ผลตรวจออกแล้วส้มตำถาดเคลือบสี สาเหตุโรคอิไต อิไต


ผลตรวจออกแล้วส้มตำถาดเคลือบสี สาเหตุโรคอิไต อิไต


ผลตรวจจากกรมวิทย์ฯ ออกแล้ว เผย "ส้มตำถาดเคลือบสี" ปนเปื้อนแคดเมี่ยม - สาเหตุโรคอิไต อิไต

วันที่ 4 ก.ย. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด รายงานว่า นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  จากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์​ ได้ทำการเก็บตัวอย่างของส้มตำถาดเพื่อพิสูจน์หาสารโลหะหนัก หลังจากมีการทดสอบเบื้องต้นโดยใส่กรดแอซีติก หรือกรดน้ำส้มสายชู และพบว่ามีการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมเกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น ​การทดลองเบื้องต้นเป็นการหยดสารโดยตรงลงบนถาดซึ่งอาจทำให้ได้ค่าที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น กรมวิทย์ฯ ได้ทำการเก็บส้มตำถาด 10 ตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์ โดยแบ่งการทดสอบเป็นการหยดสารแอซีติก แช่ไว้ตามมาตรฐาน 24 ชั่วโมงในอุณหภูมิ 12 องศา ​​โดยพบว่าสารละลายที่ออกมานั้น มีสารแคดเมียม 2.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ​จากที่มาตรฐานกำหนดไว้ว่าต้องไม่ให้เกิน 0.25 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งการทดสอบดังกล่าวสารแคดเมียมเกินมาตรฐานทั้ง 10 ตัวอย่าง เป็น 10 เท่า ส่วนสารตะกั่วพบเพียง 3 ถาดแต่ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด

นพ.อภิชัย กล่าวว่า การทดสอบอีกส่วนที่สำคัญ คือ การหาปริมาณสารที่ละลายออกมาปนเปื้อนในส้มตำที่ใส่อยู่ในถาดโดยตรง ซึ่งจะทำให้ทราบคำตอบ ว่าในการรับประทานจริงๆจะได้รับการปนเปื้อนด้วยหรือไม่ โดยได้ทำการสุ่มตัวอย่างส้มตำ 10 ตัวอย่าง ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง 3 ชั่วโมงแล้วนำมาหาการปนเปื้อน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1 ส้มตำที่ใส่กับถาดโดยตรงไม่มีอะไรรอง พบว่า จากการทดสอบพบสารแคดเมียมปนเปื้อนในส้มตำ 0.875 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 2 ส้มตำถาดแบบที่มีใบตองรองที่ก้นถาดแบบมิดชิด ไม่พบการปนเปื้อนของแคดเมี่ยม 3 ส้มตำถาดแบบที่มีใบตองรองแต่ไม่มิดชิด พบการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยม 0.127 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 4 นำส้มตำใส่ถุงพลาสติกวางบนถาดเพื่อนำมาเปรียบเทียบการปนเปื้อนจากอาหารโดยตรงเท่านั้น ทั้งนี้ จากการทดสอบทุกแบบไม่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว 

“ผลการตรวจดังกล่าว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน ADI หรือ ปริมาณที่ไม่ควรบริโภคเกินในแต่ละวันอยู่ที่ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวต่อเดือน ประกอบกับข้อมูลการเก็บตัวเลขการบริโภคอาหารของคนไทย ปริมาณแคดเมี่ยมที่พบในการทดสอบครั้งนี้โดยเฉพาะเมื่อใส่ส้มตำในถาดสีโดยตรง ถือว่าเกินปริมาณที่แนะนำ 1.4 เท่า ซึ่งหากมีการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะได้รับสารแคดเมี่ยมเกินมาตรฐาน และสะสมในร่างกายไปเรื่อยๆก็มีสูง ซึ่งผู้บริโภคควรเลือกร้านที่ใช้ภาชนะที่ปลอดภัย” นพ.อภิชัย กล่าว 

นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากได้รับสารแคดเมี่ยมนั้น​ พบว่า เป็นสารที่หากได้รับในปริมาณมาก หรือ สะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดพิษต่อไต และกระดูกได้ หากกินต่อเนื่องในระยะยาวก็จะทำให้เสี่ยงไตวาย เกิดโรคปวดกระดูก หรือ โรคอีไตอีโต ได้ นอกจากนี้ องค์กรด้านมะเร็ง ยังกำหนดให้แคดเมี่ยมเป็นสารชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การทดสอบในครั้งนี้ได้พยายามหาคำตอบที่ประชาชนสงสัย และตอบคำถามเรื่องความปลอดภัยเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการร้านค้านั้น สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยได้ โดยดูที่มาตรฐาน มอก. ซึ่งจะกำหนดมาตรฐานของสีที่ใช้กับภาชนะสำหรับครัวเรือน ซึ่งสารแคดเมี่ยม และตะกั่ว เป็นส่วนประกอบสำคัญของสี หากเลือกใช้ภาชนะที่ได้มาตรฐานก็จะปลอดภัยต่อผู้บริโภค


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์