มงคลชีวิต 38 ประการ – ธรรมะสำหรับคนดี


มงคลชีวิต 38 ประการ เป็นหลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนเอาไว้ เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้ถึงซึ่งความสุข ความสงบและความเจริญในชีวิต ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่ามงคลชีวิตทั้ง 38 ประการนี้เป็นหลักธรรมะสำหรับคนดี คนที่มุ่งหวังความสำเร็จ สงบสุขและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขนั่นเอง



มงคลชีวิต 38 ประการ ประกอบไปด้วย

มงคลประการที่ 1 : การไม่คบคนพาล
การคบคนพาลนั้นท่านว่าไม่เป็นมงคล เนื่องจากคนพาลจะทำชีวิตเราไปพบแต่ความเสื่อม ฉุดคร่าฐานะตัวเราให้ตกต่ำลงและนำความเดือดร้อนมาสู่ชีวิตตนเอง โดยที่คนพาลในที่นี้หมายถึงคนโง่ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้และโลกหน้า หายใจทิ้งไปวันๆ คนเกียจคร้าน ไม่ทำกิจการงาน ไม่ศึกษาหาความรู้ คนไม่รักษาศีล 5 คนไม่รักษาทรัพย์ คนจิตใจร้ายชอบทำร้ายผู้อื่น ชอบกล่าววาจาเป็นเท็จ คนเหล่านี้ท่านจัดไว้ว่าเป็นคนพาล

มงคลประการที่ 2 : การคบบัณฑิต
บัณฑิตจะมีลักษณะตรงข้ามกับคนพาล ดำเนินชีวิตด้วยสติและปัญญา ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอไม่คิดร้ายกับใคร มีใจโอบอ้อมอารีย์ ไฝ่หาความรู้เป็นนิตย์ หาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต ท่านกล่าวไว้ว่าเมื่อพบบัณฑิตเราควรกระทำ 7 อย่างกับบัณฑิตท่านนั้น กล่าวคือ ให้ไปมาหาสู่ ให้เข้าตีสนิทชิดชอบ ให้ความจงรัก ให้ความภักดี ให้เป็นเพื่อนร่วมคิด ให้เป็นเพื่อนร่วมกินและให้ดำเนินตามอย่าง การคบบัณฑิตจะเป็นเหตุให้เราเจริญด้วยสรรพสมบัติ วิทยฐานะสูงขึ้นกว่าเดิม มีกายวาจาใจที่งดงามน่าคบหา ปราศจากความโศกเศร้าและหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะในที่สุด พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่าการคบบัณฑิตเป็นมงคลอย่างหนึ่งในชีวิต

มงคลประการที่ 3 : การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
กรบูชาบุคคลนั้น ท่านกล่าวไว้ว่าการบูชาคนที่ควรบูชาจะทำให้เราได้รับความสุขสบายใจ ชักนำให้เราได้รู้จักบาปบุญคุณโทษ แต่การไปหลงบูชาคนที่ไม่ควรบูชานั้นเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียและความเศร้าใจในภายหลัง บุคคลที่ควรบูชานั้นท่านกล่าวไว้ว่าเริ่มจากบิดามารดาของตนเอง ญาติมิตรสหายผู้เคยอารีย์แก่ตนเอง ครูบาอาจารย์ผูประสิทธิประสาทวิชาความรู้ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณต่อแผ่นดินและพสกนิกร พระศาสดาและสาวกผู้ปฏิบัติชอบ เป็นต้น ในการบูชานั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทคืออามิสบูชา ซึ่งหมายถึงการบูชาด้วยสิ่งของ ธูปเทียน ดอกไม้ และปฏิบัติบูชาซึ่งหมายถึงการนำคำสั่งสอนมาปฏิบัติให้เห็นผล ชาวพุทธเราได้รับการปลูกฝังมาอย่างยาวนานว่าการบูชาประเภทที่สองนั้น ให้พลาผลสูงกว่าอย่างแรก

มงคลประการที่ 4 : การอยู่ในถิ่นอันเหมาะสม
มงคลนี้คือการเลือกที่อาศัย ที่อยู่ ที่ทำมาหากิน ให้เหมาะสมกับตน เช่นชอบทำงานเช่นไรก็ให้อยู่ในสถานที่เช่นนั้น ชาวนาก็ควรอยู่ในที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก นักคอมพิวเตอร์ก็ควรทำงานในที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน ผู้มีจิตใจอ่อนโยน รักสัตว์ ก็ไม่ควรอยู่ในที่ใกล้โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมนี้จะช่วยให้เราสามารถดำรงค์ชีวิตได้อย่างสงบสุข สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างเจริญรุ่งเรือง มีความสุขกายสบายใจ ท่านจึงกล่าวไว้ว่าการอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมเป็นมงคลของชีวิต

