ผลการศึกษาชิ้นใหม่ชี้ว่า การกด"ไลค์"ในเฟซบุ๊ก อาจเป็นสิ่งบ่งบอกถึงแนวคิดทางการเมือง เพศสภาพ รสนิยมในการฟังเพลง กระทั่งเครื่องดื่มที่เราชอบ
รายงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 มี.ค.) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ระบบอัลกอริธึมในการวิเคราะห์การกดไลค์ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวอเมริกัน จำนวน 58,466 คน เพื่อทำการคาดเดาถึงบุคลิก พฤติกรรม ที่สามารถเดาไดัว่าผู้ใช้ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือติดยาเสพติดหรือไม่
เดวิด สติลเวล นักวิจัยจากเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมศึกษา กล่าวว่า การศึกษาให้ผลที่น่าประหลาดใจ เพราะสามารถทำนายศาสนา แนวคิดทางการเมือง เชื้อชาติ และเพศสภาพของผู้ใช้ ได้อย่างแม่นยำ
เฟซบุ๊กเริ่มนำปุ่ม"ไลค์"มาใช้เมื่อปี 2009 ทำให้เครื่องหมาย"ชูหัวแม่มือ"กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ โดยเมื่อปีที่แล้ว ผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลค์เฉลี่ยวันละ 2.7 พันล้านไลค์
ผลการศึกษาพบว่า การกดไลค์ในเฟซบุ๊ก สามารถเชื่อมโยงไปถึง เพศสภาพ อายุ ชาติพันธุ์ ไอคิว ศาสนา แนวคิดทางการเมือง การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาเสพติด อีกทั้งสถานภาพความสัมพันธ์ จำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊ก
ผลการกดไลค์ดังกล่าวถูกนำไปวิเคราะห์ผ่านขั้นตอนวิธีแบบอัลกอริทึม และจับคู่กับข้อมูลจากผลการทดสอบบุคคลิกภาพ การทดสอบดังกล่าวมีความแม่นยำสูงถึง 88% ในการวิเคราะห์เพศชาย และจะมีความแม่นยำสูงถึง 95% เมื่อต้องจำแนกความแตกต่างระหว่างประชากรเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน และคอเคเชียน-อเมริกัน และสูงถึง 85% ในการจำแนกผู้ที่ภักดีต่อพรรครีพับลิกันและเดโมแครต
ขณะที่ชาวคริสเตียนและมุสลิม วิธีการดังกล่าวมีความแม่นยำในการแยกความแตกต่าง 82% ขณะที่ความแม่นยำของการทำนายพฤติกรรมการใช้สารเสพติดอยู่ระหว่าง 65% และ 73% และสามารถทำนายว่าคนนั้นมีพฤติกรรมรักร่วมเพศได้หรือไม่สูงถึง 88%
ผลการศึกษาดังกล่าวอาจเป็นผลดีต่อบริษัทด้านสื่อสังคมออนไลน์
ที่อาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการจูงใจผู้ใช้ผ่านช่องทางการตลาดส่วนบุคคล แต่นักวิจัยเตือนว่าผู้ใช้อาจต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามความเป็นส่วนบุคคล ไมเคิล โคซินสกี หัวหน้านักวิจัยในดครงการดังกล่าวเปิดเผยว่า แม้จะเป็นเรื่องดีที่ระบบของเฟซบุ๊กจะขึ้นโพสต์ในนิวส์ฟีดที่ตรงกับตัวผู้ใช้ แต่ข้อมูลและเทคโนโลยีดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ในการคาดเดาแนวคิดทางการเมือง หรือความเป็นเพศสภาพของผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกหรือกระทั่งชีวิตส่วนบุคคลได้
วิธีที่ดีที่สุด คือผู้ใช้เองต้องเลือกที่จะเปิดเผยและไม่เปิดเผยข้อมูลของตนเองต่อสาธารณะ มิใช่ให้เฟซบุ๊กคอยกำหนดความเป็นไป ผลการวิจัยชิ้นนี้เป็นเครื่องเตือนใจผู้ใช้สื่ออนไลน์ ที่คดว่าการตั้งค่าในระบบ"ไพรเวซี เซ็ตติง"ในเฟซบุ๊กเป็นวิธีที่ช่วยปกป้องข้อมูลในออนไลน์ แต่ผู้ใช้ควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า ข้อมูลมากเท่าใดที่เราเลือกจะเผยแพร่ต่อสาธารณะ
การกดไลค์โพสต์หรือหน้าเพจอาจดูเหมือนไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก แต่มันอาจทำให้บุคคลบางกลุ่มนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดประเภทและทำนายพฤติกรรมในวิธีที่เกินเลยและอ่อนไหวกว่าที่เราคาดคิด