็จะทำให้การเลี้ยงดูเด็กมีความง่ายขึ้น มีความสุขมากขึ้น ทั้งผู้เลี้ยงดูและเด็กเอง เช่น หากเด็กที่มีลักษณะใจเย็นทำอะไรค่อยๆ ดูในรายละเอียดไม่ค่อยกระฉับกระเฉงนัก แต่คุณพ่อคุณแม่ที่มีกิจวัตรประจำวันที่เร่งรัด หรือเป็นคนที่ใจร้อนหน่อย ก็อาจจะทำให้ เขาเกิดภาวะเครียดขึ้นได้ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่พอจะรู้ว่าลูกเรามักเป็นลักษณะอย่างนี้ เราก็อาจจะเผื่อเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ไว้สักนิด บวกกับความใจร้อนของคุณพ่อคุณแม่มานิดนึง ก็จะสามารถทำให้การเลี้ยงดูเด็กคนนั้นมีความสุขมากขึ้นได้อีกมากทีเดียว

เพ็ญประภา วัฒนรัตน์
---------------------------
ขอขอบคุณเว็บไซต์วัดยานนาวา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์