มงคลประการที่ 5 : การทำบุญไว้ในปางก่อน
การทำบุญหมายถึงการทำคุณ ทำความดี สิ่งที่เรากำลังประสพอยู่ในขณะนี้คือผลจากสิ่งที่เราทำในอดีต อดีตในที่นี้หมายถึงถึงชาติก่อนและในวันเวลาที่ผ่านมา การทำความดีในวันนี้ก็จะส่งผลดีกับตัวเราในวันข้างหน้า (ในชาตินี้) โดยไม่ต้องรอในชาติหน้าแต่อย่างใด บางคนกล่าวว่าชาติหน้าไม่มีจริงไม่ต้องรีบทำความดีก็ได้ ข้อนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก สิ่งที่เราทำในชาตินี้ก็มักจะส่งผลกับเราในชาตินี้เช่นกัน เช่นเราฆ่าคนตาย ตำรวจก็จะจับเราติดคุกหรือประหารให้ตายตกไปตามกัน หรือเราช่วยเหลือคนที่กำลังได้รับความลำบาก วันหนึ่งข้างหน้าเราลำบาก คนผู้นั้นก็กลับมาช่วยเหลือเราบ้างเป็นการตอบแทน จากทั้งสองกรณีจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะสนองเราในชาตินี้ส่วนหนึ่ง ไม่ต้องรอชาติหน้า พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่าการทำบุณความดีนั้นสามารถทำได้ง่าย ไม่ยากอะไร หลักการที่ง่ายที่สุดคือให้พิจารณาตามหลักบารมี 10 ประการ ซึ่งประกอบด้วย ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมีและอุเบกขาบารมี

มงคลประการที่ 6 : การตั้งตนไว้ชอบ
มงคลประการนี้คือการตั้งตน ประพฤติตนให้เหมาะสมกับฐานะและหน้าที่ของตน การตั้งจิตไว้ในความดี ความมีกุศล รู้จักประมาณตน ไม่มีความอหังการ รู้จักการปรับตัวให้ตั้งมั่นในความดี เช่น เมื่อตนยังไม่มีศีลก็ให้ปรับตัวให้ตั้งอยู่ในศีล เมื่อตนยังไม่มีศรัทธาก็ให้ปรับตัวให้ตั้งอยู่ในศรัทธา เมื่อตนยังมีความตระหนี่เห็นแก่ตัวก็ให้ตั้งตนอยู่ในการบริจาคและให้ทาน เป็นต้น

มงคลประการที่ 7 : การตั้งใจฟังโดยมาก
การฟังโดยมากหรืออีกนัยยะหนึ่งคือการหมั่นศึกษาหาความรู้ใส่ตัวนั่นเอง จริงอยู่คนเรามีเชาว์ปัญญาตั้งแต่เกิดมาไม่เท่ากัน แต่คนมีเชาว์มีปัญญามากถ้าไม่มีการศึกษาที่ดีแล้ว เชาว์ที่มีอยู่ก็ไร้ซึ่งประโยชน์ ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าเชาว์ที่มีมาตั้งแต่เกิดจะสามารถใช้ประดยชน์ได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อได้รับการศึกษาที่ดีนั่นเอง การเป็นผู้ฟังมาก เรียนมาก จะทำให้เราหยั่งทราบถึงเหตุผล นำตัวเองออกจากอวิชชา สามารถปรับแต่งความรู้นั้นมาใช้กับชีวิตของตนและสามารถสร้างจิตที่บริสุทธิ์แก่ตนและนำตนไปสู่หนทางพ้นทุกข์ได้ ท่านจึงกล่าวไว้ว่าสิ่งนี้คือยอดแห่งมงคลชีวิต

มงคลประการที่ 8 : การศึกษาศิลปะวิทยา
มงคลในข้อนี้หมายถึงการศึกษาฝึกฝนในศิลปะวิทยาการ ในวิชาชีพแขนงใดแขนงหนึ่งจนเชี่ยวชาญ และนำความเชี่ยวชาญนั้นมาสร้างความสุข ความเจริญแก่ตน ครอบครัวและสังคมส่วนรวมได้

มงคลประการที่ 9 : การมีวินัยที่ดี
การมีวินัยหมายถึงการมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย การอยู่ในหลักปฏิบัติที่ดีงาม การเคารพกติกาการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะนำมาซึ่งความสงบสุข ความสะอาดตาสะอาดใจแก่ผู้พบเห็น สำหรับคนทั่วไปนั้นการมีวินัยเป็นการควบคุมชีวิตจิตใจให้ดำเนินไปทางที่ดี ที่ชอบ หรือที่เรียกว่าอาคาริยวินัย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ
1. ไตรสรณคมณ์ เป็นวินัยเบื้องต้นสำหรับควบคุมจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีงาม
2. ศีล 5 เป็นวินัยหรือข้อห้ามเบื้องต้นที่คนทั่วไปจะต้องพึงระวังตนไว้ตลอดเวลา
3. ศีล 8 หรืออุโบสถศีล เป็นวินัยที่ควบคุมจิตใจให้ห่างไกลจากกามกิเลสและอารมณ์ต่างๆ
4. กุศลกรรมบท 10 คือวินัยในการทำความดี 10 ประการเพื่อความสุขทั้งภพนี้และภพหน้า

มงคลประการที่ 10 : การมีวาจาที่เป็นสุภาษิต
การพูดจาเป็นสุภาษิตนั้นพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าได้แก่การพูด 5 แบบ กล่าวคือ การพูดถูกกาละ การพูดจริง การพูดอ่อนหวาน การพูดที่ก่อให้เกิดประโยชน์และการพูดที่ประกอบไปด้วยจิตเมตตา ซึ่งมีความหมายชัดเจนในตัวเอง นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงแสดงเสริมไว้ด้วยว่าการพูดควรพูดคำอันเป็นธรรมะด้วย การมีวาจาเป็นสุภาษิตนี้จะตรงข้ามกับการพูดชั่วซึ่งหมายถึงการพูดที่ปราศจากประโยชน์ พูดหยาบคาย พูดให้หมู่คณะแตกแยก พูดเท็จ การให้ร้ายผู้อื่น ซึ่งการพูดประเภทนี้รังแต่จะมีคนรังเกียจไม่อยากคบหาสมาคมด้วย

