วัดในเหรียญต่างๆในสมัยรัชกาลที่ ๙ รับรู้และเรียนรู้วันนี้ต่อไปจะเป็นประวัติศาสตร์
หน้าแรกTeeNee อาหารสมอง อาหารสมอง วัดในเหรียญต่างๆในสมัยรัชกาลที่ ๙ รับรู้และเรียนรู้วันนี้ต่อไปจะเป็นประวัติศาสตร์
นอกจากที่ “เหรียญกษาปณ์” จะมีค่าในฐานะที่เป็นวัตถุแทนเงินตรา ก็ยังมีคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ตลอดจนการแสดงถึงความเป็นสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อีกด้วย
เริ่มแรกที่มีการใช้เหรียญกษาปณ์มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ น้ำหนัก ขนาด อัตราส่วนผสมของโลหะ และกรรมวิธีการผลิตเรื่อยมา จนกระทั่งในรัชกาลปัจจุบัน กรมธนารักษ์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนออกมาใช้ในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชุดปัจจุบัน ประกอบด้วยชนิดราคา 10 บาท , 5 บาท , 2 บาท , 1 บาท , 50 สตางค์ , 25 สตางค์ , 10 สตางค์ , 5 สตางค์ และ 1สตางค์ (โดยชนิด 10 สตางค์ , 5 สตางค์ และ 1สตางค์ ไม่ได้นำออกมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่มีความจำเป็นต้องใช้ในเรื่องการคำนวณตัวเลขต่างๆ ในทางบัญชี โดยเฉพาะการคิดภาษีในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเศษสตางค์ได้)
ซึ่งลวดลายที่ปรากฏอยู่บนเหรียญนั้นจะเป็นลวดลายที่แสดงถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคำว่า ประเทศไทย เพื่อแสดงถึงสถาบันชาติ และด้านหลังเป็นรูปวัดต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อแสดงถึงสถาบันศาสนา
โดยลวดลายวัดบนเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ มีดังนี้
พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม บนเหรียญ 10 บาท
เหรียญ 10 บาท เป็นรูป “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม” ที่ถือว่าเป็นมุมถ่ายภาพที่คุ้นเคยกันดี โดยวัดอรุณฯ เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับองค์พระปรางค์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระปรางค์ที่มีอยู่เดิม จนมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์ และให้มีการจัดงานฉลองขึ้น โดยทรงสถาปนาวัดอรุณฯ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอันดับหนึ่ง และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งแรก
พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม บนเหรียญ 5 บาท
เหรียญ 5 บาท เป็นรูป “พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” ที่นับว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีเอกลักษณ์ตรงที่ใช้วัสดุแบบตะวันตก มาสร้างสถาปัตยกรรมแบบไทย จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์จากประเทศอิตาลี โดยสร้างเป็นทรงจตุรมุข หลังคาซ้อน 4 ชั้น
บริเวณหน้าต่างของพระอุโบสถมีการใช้กระจกและมีการเขียนสีลงบนกระจก ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างลงตัว ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราช (จำลอง) เป็นพระประธาน อยู่ภายใต้รัตนบัลลังก์บรรจุพระสรีรางคารของรัชกาลที่ 5
พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร บนเหรียญ 2 บาท
เหรียญ 2 บาท เป็นรูป “พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ภูเขาทอง” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่มาแล้วเสร็จลงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีรูปแบบเป็นพระเจดีย์แบบกลม (ทรงลังกา) บนยอดเขา เพื่อให้เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่ของพระนคร
ในภายหลังมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.2509 โดยบุกระเบื้องโมเสกสีทองที่องค์พระเจดีย์ พร้อมกับมีการสร้างพระเจดีย์องค์เล็กๆ รายรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ทั้ง 4 ทิศ และภายในพระเจดีย์องค์ใหญ่ยังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับงานประเพณีที่สำคัญของวัดสระเกศฯ ก็คือ “งานวัดภูเขาทอง” ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี โดยจะมีการห่มผ้าแดง งานสมโภชน์องค์พระบรมสารีริกธาตุ และเทศกาลงานวัดในคราวเดียวกัน
พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บนเหรียญ 1 บาท
