ในรอบ 4 เดือนของปีนี้(พ.ศ.2557) ตั้งแต่เดือนมกราคม–เมษายน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษทั่วประเทศจาก 22 จังหวัด จำนวน 91 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัด ที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ พังงา 23 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 20 ราย ขอนแก่น 5 ราย ศรีสะเกษ 4 รายและคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นกว่านี้ 4-5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศจึงกำลังเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป
สำหรับอาการของผู้กินเห็ดพิษจะต่างกันไปตามชนิดของเห็ด ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริว อาจเกิดขึ้นหลังกินไม่กี่นาที หลายชั่วโมง หรือหลายวัน ในรายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตได้ภายใน 1-8 วัน จากการที่ตับถูกทำลาย ดังนั้น วิธีการช่วยเหลือที่สำคัญคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอออก เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านทันที พร้อมนำเห็ดที่รับประทานไปด้วย
เห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุดคือ เห็ดระโงกหินหรือเห็ดไข่ตายซากจะมีสารพิษ 2 ชนิดคือ อะมาท็อกซินส์ และฟาโลท็อกซินส์ ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดจะทนความร้อนได้ดี ดังนั้นถึงแม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังมีสูง รูปร่างทั่วไปคล้ายกับเห็ดระโงกที่รับประทานได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกที่รับประทานได้ ขอบหมวกมักจะเป็นริ้วคล้ายรอยหวี มีกลิ่นหอมและก้านดอกกลวง ส่วนเห็ดระโงกที่เป็นพิษดังกล่าว กลางดอกหมวกจะนูนขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะปลอกหุ้มโคน จะยึดติดกับก้านดอก ก้านดอกตัน หรือเป็นรูปที่ไส้กลางเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและกลิ่นค่อนข้างแรงเมื่อดอกแก่ มักเกิดแยกจากกลุ่มเห็ดที่รับประทานได้ มีทั้งแบบดอกสีเหลืองอ่อน สีเขียวอ่อน สีเทาอ่อน และสีขาว นอกจากนี้ยังมีเห็ดที่มีพิษแต่พิษไม่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิตอีกหลายชนิดตามแต่ละท้องถิ่น
สำนักโรคติดต่อทั่วไปแนะนำวิธีการป้องกันอันตรายจากเห็ดพิษ ว่า
1.อย่ารับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก หรือหากจำเป็นต้องทานควรชิมเพียงเล็กน้อยก่อนเพื่อดูอาการ
2.เห็ดย่อยยาก ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอาจเป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษได้ นอกจากนี้เห็ดที่เน่าเสียก็เป็นอีกสาเหตุของอาหารเป็นพิษ
3.ระมัดระวังอย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา (แอลกอฮอล์) เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที
4. อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้น สุก ๆ ดิบ ๆ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้นและเป็นพิษร้ายแรงถึงกับเสียชีวิตได้ในภายหลัง
ส่วนลักษณะของเห็ดที่ควรหลีกเลี่ยงไม่ควรเก็บมาบริโภคควรสังเกตุจาก
- เห็ดที่เป็นสีน้ำตาล เห็ดที่มีหมวกเห็ดสีขาว
-เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก
-เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม
-เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา
-เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมองหรืออานม้า บางชนิดต้มแล้วกินได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง
-เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์
การทดสอบเห็ดพิษแบบชาวบ้าน มีหลายวิธี แต่ไม่ได้ผล 100% การทดสอบอาจมีการผิพลาด ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ ควรบริโภคเห็ดที่เคยบริโภคแล้วไม่เกิดอันตรายเท่านั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันอันตรายจากการบริโภคเห็ด
นอกจากเห็ดพิษแล้ว อาหารที่เป็นพิษและพบผู้ที่ได้รับพิษบ่อยคือ ปลาปักเป้าและแมงดาทะเล ซึ่งสัตว์2ชนิดนี้ มีพิษอยู่ในตัวอยู่แล้ว และเป็นที่ชื่นชอบของนักชิมไม่น้อย พิษส่วนใหญ่ที่ได้รับนั้นส่วนใหญ่มาจากกรรมวิธีการปรุงที่ไม่สะอาด และนำพิษออกไม่หมด ทาง เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่ควรระวัง