ในช่วงหน้าฝนมีข่าวประชาชนเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่าออกมามาก จากสภาพอากาศร้อนอบอ้าวและมีความชื้นสูง
หากมีพายุฝน ฟ้าคะนองจะมีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้ง่าย จากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า (Lightening-related injuries) ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2551-2555 มีผู้ถูกฟ้าผ่า 180 ราย เสียชีวิต 46 ราย คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 26 ซึ่งสาเหตุในการถูกฟ้าผ่านั้นมีหลายสาเหตุ และหนึ่งในสาเหตุหลักนั้นมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือ
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกับวัยรุ่น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นของคู่กันไปแล้ว ซึ่งการใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง หลายคนอาจคิดว่าไม่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาก็เพียงพอแล้ว แต่นั้นเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะต่อให้ไม่ใช้อย่างไรก็ยังมีโอกาสที่ผู้อื่นโทรเข้ามาได้ หรือ เพียงแค่การรับข้อความ SMS,MMS หรือจะ GPRS ก็เพียงพอที่จะทำให้มือถือกลายเป็นสายล่อฟ้าได้แล้ว
และหลายคนอาจคิดว่าการใช้อินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่การโทรเข้า-ออก คงไม่ถูกฟ้าผ่า นั่นก็เป็นอีกหนึ่งวิธีคิดที่ผิด
เพราะสาเหตุการถูกฟ้าผ่าโทรศัพท์มือถือไม่ได้เกิดจากคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่แผ่ออกมาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับวัสดุโลหะที่ใช้ทำโทรศัพท์มือถืออีกด้วย เนื่องจากโลหะจะเป็นตัวรวมคลื่นฟ้าผ่าให้พุ่งตรงมาที่ตัวโทรศัพท์ แทนที่จะเป็นการผ่าแบบกระจัดกระจาย ซึ่งนี่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่รุนแรงมากกว่าปกติ
ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะ9วิธีป้องกันการถูกฟ้าผ่าจากการใช้โทรศัพท์และจากสาเหตุอื่นไว้ว่า
1. หากอยู่ในที่โล่งให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง หรือควรหลบในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าสัมผัสกับตัวถังรถ
2. หากหาที่หลบไม่ได้ ให้หมอบนั่งยอง ๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด โดยแนบมือทั้งสองข้างติดกับเข่า แล้วซุกศีรษะเข้าไประหว่างเข่า ส่วนเท้าให้ชิดกันหรือเขย่งปลายเท้า เพื่อลดพื้นที่สัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด แต่อย่านอนหมอบกับพื้น เพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งมาตามพื้นได้
3. อย่ายืนหลบอยู่ใต้ต้นไม้สูงและบริเวณใกล้เคียงกับต้นไม้ หรืออยู่ในที่สูงและใกล้ที่สูง ที่สำคัญอย่ากางร่ม
4. ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะแม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ อีกทั้งโทรศัพท์มือถือมีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า และยังทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรจนเกิดระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
5. ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ตในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณหรือเสาอากาศที่อยู่นอกบ้าน และกระแสไฟจากฟ้าผ่าจะวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ทำให้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ รวมทั้งผู้ใช้งานได้รับอันตราย
6 .ควรถอดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพราะฟ้าอาจผ่าลงที่เสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้ากระชากเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจทำให้เสียได้ และควรดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออก เพราะหากฟ้าผ่าที่เสาอากาศบนหลังคาบ้าน อาจวิ่งเข้าสู่โทรทัศน์ได้
7.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะทุกชนิด เนื่องจากโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้าและอย่าอยู่ใกล้สายไฟ
8.หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ เพราะเป็นตัวนำไฟฟ้า
9.ควรเตรียมไฟฉายไว้ส่องดูทาง เพราะอาจเกิดไฟดับหรือไฟไหม้ได้
สำหรับวิธีปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่า นายแพทย์โสภณ แนะว่า ให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย สามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าซ็อต โดยการปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่าจะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่ถูกไฟฟ้าช๊อต หากหมดสติ ไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจให้ผายปอดทันทีก่อนนำส่งโรงพยาบาล ด้วยการให้ลมทางปากหรือที่เรียกว่า “การเป่าปาก” ร่วมกับนวดหัวใจเพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน โดยให้วางมือตรงกึ่งกลางลิ้นปี่เล็กน้อย กรณีทำการปฐมพยาบาลคนเดียวให้นวดหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ถ้าทำการปฐมพยาบาลสองคน ให้นวดหัวใจ 5 ครั้งสลับกับการเป่าปาก 1 ครั้ง ก่อนนำผู้ป่วยส่งแพทย์ต่อไป
นายธารา ฤทธิ์บุญ หนึ่งในวัยรุ่นที่ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ กล่าวว่าปกติเป็นคนหนึ่งที่ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา ทราบดีว่าเวลาเกิดฝนตกหนักไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะอาจเกิดฟ้าผ่าได้ และในระแวกบ้านมีเหตุการณ์คนถูกฟ้าผ่าบ่อยครั้ง ส่วนเรื่องความร้ายแรงจากการถูกฟ้าผ่าตนทราบดี เพราะระแวกบ้านมีข่าวแบบนี้บ่อย แต่ตนก็ยังใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ประจำขณะฝนตก แต่จะหลีกเลี่ยงที่จะใช้เวลาฝนตกหนัก
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทุกคนที่ใช้ โทรศัพท์มือถือ ขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง จะต้องโดนฟ้าผ่าไปทุกราย เนื่องจากจะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหมาะสมด้วย เช่น อยู่ในที่โล่งแจ้งหรือไม่ อยู่ใกล้ต้นไม้สูงหรือไม่ หรือก้อนเมฆในบริเวณนั้นมีประจุไฟฟ้าสะสมไว้มากหรือไม่ เป็นต้น
เดลินิวส์ออนไลน์