มงคลประการที่ 11 : การบำรุงบิดามารดา
ทุกคนเกิดมาย่อมต้องมีบิดามารดา บิดามารดาคือพระในบ้าน คือพรหมของลูกทุกคน ดังนั้นการบำรุงเลี้ยงดูท่านย่อมเป็นสิ่งประเสริฐยิ่งที่ลูกพึงกระทำ กว่าเราจะเติบใหญ่ได้นั้น บิดามารดาต้องเลี้ยงดูเรามาด้วยความยากลำบาก บางคนยอมอดเพื่อให้ลูกได้อิ่ม ดังนั้นเมื่อเราเติบใหญ่ขึ้นมาเราจึงควรสนองคุณท่าน เลี้ยงดูท่านจนสุดกำลังความสามารถ ช่วยทำกิจการให้สำเร็จลุล่วง ปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่การดำรงค์วงศ์สกุลสืบไป เอาใจใส่ทรัพย์ที่ท่านหามาและมอบให้มิให้สุญไปโดยใช่เหตุ ชักนำท่านให้ตั้งอยู่ในความดีและพึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลเมื่อท่านสิ้นบุญไปแล้ว การกระทำเหล่านี้พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่าเป็นมงคลอันประเสริฐ

มงคลประการที่ 12 : การสงเคราะห์บุตร
เมื่อเราอยู่ในฐานะลูกเราต้องดูแลบำรุงบิดามารดา ในขณะที่เมื่อเราเติบใหญ่ขึ้นมีครอบครัว มีบุตรธิดา เราก็ต้องมีหน้าที่บำรุงและสงเคราะห์บุตรด้วย โดยการบำรุงให้เขามีปัจจัยจำเป็นในการดำรงค์ชีวิตที่ครบถ้วน พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่าการสงเคราะห์บุตรนั้นควรทำใน 5 สถานกล่าวคือ ห้ามเสียจากการทำชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยา หาคู่ครองที่เหมาะควรให้และมอบทรัพย์ให้เมื่อถึงเวลา ทำได้ดังนี้ก็นับว่าเราได้ปลูกฝังให้บุตรธิดาให้เป็นคนดีของสังคมและจะสามารถดำรงค์ชีวิตต่อไปได้เมื่อเราสิ้นไป การสงเคราะห์บุตรนี้ยังรวมไปถึงบุตรบุญธรรมและผู้อยู่ภายใต้ปกครองของเราด้วย

มงคลประการที่ 13 : การสงเคราะห์ภรรยา
การสงเคราะห์ภรรยาหรือคูครองนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจซึ่งกันและกันไว้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงวิธีสงเคราะห์ภรรยาไว้ 5 สถานคือ การยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา ไม่ดูหมิ่นดูแคลน ไม่ประพฤตินอกใจ มอบความเป็นใหญ่ให้และให้เครื่องแต่งตัวแก่ภรรยาตามโอกาส เมื่อสามีและภรรยาได้สงเคราะห์กันตามสมควรแล้ว ครอบครัวย่อมมีความสุข ความรักต่อกันไม่จืดจาง ท่านจึงจัดไว้เป็นมงคลประเภทหนึ่ง

มงคลประการที่ 14 : การทำงานไม่คั่งค้าง
หมายถึงการทำงานที่ได้รับมอบหมาย งานในหน้าที่รับผิดชอบ ให้สำเร็จลุล่วงตามกำหนดเวลา ไม่ปล่อยทิ้งเอาไว้จนสุมกองเป็นงานค้างในวันต่อไป ซึ่งการทำงานให้เสร็จสิ้นโดยเร็วนี้จะทำให้มีความเครียดน้อยลง มีความเจริญก้าวหน้า ถือได้ว่าเป็นผู้รับผิดชอบสูง ท่านจึงกล่าวไว่ว่าเป็นมงคลยิ่ง

มงคลประการที่ 15 : การรู้จักให้
การให้หรือทานคือการที่เจ้าของสิ่งของมีเจตนาที่จะนำของของตนนั้นไปมอบให้กับผู้ที่ไม่มี ผู้ที่ขาดแคลน ทั้งนี้การให้ที่ดีต้องพิจารณา 3 อย่าง กล่าวคือ สิ่งของนั้นสมควรให้ ความตั้งใจที่จะให้และบุคคลนั้นสมควรจะให้ การให้นี้จะทำให้ผู้ให้คลายความตระหนี่ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นที่รักของคนทั่วไปและมีจิตใจที่เบิกบาน การให้นั้นมิได้หมายถึงเพียงแค่การให้สิ่งของเท่านั้น การให้โอกาส การให้แนวทาง การให้ปัญญา ก็ถือว่าเป็นการให้ทั้งสิ้น

มงคลประการที่ 16 : ความประพฤติเป็นธรรม
ความประพฤติที่เรียกว่าเป็นธรรมนั้นหมายถึงการประพฤติชอบ ประพฤติสุจริต ทั้งทางกาย วาจาและใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นแม้ทางใจ ยึดถือหลักที่ถูกต้องในการปฏิบัติ ไม่เอนเอียงไปในทางทุจริตด้วยอามิส มีความยุติธรรมเสมอภาค ผู้มีความประพฤติเป็นธรรมย่อมมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่าเป็นมงคล

