โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer)
หรือ โรคที่เรียกกันติดปากว่าโรคกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบได้บ่อยและก่อให้เกิด ความรำคาญและทุกข์ทรมาน เนื่องจากมักจะมีอาการปวดท้องเป็นๆหายๆในบางราย อาจมีอันตรายจากโรคแทรกซ้อน เช่น การตกเลือดในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะทะลุ โรคแผลในกระเพาะอาหาร อาจจะเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) sหรือแผลบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal Ulcer) ก็ได้ เนื่องจากอาการปวดจะเหมือนกันและสาเหตุของการเกิดโรคก็จะคล้ายกัน จึงมักจะเรียกรวมๆกันว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร(Peptic Ulcer)
โรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร
สาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะ อาหาร มีมากมาย แต่ที่เป็นสาเหตุหลักเชื่อว่าเกิดจากความไม่สุมดุลกันระหว่ากรดในกระเพาะ อาหารและเยื่อบุกระเพาะอาหารที่อ่อนแอลง
- กรดในกระเพาะอาหาร การที่มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น จะทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย เช่น ความเครียด วิตกกังวล การดื่มชา กาแฟ การทานอาหารไม่ตรงเวลา
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobactor Pylori หรือที่เรียกสั้นๆว่า H.Pylori เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญ ของการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร ติดต่อจากคนสู่คนทางปากโดยการกิน เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะฝังตัวอยู่บริเวณเยื่อเมือกที่คลุมอยู่บนผิวกระเพาะ อาหาร ทำให้มีการอักเสบและเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- การทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น จากยาแอสไพริน ยาแก้ปวดกระดูกหรือข้ออักเสบ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารเผ็ดจัด
อาการ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ปวดท้อง เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อาการปวดท้องจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือหน้าท้องส่วนบน ลักษณะอาการปวดจะปวดแสบร้อน จุกแน่นท้อง มักจะเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว อาการปวดมักจะเป็นๆหายๆ
- จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องร้องโกรกกราก มีลมในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- อาการของโรคแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาการปวดท้องอย่างรุนแรงเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหารทะลุ
การวินิจฉัย โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- การเอ็กซเรย์กลืนแป้ง (Upper GI Study) เป็นการตรวจด้วยเอ็กซเรย์ ทำได้ง่าย สะดวกสบาย ราคาถูก แต่ไม่ละเอียดพอและไม่สามารถจะนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมได้
- การส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) เป็นวิธีการตรวจที่ละเอียดสามารถมองเห็นรายละเอียดของกระเพาะอาหารได้ชัดเจน และยังสามารถนำเนื้อเยื่อไปตรวจเพิ่มเติมได้ ปัจจุบันการส่องกล้องกระเพาะอาหารเป็นวิธีที่นิยมและทำได้อย่างปลอดภัย ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยานอนหลับร่วมด้วย
- โดยการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันติดเชื้อ
- การเป่าลมหายใจ (Urea Breath Test)
- การตัดชิ้นเนื้อโดยการส่องกล้อง และนำเนื้อเยื่อมาตรวจเชื้อ ทำได้ 3 วิธีดังนี้
- นำเนื้อเยื่อมาทำปฏิกริยา
- นำเนื้อเยื่อมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเชื้อ
- นำเนื้อเยื่อไปเพาะเชื้อ
การรักษา โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- การรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรด เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารติดต่อกันนาน 6-8 สัปดาห์
- การกำจัดเชื้อ เฮลิโคแพคเตอร์ ไพโลโร (H.Pylori)
- การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหาร กินอาหารให้ตรงต่อเวลา
- กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม
- งดบุหรี่ และงดดื่มสุรา
- งดการใช้ยาแอสไพริน และยาแก้ปวดข้อปวดกระดูก (NSAID)
- หลีกเลี่ยงความเครียดและวิตกกังวล