อยู่แบบมีคุณค่า วิถีชีวิต ผู้สูงอายุสุดชิค ในญี่ปุ่น
เคยได้ยินมาบ้าง ก่อนที่จะได้มีโอกาสไปเยือนดินแดนอาทิตย์อุทัย ประเทศแห่งนี้เป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง จะด้วยเพราะอาหาร สภาพภูมิอากาศ หรือจะเป็นเพราะการดูแลตัวเองก็แล้วแต่ ที่ทำให้ประเทศนี้ "คนอายุยืน"
เมื่อมีโอกาสเดินทางไปดูงาน ดูคุณภาพชีวิตของคน กับคณะกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็อดจะ "ส่องดูโลก" ของผู้สูงอายุที่นี่ไม่ได้
เพราะอีกประมาณ 20 ปี ประเทศไทยเราก็จะก้าวเข้าสู่สังคม "ผู้สูงอายุ" เช่นกัน
และก็สมชื่อ เพราะไม่ว่าจะแวะชิม ชม ช้อป สถานที่ใด และเมืองใด ก็ได้เห็นผู้สูงอายุเดินทางมาท่องเที่ยวกันเป็นคู่บ้าง หมู่คณะบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่ถ้าหากเป็นกรุงเทพฯแล้วคงไม่ได้เห็นผู้สูงอายุใช้บริการกันมากนัก
แต่ในญี่ปุ่นกลับมีผู้สูงอายุใช้บริการเต็มขบวน ไม่เว้นแม้แต่ในสวนสนุกที่เห็นผู้สูงอายุชวนเด็กๆ ไปต่อแถวรอเครื่องเล่นก็มี
ด้วยมีผู้สูงอายุอยู่มากนี่เอง จึงได้เห็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่รัฐเตรียมไว้ให้อย่างครบครัน
ตั้งแต่ที่นั่งสำรองบนรถไฟฟ้าและรถโดยสาร ห้องน้ำผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก ที่สามารถเข็นวีลแชร์เข้าไปได้ในทุกๆ ที่
(บน) คุณลุงเจ้าของร้านปลาย่าง (ล่าง) ห้องน้ำในประเทศญี่ปุ่น
พิเศษคือในห้องน้ำทั่วไปแต่ละห้องนั้น มีราวสำหรับแขวนไม้เท้าของผู้สูงอายุ รวมถึงมีห้องน้ำที่สามารถนำเด็กเข้าไปใช้บริการได้พร้อมกัน หากเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ เดินทางไปกับแม่เพียงสองคน
ธรรมดาของผู้สูงอายุที่เดินเหินสักพักก็จะปวดเมื่อย ที่ญี่ปุ่นจะมี "เก้าอี้" ให้นั่งพักตามสถานที่ต่างๆ ทุกแห่ง แต่ที่สุดเก๋ คนไทยอย่างเราเห็นแล้วประทับใจ คือมีเก้าอี้ในลิฟต์ให้ผู้สูงอายุได้นั่งพักด้วย
รวมถึง "รถบัส" หรือ "รถเมล์" ก็จะมี "ระบบไฮดรอลิกส์" เป็นเครนยกรถวีลแชร์ได้ สังเกตง่ายๆ รถเมล์คันไหนมี "เครนยก" ให้ดูจาก "สติ๊กเกอร์รูปรถวีลแชร์" ที่ติดอยู่หน้ารถบัสที่วิ่งรอบเมือง
นอกจากนี้ เรายังได้เห็นสวัสดิการต่างๆ ที่ "ภาครัฐ" จัดให้กับผู้สูงอายุ อาทิ ค่ารักษาพยาบาลจ่ายเพียง 10% ของค่ารักษาจริง และเบี้ยผู้สูงอายุที่ถือว่าสูง ทำให้การดำรงชีวิตไม่ใช่เรื่องยาก
ซึ่งเบี้ยผู้สูงอายุนี้ผันแปรไปตามภาษีที่ถูกหักในช่วงที่ยังทำงานอยู่ ส่วนใหญ่มักถูกหักออก 40% และมีฐานภาษีแบบก้าวหน้า รายได้มากก็ถูกหักมาก เมื่อถึงบั้นปลายชีวิตอายุ 65 ปี ก็จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุคืนมาก
