สธ.สั่ง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เพิ่มห้องผู้ป่วยจิตเวช เร่งค้นหากลุ่มอารมณ์สองขั้วดึงเข้าระบบรักษา จิตแพทย์ชี้เป็นโรคอันตราย แต่สังเกตด้วยสายตายาก เหมือนกรณีนักบินเยอรมันวิงส์
วานนี้ (30 มี.ค. 58) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยเนื่องในวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มีนาคของทุกปี ว่าสมาพันธ์โรคไบโพลาร์สากล (The International Society for Bipolar Disorders)
คาดว่าขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยประมาณ 27 ล้านคน หรือร้อยละ 1-2 ของประชากรโลก ร้อยละ 20 ฆ่าตัวตายสำเร็จ สำหรับประเทศไทย มีการศึกษาในปี 2555 ประเมินจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องเข้าถึงบริการ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นโรคไบโพลาร์ประมาณ 1 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท แต่การเข้าถึงบริการของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตยังต่ำกว่าโรคทางกายมาก โดยมีการเข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 61 จึงต้องพัฒนาระบบบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
"ในปี 2558 สธ.จะเน้นเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวช โดยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป อย่างน้อย 1 แห่ง ต้องจัดหอผู้ป่วยเพื่อดูแลรักษาในโรงพยาบาล เช่นเดียวกับโรงพยาบาลจิตเวช และพัฒนาศักยภาพห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใหญ่ 33 แห่ง ให้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชในภาวะวิกฤตได้ พร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย โดยกระจายยารักษาโรคเฉพาะทางจิตเวช อาทิ ยาต้านโรคจิต ยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านเศร้า ยาคลายเครียด ยากันชัก เป็นต้น" ศ.นพ.รัชตะกล่าว
วันเดียวกัน ที่ รพ.ศรีธัญญา จัดกิจกรรมวันไบโพลาร์โลก โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคนี้รักษาหายได้ แต่ต้องได้รับกำลังใจและรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหากไม่รับการรักษาติดตามดูแลจะกลับเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 80-90 โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีญาติเป็นโรคซึมเศร้า มีวงจรการกิน การนอนผิดปกติ ตลอดจนคนใช้สารเสพติด ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการปรึกษาฟรีได้ที่สายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทาง ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยอาจไม่คุ้นเคยกับโรคนี้มากนัก แต่ในต่างประเทศรู้จักกันดี อย่างกรณีนักบินผู้ช่วยของสายการบินเยอรมันวิงส์ ที่คาดการณ์กันว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกทำผู้โดยเสียชีวิตทั้งลำ ก็พบว่าป่วยเป็นโรคไบโพลาร์เช่นกัน ถือเป็นโรคที่มีความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม โรคนี้สังเกตพฤติกรรมผู้ป่วยได้ยาก เพราะจะไม่แสดงอาการ แต่จะมีลักษณะเหมือนคนนิสัยไม่ดีทั่วไป เช่น จะทำอะไรที่แปลกไปจากเดิม เช่น มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป อย่างร่าเริงผิดปกติ เศร้าผิดปกติ ฯลฯ หากพบเจอญาติหรือคนใกล้ชิดมีลักษณะอาการเช่นนี้ ให้รีบพาพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดรักษาด่วน