ผลการศึกษากระโหลกศีรษะมนุษย์โบราณ"นีแอนเดอร์ทัล" (Neanderthal) ชี้ว่า มนุษย์ดังกล่าว"สูญพันธุ์"ไปจากโลก เนื่องจากมีดวงตาที่มีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์ยุคปัจจุบัน
จากเหตุดังกล่าวทำให้มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ที่อาศัยในยุโรป ต้องใช้สมองทำงานหนัก เพื่อใช้สายตาในการเพ่งมองสิ่งต่างๆในระยะใกล และท่ามกลางความมืด ซึ่งถือเป็นกระบวนการพัฒนาระดับสูงครั้งสำคัญ ความสามารถดังกล่าว ทำให้มนุษย์ยุคปัจจุบัน หรือ"โฮโม เซเปียนส์" สามารถพัฒนาการออกแบบเครื่องนุ่งห่มให้มีความหนาเพื่อสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว และช่วยพัฒนาการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และช่วยให้มีชีวิตรอดในยุคน้ำแข็งของยุโรป
โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Proceedings of the Royal Society B Journal ระบุว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล เป็นสปีชีส์มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ที่อาศัยในยุโรป เมื่อราว 250,000 ปีก่อน อาศัยอยู่และมีปฏิสัมพันธ์เป็นช่วงสั้นๆกับมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ กระทั่งสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 28,000 ปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ในยุคน้ำแข็ง
ไอลูเนด เพียร์ซ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ตัดสินใจทดสอบทฤษฎีดังกล่าว โดยการเปรียบเทียบกระโหลกของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ จำนวน 32 กระโหลก และของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล จำนวน 13 กระโหลก ผลการเปรียบเทียบพบว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลมีช่องดวงตาโดยเฉลี่ยใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร เมื่อวัดจากบนลงล่าง แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่เธอกล่าวว่า จำนวนดังกล่าวเพียงพอสำหรับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ในการใช้สมองเพื่อประมวลข้อมูลด้านภาพและควบคุมร่างกาย ทำให้เหลือใช้ในการทำงานด้านอื่นๆ เช่นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมน้อยลง
ความคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากศ.คริส สติงเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านต้นกำเนิดมนุษย์ ประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงลอนดอน ซึ่งมีส่วนในการวิจัยครั้งนี้ จากการศึกษาดังกล่าว ทำให้สรุปได้ว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล มีสมองส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดเล็กกว่าโฮโมเซเปียนส์ ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัด ซึ่งรวมถึงความสามารถในการสร้างกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ เพราะหากว่ามนุษย์อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ก็จำเป็นต้องมีสมองที่มีขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการประมวลความสัมพันธ์พิเศษดังกล่าว
ทีมนักวิจัยค้นพบว่า บรรพบุรุษของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล เดินทางจากแอฟริกามายังยุโรป และต้องใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศหนาวเย็น และช่วงกลางคืนที่ยาวนานกว่าปกติ ที่ทำให้มนุษย์ดังกล่าวพัฒนาดวงตาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ที่รวมถึงพื้นที่ในระบบการประมวลภาพที่อยู่ด้านหลังสมอง ขณะที่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแอฟริกา ซึงเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ และแทบไม่ต้องปรับสภาพร่างกายใดๆ แต่ค่อยๆมีการพัฒนาสมองกลีบหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการคิดอย่างเป็นลำดับขั้น ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลก
กระทั่งปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจของนักวิจัยเกี่ยวกับสมองของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล อาศัยการคำนวณกระโหลกเป็นหลัก ทั้งขนาดของสมองและโครงสร้าง แต่ไม่ระบุชี้ชัดว่ากระบวนการทำหน้าที่ต่างจากมนุษย์ปัจจุบันอย่างไร และการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นหนึ่งในความรู้ใหม่ที่ทำให้เราเข้าถึงประเด็นดังกล่าวมากขึ้น