คุณของความเครียด
ทมยันตีเคยเล่าว่านวนิยายเบาสมองของเธอที่ใช้นามปากกาว่า "โรสลาเรน" นั้น ล้วนเขียนในยามที่กำลังเครียดทั้งนั้น มุขตลกของชาร์ลี แชปลิน ซึ่งนำความครื้นเครงมาสู่ชาวโลกนั้น ส่วนใหญ่ก็ขุดมาจากเบื้องหลังชีวิตอันทุกข์ระทม ดาวตลกเป็นจำนวนไม่น้อยก็มีชีวิตไม่ต่างจากเขา เพราะฉะนั้นความเครียดจึงมิใช่สิ่งกดดันบั่นทอนชีวิตแต่ถ่ายเดียว หากยังเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ด้วย
จริงอยู่ความเครียดทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นแรงผลักดัน ให้ชีวิตจิตใจดิ้นรนขวนขวายหาสิ่งอื่นที่ดีกว่า อันได้แก่ความโปร่งเบา สบาย ราบรื่นและสมดุล ในยามเครียด จิตจะว่องไวเป็นพิเศษ ในการฉกฉวยอะไรก็ได้เพื่อมาบรรเทาความเครียด หรือบางทีก็ "หลุด" ออกไปจากเรื่องจำเจได้ง่าย ของบางอย่างในยามที่เราปกติ ก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาเครียดแล้วจะเห็นเป็นเรื่องตลกหรือไร้สาระไปเลย (ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า "เซอร์") ถ้าเราไม่หมกมุ่นหรือวิตกกังวลกับความเครียดมากเกินไปนัก ลองมองออกไปนอกตัว เพียงแต่เปลี่ยนมุมมองนิดเดียวก็มีเรื่องให้หัวเราะได้มากมาย บางทีก็คิดเรื่องตลกออกมาได้อย่างน่าแปลกใจ
แต่ถ้าท่านเป็นคนชอบเรื่องจริงจัง ไม่นิยมมุขตลก ก็ลองมองประโยชน์ของความเครียดในอีกแง่หนึ่งก็ได้ นั่นคือการเป็นสัญญาณเตือนตน ว่ากำลังมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเรา เวลาเจริญสติทำสมาธิภาวนาหากมีความเครียดเกิดขึ้น นั่นแสดงว่าเรากำลังทำผิดวิธี อาจจะเพ่งมากไปหรือกดห้ามความคิดเอาไว้ก็ได้ เมื่อรู้เช่นนี้เราก็ควรหย่อนลงมาอีกนิด ทำใจให้เป็นกลาง ๆ มากขึ้น ต่อเมื่อความเครียดหายไปนั่นก็หมายความว่าจิตของเราได้สมดุลแล้ว สามารถ "เดินหน้า" ต่อไปได้
มิใช่จำเพาะแต่การภาวนาเท่านั้น แม้ในชีวิตประจำวัน ความเครียดก็เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ดีสำหรับเราทุกคน มันอาจกำลังบอกเราว่าเรานอนน้อยเกินไป เราทำงานมากเกินไป หรือไม่ก็เตือนว่าเรากำลังคิดมากเกินไปแล้ว ถ้าเราหัดฟังสัญญาณจากความเครียดบ้าง เราจะรู้ทันทีว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพักผ่อน หรือปล่อยวางความคิดลงเสียบ้าง
ความเครียดเตือนเราให้คืนสู่ดุลยภาพ ถ้าเรากินมากไป ความอึดอัดจะเตือนให้เราหยุด ถ้าไม่หยุด ผลร้ายจะเกิดขึ้นตามมา ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราหาเรื่องมาใส่สมองจนแน่นไปหมด มิตรที่จะเตือนเราให้รู้จักเพลาเสียบ้างก็คือความเครียดนี้เอง
ความเครียดเป็นเสมือนเสียงตะโกนโหวกเหวก แม้จะรบกวนโสตประสาทไปบ้าง แต่ก็จำเป็นสำหรับคนขับรถที่กำลังหลับใน หรือเพลิดเพลินกับการพูดคุย จนไม่รู้ว่ากำลังวิ่งออกนอกเลน ถ้าเราสดับตรับฟัง "เสียง" ของความเครียดเสียบ้าง ชีวิตจิตใจก็จะน้อมสู่ทางสายกลางได้มากขึ้น
เป็นเพราะเราเห็นความเครียดเป็นศัตรู จึงมัวแต่วิตกกังวลกับมันเลยไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ มิหนำซ้ำบางทีก็หาทางสยบมันด้วยยาสารพัดชนิด โดยยังใช้ชีวิตและปล่อยจิตใจให้เสียศูนย์ไปตามเดิม ผลก็คือโรคภัยไข้เจ็บต่างถามหา โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคกระเพาะ หรืออาจรวมถึงโรคมะเร็ง ไม่ต้องพูดถึงโรคประสาทซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนสมัยนี้ไปแล้ว.
พระไพศาล วิสาโล ...