เหรียญ 1 บาท เป็นรูป “พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในวัดพระแก้ว ตั้งอยู่บนฐานไพที ทางทิศตะวันตก รูปแบบจำลองมาจากเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา มีความสูงประมาณ 40 เมตร ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากลังกา
พระบรมธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ บนเหรียญ 50 สตางค์
เหรียญ 50 สตางค์ เป็นรูป “พระบรมธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาของไทย และถือเป็นหนึ่งในเจ็ดของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในแถบภาคเหนือตอนบนและเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีมะแม
พระบรมธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในภายหลังได้มีการบูรณะ และสร้างฉัตรไว้ทั้งสี่มุมของพระบรมธาตุ อันหมายถึงสัญลักษณ์ของความร่มเย็นที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาที่แผ่ไปในทั้ง 4 ทิศ
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช บนเหรียญ 25 สตางค์
เหรียญ 25 สตางค์ เป็นรูป “พระบรมธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช” พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและชาวพุทธทั่วไป ตัวเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำหรือทรงโอคว่ำ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกา มีความโดดเด่นอยู่ที่ยอดเจดีย์ซึ่งหุ้มด้วยทองคำแท้
พิธีที่นิยมปฏิบัติกันในช่วงวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชาของทุกปีก็คือ การแห่ผ้าขึ้นธาตุ ซึ่งจัดเป็นงานบุญประจำปีที่มีผู้คนทั่วทุกสารทิศมาร่วมสร้างกุศลกัน โดยมีความเชื่อว่า หากใครได้นำผ้าขึ้นธาตุแล้วนั้น ไม่ว่าจะขอพรเรื่องใดก็จะสำเร็จได้ดังหวัง และความมหัศจรรย์ที่เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ด้วยก็คือ องค์พระบรมธาตุจะไม่มีเงาทอดลงพื้นไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบไปทางใด
พระเจดีย์ วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร บนเหรียญ 10 สตางค์
เหรียญ 10 สตางค์ เป็นรูป “พระเจดีย์ วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร” เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ส่วนที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ครอบองค์เดิมไว้ โดยทางด้านตะวันออกของเจดีย์ จะมีประตูทางเข้าสู่สถูปองค์เก่าที่อยู่ภายใน
องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม บนเหรียญ 5 สตางค์
เหรียญ 5 สตางค์ เป็นรูป “องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม” ที่นับว่าเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีการสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อครั้งที่ได้ส่งสมณทูตเข้ามาเผยแผ่พระศาสนา
สำหรับการบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์นั้น เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ขณะที่ยังทรงผนวช ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการ ภายหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่หุ้มองค์เดิมไว้ พร้อมสร้างวิหารคตและระเบียงโดยรอบ และมาแล้วเสร็จเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในรัชกาลต่อๆ มา ก็ยังมีการบูรณะในบริเวณต่างๆ เรื่อยมา
พระธาตุ วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน บนเหรียญ 1 สตางค์
เหรียญ 1 สตางค์ เป็นรูป “พระธาตุ วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน” อีกหนึ่งวัดสำคัญของล้านนา ภายในวัดมีการบรรจุพระบรมอัฐิของพระพุทธเจ้า (พระเกศาธาตุ) ซึ่งเดิมนั้นพื้นที่บริเวณนี้เป็นพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์จามเทวี เมื่อได้เกิดนิมิตว่าบริเวณนี้มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ จึงมีการสร้างพระเจดีย์ทรงปราสาทครอบไว้ และได้ถวายเป็นพระอารามในภายหลัง พระธาตุหริภุญไชย เป็นหนึ่งในเจ็ดของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในแถบภาคเหนือตอนบนเช่นกัน และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีระกา (ไก่)
และนั่นก็คือเรื่องราวของวัดต่างๆในเหรียญไทย ซึ่งเป็นคุณค่าในความงดงามที่หลายๆคนอาจมองข้ามไป ทั้งๆที่เป็นเรื่องใกล้ตัวแค่นี้เอง
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!