มงคลประการที่ 17 : การสงเคราะห์ญาติ
ญาติในที่นี้หมายถึงญาติทางสายโลหิตและญาติทางธรรมอันหมายถึงผู้ที่รู้จักมักคุ้น สนิทสนมกัน การไม่มีญาติเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ยากที่จะสามารถต้านกระแสลมแรงได้ การสงเคราะห์ญาตินั้นนอกจากจะทำให้คนเหล่านั้นพ้นทุกข์ มีความสุขแล้ว ญาติเหล่านั้นจะเปรียบเหมือนเกราะกำบังผองภัยให้กับเรา งานการต่างๆของเราก็จะได้รับความร่วมมือร่วมใจให้สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้โดยเร็ว ดังนั้นการสงเคราะห์จึงให้ประโยชน์หลายสถานและนับได้ว่าเป็นมงคลอย่างหนึ่ง

มงคลประการที่ 18 : การทำงานที่ไม่เป็นโทษ
การทำงานที่ไม่เป็นโทษหมายถึงงานที่ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดศีลผิดธรรม งานที่มีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ เช่นการทำงานสาธารณกุศล การปลูกป่าปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น การสร้างถนน คูคลอง สร้างสะพานหรือแม้กระทั่งการช่วยเหลือผู้อื่นในการทำงานที่สุจริต เหล่านี้ถือว่าเป็นการงานที่ดี ไม่มีโทษ ท่านจึงกล่าวไว้ว่าการทำงานที่ไม่เป็นโทษเป็นมงคลชีวิต

มงคลประการที่ 19 : การงดเว้นจากบาป
หมายถึงการงดเว้น การไม่ยินดีหรือเจตนาที่จะทำในสิ่งที่ผิดหรือเลวร้ายทั้งทางกาย วาจาและใจ ละเว้นจากสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองทั้งปวง ซึ่งก็คือศีล 5 นั่นเอง การงดเว้นจากบาปทั้งปวงนั้นเป็นการชำระกิริยา วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์และอำนวยผลให้เกิดความสุขและเย็นสงบแก่ผู้ปฏิบัติ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่าการงดเว้นจากบาปเป็นมงคลชีวิต

มงคลประการที่ 20 : การไม่ดื่มน้ำเมา
น้ำเมาก็คือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ทุกประเภท รวมถึงสารเสพติดให้โทษประเภทอื่นๆทุกชนิด การดื่มน้ำเมานั้นนอกจากผิดศีลข้อ 5 แล้ว ยังเป็นบ่อเกิดความเสื่อมและเสียหายแก่ผู้ดื่มอีกหลายอย่างเช่น เป็นเหตุให้เสียทรัพย์โดยไม่จำเป็น เป็นเหตุเห่งการทะเลาะวิวาท เป็นบ่อเกิดของโรค เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง เป็นเหตุให้ไม่รู้จักอายและเป็นเหตุบั่นทอนสติปัญญา เป็นต้น น้ำเมาและสิ่งเสพติดนั้นทำให้ผู้ดื่มเสียการควบคุมสติที่ดี ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง การไม่ตกเป็นทาสของสิ่งมึนเมาเหล่านี้จะทำให้เรามีสติที่บริบูรณ์ ไม่สร้างปัญหาใดๆให้เกิดขึ้น มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด ดังนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงตรัสไว้ว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง

มงคลประการที่ 21 : ความไม่ประมาทในธรรม
ความไม่ประมาทคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ความไม่ประมาทในธรรมหมายถึงความไม่ประมาททั้งในทางดีและทางชั่ว คือทางชั่วก็อย่าประมาทว่าไม่เป็นไร ทางดีก็ไม่ประมาทเลินเล่อ ให้ตั้งใจขะมักขะเม่นทำ ความไม่ประมาทในทางพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่าเราพึงทำความไม่ประมาทในฐานะ 4 คือ ในการละกายทุจริตบำเพ็ญกายสุจริต ในการละวจีทุจริตบำเพ็ญวจีสุจริต ในการละเว้นมโนทุจริตบำเพ็ญมโนสุจริต ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูกต้อง การไม่ประมาทในธรรมนั้นมีหลายอย่างความไม่ประมาทในเวลา การไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในการทำงาน ไม่ประมาทในการศึกษาและไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรมเป็นต้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่าความไม่ประมาทในธรรมนั้นเป็นมงคล

มงคลประการที่ 22 : ความเคารพผู้อื่น
ความเคารพนั้นสามารถแบ่งได้เป็นอย่างได้แก่ เคารพตนเอง เคารพผู้อื่น เคารพธรรม โดยที่บุคคลที่ควรเคารพนั้นท่านจำแนกไว้ 3 ประเภทคือผู้เจริญด้วยชาติกำเนิด ผู้เจริญด้วยวัยและผู้เจริญด้วยคุณ การเคารพในธรรมนั้นท่านกล่าวไว้ว่าได้แก่การเคารพในพระรัตนตรัย เคารพในสมาธิ เคารพในความศึกษา เคารพในความไม่ประมาทและเคารพในปฏิสันฐาน เมื่อคนเราสามารถปฏิบัติตามหลักการเคารพต่างๆเหล่านี้แล้วไซร้ ย่อมก่อให้เกิดความเจริญ ความสำเร็จ เกิดมิตรไมตรี เกิดความรักใครเอ็นดู ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นมงคลของชีวิต