แต่เพราะรัฐต้องรับภาระผู้สูงอายุจำนวนมาก ทำให้แรงงานรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้เสียภาษีเพราะทำงานเป็นสัญญาจ้างชั่วคราว รัฐจึงต้องไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้อยู่ที่ 8% เพื่อจะมีเงินไปบริหารจัดการตรงนี้
แต่จะให้รัฐดูแลเพียงอย่างเดียว ก็คงไม่พอ ด้วยนิสัยของคนญี่ปุ่นที่มีลักษณะชอบช่วยเหลือตัวเอง และคิดว่าตัวเองมีศักยภาพไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร ทำให้เราได้เห็นผู้สูงอายุที่นี่ทำงานพาร์ตไทม์เล็กๆ น้อยๆ เพื่อดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทำความสะอาด แคชเชียร์ แม่ครัว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานขับรถ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนักเพื่อช่วยเหลือตัวเอง
อย่างพนักงานขับรถในทริปที่ไปนี้ ก็เป็นคุณลุงวัย 67 ปี ที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากพวกเราแม้สักนิด แถมว่าเรากลับเสียด้วยซ้ำว่า "ผมไหว กว่าจะเลิกหยิบจับอะไรก็ปาเข้าไป 80 ปีแล้ว ถึงรู้ว่าตัวเองแก่จริงๆ"
และไม่ใช่แค่การทำอาชีพพาร์ตไทม์เหล่านี้เท่านั้น ผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่นนิยมรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อย่างออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ กิจกรรมพัฒนาชุมชน เก็บขยะ บ้างก็นัดกันท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ โดยเฉพาะการแช่ออนเซ็น และท่องเที่ยวตามธรรมชาติตลอดทั้ง 4 ฤดูกาล ที่ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นโปรดปรานเป็นพิเศษ
คุณป้าแคชเชียร์ในห้างสรรพสินค้า
กว่าจะเป็น "ผู้สูงอายุที่ชิค" ในบั้นปลายได้เช่นนี้ นับว่าต้องมองการณ์ไกล เตรียมตัวกันตั้งแต่รุ่นๆ เมื่อก้าวสู่วัยเลข 3 เมื่อเริ่มสร้างครอบครัวของตัวเองแล้ว คนญี่ปุ่นก็จะวางแผนถึงอนาคตวัยชราของตัวเองทันที
เนื่องด้วยญี่ปุ่นเป็นสังคมแบบครอบครัวเดี่ยว เมื่อแต่งงานแล้วจะแยกครอบครัวออกมา ทำให้บั้นปลายชีวิตคนญี่ปุ่นจะไม่พึ่งพาลูกหลาน อยู่ด้วยตัวเองให้ได้ วัยทำงานของชาวญี่ปุ่นจึงทำงาน เก็บเงิน ซื้อบ้าน รวมถึงเก็บเงินไว้สำหรับงานศพของตัวเอง จนไม่ต้องมีห่วงอะไร
ที่สำคัญคือ "การเตรียมสุขภาพ" ที่หลายคนนึกไม่ถึง นอกจากดูแลสุขภาพในวัยหนุ่มสาวแล้ว เมื่อถึงวัยสูงอายุก็จะต้องศึกษาว่าในวัยนี้กินอะไรได้บ้าง อาหารชนิดใดดีต่อฟัน ย่อยง่าย คำนวณแล้วกี่กิโลแคลอรี่ อาหารใดมีผลต่อการขับถ่ายบ้าง ซึ่งรายการโทรทัศน์ที่ญี่ปุ่นก็จะนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาสำหรับผู้สูงอายุอยู่เนืองๆ นอกจากนี้ ยังมีสารคดีชีวิตผู้สูงอายุอยู่เสมอ เพื่อเป็นแบบอย่างในการดูแลตัวเองและอยู่ได้อย่างมีความสุข และผู้สูงอายุก็ดูจะชอบเสียด้วย
จบทริปครั้งนี้ ก็เรียกว่าได้คติในการดูแลชีวิตบั้นปลายให้มีคุณค่าแบบชาวญี่ปุ่นแบบแน่นเอี้ยด