ขณะที่ น.พ.อภิชาติ จริยาวิลาศ (หมอท็อป) จิตแพทย์ชำนาญการประจำ ร.พ.ศรีธัญญา เล่าถึงวิกฤตการเมืองระลอกนี้ที่เกิดต่อเนื่องมา 6-7 ปีมาแล้ว ตั้งแต่มีการแบ่งแยกสีเสื้อเหลืองกับแดง เคสที่พบมากที่สุดคือความเห็นต่างนำมาสู่การแยกทางของคู่รักทั้งที่แต่งงานและยังไม่ได้แต่งงาน
"ยิ่งช่วงปีแรกพบปัญหานี้เยอะมาก เช่น บางคนเป็นแฟนกันแต่อยู่คนละสี หรืออยู่บ้านเดียวกันคนหนึ่งเปิดทีวีช่องแดง อีกคนดูช่องเหลือง เมื่อมาคุยกันแล้วก็ทะเลาะกันรุนแรง เมื่อก่อนอาจแค่เห็นไม่ตรงกันทางการเมือง แต่สถานการณ์ตอนนี้ถึงขนาดตัดขาดกันทางความสัมพันธ์ระหว่างกันเลย ความรุนแรงไม่ใช่แค่ทางกาย แต่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากวาจา สีหน้า หรือการประชดประชันระหว่างกัน เพราะความเห็นไม่ตรงกันทางการเมือง"
จิตแพทย์ ร.พ.ศรีธัญญา ฉายภาพให้ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า บางคนอินกับการเมืองเกินไป จนหลงลืมคนในครอบครัว หลงลืมคนที่รักกัน หลงว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน บางกรณีหนักถึงขนาดเลิกรากัน หรือหย่าขาดจากกันไปหลายคู่ เนื่องจากความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน เช่น บางคนแต่งงานกันมาเกือบ 30 ปีไม่ค่อยทะเลาะกัน แต่มาทะเลาะกันหนัก เพราะประเด็นทางการเมือง
"ช่วงนี้ก็มีคนทะเลาะแล้วเข้ามาปรึกษาหมอกันเยอะ บางกรณีที่ลูกคุยกับพ่อแม่ไม่ได้แล้วเพราะการเมือง ยกตัวอย่างเคสนึงพ่อแม่อยู่สีหนึ่ง แต่ลูกเขยอยู่คนละสี พ่อแม่ก็คิดหนักว่าจะให้แต่งงานกับลูกสาวด้วยดีไหม เป็นถึงขนาดนั้น ปัญหานี้ฟังดูแล้วไม่น่าเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่กลับเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะในช่วง 6-7 ปีหลัง"
ดังนั้นสิ่งที่หมอท็อปแนะนำคนที่เข้ามาปรึกษาเพราะหาทางออกกับวิกฤตนี้ไม่ได้ อันดับแรก ตั้งสติก่อนว่า ข้อมูลด้านหนึ่งที่รับมาไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเรา สิ่งสำคัญคือความสัมพันธ์ในครอบครัว อันเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ จากนั้นทำความเข้าใจ
"ต้องทำความเข้าใจว่า ความคิดเห็นแตกต่างกันได้ อย่าลืมว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมอนุญาตให้คนเราเห็นแตกต่างกันได้ การเห็นต่างเป็นเรื่องปกติในสังคม เมื่อเป็นคนไทยด้วยกัน ยิ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ไม่ควรเอาเป็นเอาตาย ถ้าเกิดมีคนอื่นเห็นแตกต่างกับเราไปบ้าง
ฉะนั้นต้องใช้ความเข้าใจเยอะ ๆ และการยอมรับความเห็นซึ่งกันและกันเป็นที่ตั้งสำคัญในความสัมพันธ์ของแต่ละครอบครัว"
ทางออกในความขัดแย้งครั้งนี้ น.พ.ทวี ตั้งเสรี แนะนำให้ถอยกันคนละก้าว ใครจะถอยก่อนก็ได้ เพื่อคนในครอบครัวจะได้กลับมาสื่อสารกันได้ใหม่
ส่วนวิธีการกลับมาสื่อสารกันใหม่นั้น น.พ.อภิชาติมีวิธีมาแนะนำกรณีที่เกิดกับลูกและพ่อแม่ ถ้าเป็นลูกที่ค่อนข้างโตแล้วระดับหนึ่ง จนมีความเห็นเป็นของตัวเอง หรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนในการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว ถ้ารู้ว่าสมาชิกในครอบครัวคนใดมีความคิดทางการเมืองที่เข้มข้น มีความเชื่อที่สุดขั้ว