มงคลประการที่ 23 : ความถ่อมตน
ความหมายของมงคลข้อนี้ก็คือการไม่หยิ่งยโส ไม่จองหอง ไม่ทะนงตัว เจียมตัว ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่าเป็นผู้ไม่กระด้าง ไม่มีพิษภัย มีวาจาอันละเอียดอ่อน แม้จะเป็นผู้ที่เจริญมากด้วยวิทยฐานะก็ไม่กระดากที่จะทำการคารวะอ่อนน้อมต่อผู้อื่น ลักษณะของการถ่อมตัวมี 3 อย่างคือ กิริยาอ่อนหวาน วาจาอ่อนหวานและใจอ่อนโยน คนที่ถ่อมตนย่อมเป็นที่ปราณีรักใคร่ของทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย มีแต่ผู้อยากคบหาสมาคม ยกย่องเชิดชู นับเป็นมงคลยิ่งแก่ตัว

มงคลประการที่ 24 : ความสันโดษ
ความสันโดษในที่นี้หมายถึงความยินดีในฐานะที่ตนมีอยู่ ไม่ดิ้นรนทะเยอทะยานในสิ่งที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี มากจนเกินไปจนเกิดความทุกข์ การรักษาใจไม่ให้ความโลภเข้าครอบงำเป็นธรรมะสำหรับปราบความปรารถณาที่ไม่รู้จบ ความมักใหญ่ไฝ่สูงและความปรารถณาอันออกนอกทางสุจริตของตนเอง บัณฑิตทั้งหลายได้ได้แบ่งความสันโดษออกเป็น 3 อย่างคือความยินดีตามที่ได้ ให้ประมาณกำลังกายของตนไม่หวังในสิ่งที่เกินกำลังและให้รู้ฐานะของตน พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเอาไว้ว่าความสันโดษนั้นเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เพราะความมีหรือความจนนั้นอยู่ที่ใจไม่ใช่ที่โภคทรัพย์ ฉะนั้นผู้ที่ปรารถณาความสุขใจจึงควรดำรงคืตนอยู่ในความสันโดษ ความสันโดษเป็นยาวิเศษให้เกิดการมุ่งมั่นทำงาน ศึกษาวิทยาการ สามารถอยู่ได้อย่างสันติสุข สงบ สบายใจ จัดเป็นมงคลชีวิตที่สำคัญ

มงคลประการที่ 25 : ความกตัญญู
ความกตัญญูหมายถึงความรู้อุปการะที่ท่านทำไว้แล้วแก่ตน เป็นพื้นฐานแห่งความดี เป็นศรีแก่ผู้ประพฤติ ผู้คนจะพากันสรรเสริญ ไม่ว่าจะเชื่อชาติหรือศาสนาใดล้วนยกย่องคนกตัญญู ความกตัญญูนั้นท่านกล่าวไว้ว่าเราควรกตัญญูทั้งต่อบุคคล สัตว์ รวมถึงที่ไม่มีวิญญาณเช่นต้นไม้ แม่น้ำลำคลอง ความกตัญญูทำให้คนผู้นั้นมีเกียรติ ทำให้ถึงซึ่งความเจริญ เป็นผู้น่ารักใคร่น่าเคารพนับถือ มีแต่ความเบิกบานใจ นับว่าเป็นมงคลยิ่ง

มงคลประการที่ 26 : การฟังธรรมตามกาล
การฟังธรรมตามกาลคือเมื่อกาล (เวลา) ใดที่จิตใจเรามีความฟุ้งซ่านหรือมีความวิตกเข้าครอบงำ จิตใจก็จะไม่ผ่องใส แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว จิตใจของเราย่อมหายขุ่นหมอง สว่างขึ้นได้ การฟังธรรมนั้นจะก่อเกิดผล 5 ประการคือ ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ฟัง สิ่งที่เคยฟังแล้วจะเข้าใจชัดขึ้น ช่วยบรรเทาความสงสัย ทำความเห็นให้ถูกต้องได้และจิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส เสียงของธรรมนั้นเป็นเสียงสุภาษิต ชอบด้วยธรรมะ ชอบด้วยวินัย ชอบด้วยกฏหมาย เป็นเสียงที่มีประโยชน์ มีเหตุผลและจะชักนำให้ผู้ฟังกายมัวหมองและมุ่งมั่นที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในความดีงาม ท่านจึงกล่าวว่าการฟังธรรมตามกาลนั้นเป็นมงคล

มงคลประการที่ 27 : ความอดทน
ความอดทนนั้นท่านกล่าวไว้ว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 อย่างคือ ความอดทนต่อความลำบากตรากตรำในหน้าที่การงาน ความอดทนต่อความเจ็บใจต่างๆและความอดทนต่อโรคาพยาธิที่เกิดกับตน หรือจะกล่าวอีกนัยยะหนึ่งคือความอดทนต่อทุกข์ที่เกิดจากความโลภ ความโกรธและความหลงนั่นเอง บุคคลเมื่อจะทำสิ่งใดหรือเมื่อจะประกอบกิจการงานใด เมื่อขาดซึ่งความอดทนเสียแล้ว ย่อมทำให้งานเหล่านั้นสำเร็จได้โดยยาก ส่วนความอดทนต่อความเจ็บใจนั้นอาจเรียกได้ว่าคือความอดกลั้น ไม่พลั้งพลาดทำสิ่งไม่ควรลงไปด้วยโทสะ หรืออารมณ์ชั่ววูบซึ่งจะส่งผลเสียตามมามากมาย บุคคลที่จะสามารถดงรงคืความมีขันติอดทนได้ มักจะเป็นผู้ที่อัธยาศรับสงบเสงี่ยม ยินดีอยู่ในทางนั้น ไม่ปลดปล่อยอารมณ์ของตนให้ตกอยู่ภายใต้สิ่งที่เข้ามาเล้าโลม ขันตินั้นเป็นพื้นฐานศีลและสมาธิ ซึ่งจะนำไปสู่การมีปัญญาในที่สุด พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่าการมีขันติเป้นมงคลอันหนึ่ง

