เวียดนามและอินโดนีเซีย สองชาติร่วมอาเซียนของเรานั้น มีศาสตร์การบำบัดแบบดั้งเดิมอยู่ศาสตร์หนึ่งที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ การขูดผิวหนัง ซึ่งต่างก็เชื่อว่า ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตกับระบบลมภายในร่างกาย หรือที่นิยมเรียกว่า เลือดลม ให้ดีขึ้น แถมยังสามารถบรรเทาความเมื่อยล้า แก้หวัด แก้ไข้
การขูดผิวหนังที่ว่านี้ ในเวียดนามจะเรียกว่า เคา เจียว ที่ปรับประยุกต์มาจากศาสตร์การขูดผิวแก้พิษ หรือ กัวซา ของจีน แต่ที่อินโดนีเซียเรียก เคอโรแคน หรือเคอริแคน โดยระบุว่าเป็นศาสตร์บำบัดแบบดั้งเดิมของชาวชวา
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เวียดนามจะรับเอาวิธีการขูดผิวมาใช้นั้น ที่จีนซึ่งเป็นต้นตำรับตามคำกล่าวอ้าง จะใช้เหรียญทองแดง บ้างก็ใช้ช้อนหรือชาม บางทีใช้แผ่นเขาควายไปจุ่มเหล้า น้ำ หรือน้ำมันอย่างใดอย่างหนึ่ง จากนั้นจึงนำไปขูดลงบนผิวหนังตามบริเวณที่ตรวจพบว่าเกิดรอยแดง จ้ำแดง ที่มองดูแล้วคล้ายเม็ดทราย หรือบริเวณที่เป็นจ้ำสีม่วงช้ำ เนื่องจากลักษณะเหล่านี้เชื่อว่าเกิดจากความเป็นพิษภายในร่างกาย
เมื่อเทคนิคนี้แพร่เข้าไปยังเวียดนาม ที่นั่นนิยมใช้เหรียญไปขูดผิวและมีการลงน้ำมันหม่องร่วมด้วย โดยเน้นปรับสมดุลเลือดลมเวลาเป็นหวัด เป็นไข้ หรือรู้สึกไม่สบาย ในขณะที่อินโดนีเซีย ที่เชื่อว่าไม่ได้รับอิทธิพลการขูดผิวหนังนี้มาจากที่อื่น ก็จะใช้เหรียญกับยาหม่อง จุดที่เน้นทำคือ หลัง ลำคอ ไหล่ ก้น หน้าท้อง การขูดจะลงน้ำหนักค่อนข้างแรง ดังนั้น หลังจากขูด ผิวหนังบริเวณที่ทำจะมีลักษณะเป็นลอยแดงๆ แต่จะค่อยๆ จางลงในเวลาไม่ช้า โดยนอกจากช่วยแก้หวัด แก้ไข้ และกระตุ้นเลือดลมแล้ว ชาวอิเหนายังเชื่อว่า การขูดผิวมีส่วนช่วยคลายความเมื่อยล้าเนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็งตึง
สำหรับในเมืองไทย พบเห็นการบำบัดด้วยวิธีขูดผิวหนังอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในร้านนวดผ่อนคลาย ซึ่งเทอราปีสหรือผู้นวดจะใช้แผ่นเขาควายหรือใช้แผ่นพลาสติกแข็ง ถูลงบนผิวไปตามจุดที่นวดเพื่อกระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียนดีขึ้น หลังการทำ ผิวจะไม่แดงเป็นรอยชัดเหมือนกับที่เวียดนามหรืออินโดนีเซีย.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์