ประเทศไทยคนแก่เยอะสุดในอาเซียน



ก่อนจะถึงเวลา เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 2 ปีข้างหน้า ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนไทยยังไม่รู้ถึงข้อมลูของประเทศตนเองรวมถึงของประเทศเพื่่อนบ้าน เช่น เรื่องของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของสังคม แต่หลายคนกลับมองข้ามไป องค์การสหประชาชาตินิยามว่า ประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 14

จากข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2555 พบว่า โลกมีประชากรจำนวน 7,058 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 565 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8 ในขณะที่ ผู้สูงอายุของประเทศไทยมีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากถึง ร้อยละ 12.59 ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศอาเซียน โดยสิงคโปร์อยู่ที่ ร้อยละ 12.25 เวียดนาม ร้อยละ 8.53 นอกจากนี้ ยังพบว่าความก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยทำให้อัตราการ เกิดน้อยลง ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น โดยสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านคน ในปี 2550 เป็น 7.5 ล้านคน ในปี 2553 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ในปี 2568 เมื่อประเมินแล้วพบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และถัดไปอีก 10 ปีจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

โดยจากรายงานการประเมินแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545-2565 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2552 ระยะที่ 2 พ.ศ.2550-2554 โดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) พบว่าประชากรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพเพียง ร้อยละ 34.2 จากเป้าหมาย ร้อยละ 50 ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียง ร้อยละ 18.7 จากเป้าหมาย ร้อยละ 30 เป็นสมาชิกชมรมและร่วมกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุเพียง ร้อยละ 23.7 จากเป้าหมาย ร้อยละ 25 ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะทุพพลภาพได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ 29.9 จากเป้าหมายร้อยละ 80 ผู้สูงอายุได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปีเพียงร้อยละ 56.7 จากเป้าหมายร้อยละ 50 ซึ่งยังไม่ผ่านการประเมินตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ

นับเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่คนไทยควรรู้และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังมาถึง เพราะสุขภาพของผู้สูงอายุรวมถึงสวัสดิการทางสังคมต่างๆของเขาเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็น การจะขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้าไม่ใช่หน้าที่ของคนรุ่นใหม่วัยทำงานหรือวัยเรียนแล้วเท่านั้น คนสูงอายุที่เกษียญไปแล้วก็เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างรอบด้าน


ประเทศไทยคนแก่เยอะสุดในอาเซียน

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์