มงคลประการที่ 28 : ความเป็นผู้ว่าง่าย
ความว่าง่ายนั้นได้แก่ความยินดีเคารพ รับโอวาทจากผู้อื่นโดยความชื่นตาชื่นใจ ไม่เป็นคนกระด้าง ดื้อดันแข็งขันด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิมานะ ความว่าง่ายเป็นธรรมที่สมควรแก่ชนทุกชั้น ทั้งผู้ใหญ่กว่า ผู้เสมอกันและผู้น้อย จะพึงปฏิบัติให้สมแก่ฐานะของตน บุคคลที่เป็นผู้ว่าง่ายย่อมเป็นที่รักของผู้ใหญ่ เพื่อนฝูงมิตรสนิทที่เสมอกันและผู้น้อย ผู้อ่อนอาวุโส ตลอดจนผู้ที่อยู่ในปกครองของตน ทำสิ่งใดย่อมสำเร็จได้โดยง่าย ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ท่านจึงกล่าวไว้ว่าความเป็นผู้ว่าง่ายนั้นเป็นมงคล

มงคลประการที่ 29 : การได้เห็นสมณะ
สมณะแปลว่าผู้สงบ เป็นผู้ที่ไม่เป็นศัตรูกับใค ไปไหนก็ไปดี ไม่ไปร้าย ไม่เบียดเบียนให้เดือดร้อน มีแต่ชักนำความสุขไปให้ ท่านจึงกล่าวไว้ว่าความได้เห็นสมณะเป็นมงคล พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า “คนที่เราเรียกว่าสมณะเพราะเป็นผู้สงบบาปน้อยใหญ่ได้ราบคาบทุกส่วน คนที่มีความริษยา ละโมบ หาได้เป็นสมณะไม่” ผู้เป็นสมณะนั้นจะมีลักษณะ 4 ข้อคือ ไม่ทำร้ายใคร ไม่เห็นแก่ลาภ บำเพ็ญสมณธรรมและบำเพ็ญตบะ โดยการเห็นสมณะนั้นสมารถเห็นได้ทั้งทางตา ทางใจและทางปัญญา เมื่อได้พบเห็นสมณะแล้วเข้าไปสมาคม ฟังโอวาท ตริตรองด้วยปัญญาอันชอบแล้วปฏิบัติตาม จะเกิดความดีงามและเจริญแก่ตนเอง

มงคลประการที่ 30 : การสนทนาธรรมตามกาล
บุคคลที่ได้คบหาสมาคมกันย่อมมีการสนทนากันเป็นธรรมดา แต่การสนทนานั้นถ้ามีแต่เรื่องเหลวไหลก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลาเปล่า แต่การสทธนาที่มีธรรมเป็นตัวหลักจะได้ประโยชน์และปัญญา การนนธนาธรรมตามกาลนั้นจัดเป็นมงคลอันอุดม ยิ่งเป็นการสนทนากับผู้รู้ด้วยแล้วยิ่งจะเป็นการชักพาให้เกิดความรู้ ความฉลาดมากขึ้น ในคราวที่เรามีจิตที่หมองเศร้า ฟุ้งซ่าน ลังเลไม่แน่ใจ การสนทนาธรรมจะเป็นเครื่องปลอบและวินิจฉัยที่เที่ยงตรงถูกต้อง สภาวะจิตใจอันเศร้าหมองลังเลนั้นจะคลายลงได้โดยอัศจรรย์ นอกจากนี้การสนทนาธรรมยังเป็นการศึกษาหาความรู้ ได้ทบทวนความรู้เดิมให้แตกฉาน ดัดทิฏฐิความเห็นของตนให้ถูกทาง บำบัดความสงสัยในการทำดีละชั่วและได้อุบายที่จะฝึกอบรมใจให้สะอาดหมดจดต่อไป ท่านจึงกล่าวไว้ว่าการสนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลยิ่ง

มงคลประการที่ 31 : การบำเพ็ญตบะ
การบำเพ็ญตบะคือการเผาหรือการทำให้กิเลสและความชั่วลามกต่างๆให้ดับสิ้นไป โดยทั่วไปแล้วการบำเพ็ญตบะจะเน้นที่การสำรวมอินทรีย์และความเพียร การสำรวมอินทรีย์คือการเผาผลาญอภิชฌาและโทมนัสให้หมดสิ้นไป ส่วนความเพียรนั้นคือเครื่องเผาความเกียจคร้าน บุคคลที่ไม่สำรวมอินทรีย์นั้นเมื่อพบสิ่งที่ดีกับตนก็จะทะเยอทะยานอยากได้จนเกินควรหรือละโมบ ไม่สามารถคุมสติตนเองได้ แต่เมื่อพบกับสิ่งที่ไม่พอใจก็จะดิ้นรนทุรนทุรายเพื่อให้รอดพ้นสภาวะนั้น เต็มไปด้วยความโทมนัส แต่ถ้ามีตบะที่ดีแล้วสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับผู้นั้น ส่วนผู้ขาดความเพียรนั้น ความเกียจคร้านจะเข้าครอบงำ งานการจะไม่ลุล่วงสมประสงค์ ทำให้คลาดประโยชน์ที่ควรได้ การบำเพ็ญตบะเป็นเหตุเผาผลาญความละโมบ ความโทมนัสและความเกียจคร้านให้หมดสิ้นไป การประพฤติเยี่ยงนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ว่าเป็นอุดมมงคล