พ่อแม่เองก็ต้องตั้งสติ แล้วสำรวจกับตัวเองก่อนว่า เรามีความคิดที่สุดขั้วด้วยหรือเปล่า เพราะบางกรณีพ่อแม่สุดขั้ว ฝ่ายลูกก็สุดขั้วเช่นกัน ดังนั้นเราต้องหาจุดยืนของเราให้ได้ก่อนว่าคืออะไร ต้องเข้าใจตัวเองก่อน
ต้องเข้าใจว่า ความเห็นที่แตกต่าง เป็นความปกติของมนุษย์ เราเห็นต่างกันได้ และก็มีวิธีการพูดคุยระหว่างกันหลายอย่าง แต่ที่สำคัญอย่าหลงลืมว่า เราเป็นครอบครัวเดียวกัน
"ที่สำคัญเราต้องมีบทสนทนาของคนที่เป็นครอบครัวด้วย เช่น ถาม
สารทุกข์สุกดิบ ให้ความห่วงใยระหว่างกัน ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง ถ้าเราเกิดหลงลืมตรงนี้ไป สถาบันครอบครัวพัง ย่อมทำให้ประเทศพังตามไปด้วย ตอนนี้กลายเป็นว่า เราเพ่งแต่เรื่องการเมือง จนหลงลืมรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว"
หมอท็อปยกตัวอย่างเคสที่เข้ามาปรึกษาบ่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นคู่ครองที่ต่างมีมุมมองสุดขั้วทางการเมือง ขนาดไปร่วมคนละเวที หรือกรณีแม่ขึ้นเวทีแดง ลูกขึ้นเวทีเหลือง
"แต่ครอบครัวที่อยู่กันได้ ไม่ใช่ว่ามีทรรศนะการเมืองแบบใด เพราะหลายบ้านที่อยู่กันได้ แม้จะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่พอกลับมาอยู่ในบ้าน ก็ไม่ลืมว่าอยู่ในฐานะและทำหน้าที่อะไรในครอบครัว แม่ทำหน้าที่แม่ ลูกทำหน้าที่ของลูก ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองในครอบครัว
เราต้องระลึกเสมอว่า หน้าที่ที่เราต้องทำคู่กันเสมอ นั่นคือ หน้าที่พลเมือง และยังต้องทำหน้าที่ในครอบครัวด้วย เพราะชาติของเรายืนอยู่ได้ ต้องมีสถาบันทางครอบครัวเข้มแข็งด้วย"
ส่วนกรณีที่ทะเลาะกันรุนแรงถึงขั้นหย่าร้างกัน หรือตัดพ่อตัดลูก เพราะความคิดทางการเมืองต่างกัน การทำให้สิ้นสุดความเป็นครอบครัวเป็นเรื่องที่รุนแรงมากที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย
สิ่งที่หมอท็อปย้ำคือ เป็นไปไม่ได้เลยที่คนเราจะเห็นอะไรที่เหมือนกัน เมื่อเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องให้เกียรติและเคารพในความคิดของคนอื่น แต่เมื่อใดที่เราบังคับให้คนอื่นคิดตามเรา โดยใช้กำลัง วาจา หรือวิธีการใด ๆ ก็ตามที่เป็นการบังคับ นั่นก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และไม่ใช่ระบบครอบครัวอีกต่อไป
ถ้าเกิดความเห็นที่แตกต่างกัน ต้องมีสติ และต้องประคับประคองความเป็นครอบครัวไว้ก่อน ต้องประเมินคนในครอบครัวมีความสามารถในการเปิดรับได้มากน้อยแค่ไหน อย่ายัดเยียดให้อีกฝ่ายยอมรับโดยไม่สมัครใจ ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ คุย
เมื่อใดเริ่มมีอารมณ์เกิดขึ้นต้องหยุดพูดถึงเรื่องการเมืองทันที ให้เปลี่ยนเรื่องคุยทันที เพราะการพูดคุยที่มีอารมณ์เกิดขึ้นจะไม่ใช่การพูดคุยแล้ว แต่เป็นการโต้เถียงกันแทน เราต้องรู้ให้เท่าทันก่อนทะเลาะกัน
เราต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน และอย่าไปยัดเยียดความคิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ที่สุดแล้วการทะเลาะทางการเมืองไม่มีทางจบ แต่เราจะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไรคือสิ่งสำคัญ