มงคลประการที่ 32 : การประพฤติพรหมจรรย์
การประพฤติพรหมจรรย์แปลว่าความประพฤติอันประเสริฐ ซึ่งถ้าแปลความหมายตรงๆคือการงดเว้นจากการครองเรือน อันหมายถึงสิ่งที่สมณะเพศพึงกระทำ เพื่อจะไม่ต้องกังวลห่วงใยรุงรังเหมือนชาวบ้าน ไม่ต้องกังวลจากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก จัดว่าเป็นอุบายในการเปลื้องทุกข์อีกทางหนึ่ง แต่สำหรับคฤหัสถ์หรือคนทั่วไป การประพฤติพรหมจรรย์หมายถึงการยินดีในคู่ครองของตนเพียงผู้เดียว ไม่แสดงหาเพิ่ม ไม่มักมากในกาม ท่านจึงกล่าวไว้ว่าการประพฤติพรหมจรรย์เป็นมงคล

มงคลประการที่ 33 : ความเห็นอริยสัจ
ความเห็นอริยสัจคือการเห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งประเสริฐ อริยสัจ 4 ประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย (เหตุที่เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) มรรค (อุบายที่จะเดินถึงความดับทุกข์) ทั้ง 4 ประการนี้ท่านจัดว่าเป็นปัญญาอย่างสูงสุดในพระพุทธศาสนาเพราะว่าสามารถจะนำบุคคลให้หลุดพ้นจากภูมิปุถุชนให้ดำรงตนอยู่ในภูมิอริยะได้ เมื่อคนเราเข้าใจอริยสัจและได้ดำรงค์ตนหรือปฏิบัติตนให้อยู่ในหนทางแห่งการดับทุกข์แล้ว ผู้นั้นจะสามารถที่จะประสบผลที่มุ่งหมายสูงสุดในพุทธศาสนาคือนิพพานได้ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่าความเห็นอริยสัจเป็นอุดมมงคล

มงคลประการที่ 34 : ความทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
ความทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นสำเร็จที่มาจากความเห็นอริยสัจ นิพพานแปลว่าดับ คือ ดับ เย็น จากกิเลสเครื่องร้อนทั้งปวง เป็นภาวะที่จิตเย็นสนิท กิเลสใดๆไม่สามารถลุกล้ำเข้ามาได้ นิพพานเป็นภาวะที่เป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์ใดๆเจือปนและเป็นสุขที่มั่นคง นิพพานจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทำตนให้ปราศจากกิเลสอย่างเด็ดขาด พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ความทำนิพพานให้แจ้ง เป็นมงคลอันล้ำเลิศประเสริฐสูงสุดในพระพุทธศาสนา

มงคลประการที่ 35 : จิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม
โลกธรรมคือธรรมสำหรับโลกที่ทำให้จิตของปุถุชนแปรปรวน ชักนำให้เหิมตามไปบ้าง ชักนำให้เหี่ยวแห้งใจบ้าง พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าโลกธรรมมีอยู่ 8 ประการคือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ โลกธรรม 8 ประการนี้เองที่ติดสอยห้อยตามชาวโลก และชาวโลกก็หมุนเวียนตามมัน โลกธรรมเหล่านี้สามารถเข้าครอบงำได้ไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือพระอริยะ แต่พระอริยะสามารถที่จะข่มไม่ให้มันมีอิทธิพลเหนือจิตใจได้ ไม่หวั่นไหวกับมัน ในขณะที่ปุถุชนทั่วไปยังไม่สามารถข่มเอาชนะได้ ยังหวั่นไหวทุกครั้งที่โดนรุมเร้า ในทางธรรมท่านให้พิจารณว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน อย่าให้มันเข้าครอบงำจิตเราได้ ให้เราเพียงแค่รับรู้แต่อย่าไปหวั่นไหวกับมัน อย่าเสียใจหรือดีใจจนออกนอกหน้า เมื่อเราสามารถปรับจิตใจไม่ให้หวั่นไหวกับโลกธรรมเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เราพ้นจากทุกข์ พ้นจากความตรอมใจเศร้าโศก ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่าจิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมเป็นมงคลอันประเสริฐ

มงคลประการที่ 36 : จิตที่ไม่โศกเศร้า
ความโศกเศร้าคือจิตที่เหี่ยวแห้งตรอมตรมเมื่อถูกความพิบัติเข้าทับถม หรือถูกทุกข์ภัยเข้ามาหาอย่างแรง เช่นว่าถูกจองจำหรือจะถูกปลงชีวิต จิตใจของคนเราย่อมต้องการแต่สิ่งที่พึงใจ เมื่อไม่ได้สิ่งพึงใจก็จะกลายเป็นใจเหี่ยวแห้ง ไม่สดชื่น เศร้าสร้อยอับเฉา เหล่านี้คือใจที่มีความโศก อันจะนำมาซี่งความทุกข์ทรมานแก่ตนเองยิ่งนัก ผู้ที่มีจิตเศร้าโศกย่อมทำการงานใดไม่สำเร็จ ไม่สามารถดำรงค์สติให้มั่นคงได้ แต่สิ่งที่เหล่านี้สามารถกำจัดให้หมดไปได้ด้วยการตั้งจิตของตนให้มั่นคง ทำจิตให้หลุดพ้นจากสิ่งที่รัก สิ่งที่หวัง สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ทะเยอทะยาน เมื่อเราสามารถทำจิตของเราให้หลุดพ้นจากสิ่งข้างต้นได้ สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่สามารถทำให้จิตของเราเศร้าหมองตรอมตรมได้ ไม่มีสิ่งใดจะมาทำอันตรายต่อจิตได้อีก ท่านจึงกล่าวแนะนำให้เราพึงเจริญจิตภาวนา ฝึกจิตใจของตัวเราเองอยู่เสมอ

มงคลประการที่ 37 : จิตปราศจากธุลี
ธุลีนั้นเป็นชื่อของกิเลสอันประกอบไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง 3 กิเลสข้างต้นทำให้จิตใจหมองได้อย่างเดียวกันแต่ต่างอาการกันออกไป กล่าวคือ ราคะจะชักให้แส่หาในอารมณ์ที่น่ากำหนด โทสะจะชักให้ข้องขจัดด้วยความเคืองแค้น โมหะชักให้งมงายไร้เหตุผล ไม่รู้จักผิดชอบ ราคานั้นมีโทษน้อยแต่คลายช้า โมหะมีโทษกล้าแต่คลายเร็ว โมหะมีทั้งโทษกล้าและคลายช้าด้วย ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อเกิดราคะ (ความกำหนัด) ก็ให้เจริญอสุภกรรมแก้ เมื่อเกิดความโกรธก็ให้เจริญเมตตาแก้ และเมื่อเกิดความลุ่มหลงให้เจริญสติสัมปชัญญะแก้ เมื่อเราทราบแล้วว่า ระคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องทำให้จิตหมอง ก็พึงปฏิบัติปัดเป่าธุลีดังกล่าวให้เบาบางลงด้วยสติและปัญญา ความโง่เขลา งมงาย ไร้สติก็จะจางหายไป พระพทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่าจิจที่ปราศจากธุลีเป็นอุดมมงคล


มงคลชีวิต 38 ประการ – ธรรมะสำหรับคนดี


มงคลประการที่ 38 : จิตที่เกษมปลอดโปร่ง
จิตที่เกษมปลอดโปร่งคือจิตที่ไม่ปราศจากสิ่งไม่ดี 4 อย่างคือ กาม ภพ ทิฏฐิและอวิชชา ปุถุชนทั่วไปที่ไม่ได้มีการฝึกจิตของตนให้ดีย่อมทั้ง 4 สิ่งนี้เป็นเครื่องโอบล้อมไว้
- กามโยคะ คือกิเลสที่โอบล้อมปุถุชนไว้ด้วยรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส
- ภวโยคะ (ภพ) เป็นเครื่องยึดให้ปุถุชนนิยมยินดีรักใคร่ในรูปภพและอรูปภพ เป็นการมุ่งที่จะเจริญรูปญาณ มีความยินดีที่เกี่ยวข้องกับความเห็นว่าโลกนี้มีแต่สิ่งเที่ยงแท้
- ทิฏฐิโยคะ คือความเห็นผิดไปจากความจริงที่แท้
- อวิชชาโยคะ คือความหลงมืดมน ปกปิดทำใจให้บอด ไม่รู้แจ้งในเหตุผลที่แสดงความไม่รู้อริยสัจ หรือความเขลาอันเนื่องมาจากความไม่รู้ซึ่งสภาพที่ไม่รู้

ท่านกล่าวไว้ว่าการเข้าถึงจิตที่เกษมนั้นต้องเข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะก่อน เพื่อเรียนรู้หลักที่ดีจริงและเพื่อยึดเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เป็นการทำกาย วาจา ใจ ของตนเองให้สะอาดเรียบร้อยด้วยศีล ฟอกจิตให้ผ่องแผ้วด้วยสมาธิและกำจัดทิฏฐิให้แจ่มใสด้วยปัญญา ผู้ใดเข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะและประพฤติได้ดังกล่าวแล้ว สรณะของผู้นั้นย่อมเป็นสรณะอันเกษม เป็นสรณะอันอุดม จิตก็เป็นจิตที่เกษมปลอดโปร่ง ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่าจิตที่เกษมเป็นมงคลอันล้ำเลิศประเสริฐสุด


คงได้เห็นแล้วนะครับว่ามงคลชีวิตทั้ง 38 ประการนั้นเป็นหลักชัยที่จะนำพาชีวิตของคนเรานั้นไปหาความสุขที่แท้จริง สุขทั้งทางกาย วาจาและใจ บ้านเมืองของเราทุกวันนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ยุ่งเหยิง แก่งแย่งชิงดี มุ่งหวังประโยชน์ตนมากกว่าส่วนรวม ดังนั้นการนำหลักมงคลชีวิต 38 ประการนี้ไปประพฤติปฏิบัติย่อมจะทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่ทุกข์ ไม่วิตกกังวล ยิ่งมีผู้นำไปปฏิบัติมาก สังคมของเราก็จะมีแต่ความสงบ มีความสุข ความเจริญ….



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์