เผยบันทึกประวัติศาสตร์ นิสัยที่แท้จริง!! “คอนสแตนติน ฟอลคอน” ร้ายจริงหรือโดนอิจฉาริษยา?

กำลังเข้มเลยทีเดียวสำหรับ "บุุพเพสันนิวาส" ละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ ที่เชื่อว่าตอนนี้ "ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชเยนทร์" ได้ตกเป็นจำเลยสังคมในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม หนังสือศิลปวัฒนธรรม ที่เรียบร้องข้อมูลโดย หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้เสนอข้อมูลว่าแท้จริงแล้ว "คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนอย่างไร"

เผยบันทึกประวัติศาสตร์ นิสัยที่แท้จริง!! “คอนสแตนติน ฟอลคอน” ร้ายจริงหรือโดนอิจฉาริษยา?

มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้ เอกสารประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงชายหนุ่มชาวยุโรปผู้หนึ่งซึ่งรับราชการในตำแหน่งสูงระดับ "อัครมหาเสนาบดี" เป็นที่โปรดปรานทำให้มีวาสนาบารมีเหนือกว่าผู้ใดในกรุงสยาม เขาผู้นั้นมีนามว่า "คอนสแตนติน ฟอลคอน" และได้รับบรรดาศักดิ์ที่ "ออกญาวิชเยนทร์" หรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ เรื่องราวของ คอนสแตนติน ฟอลคอน มีลักษณะเสมือนเป็นตัวละครในนวนิยายย้อนยุคมากกว่าจะเป็นชีวิตของคนเดินดิน ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญได้ว่า



คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิชเยนทร์คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิชเยนทร์

1.เป็นฝรั่งเชื้อสายกรีกและอิตาเลียน ถือกำเนิดประมาณปี พ.ศ. 2190 (ค.ศ.1647) ในแคว้นเซฟาโลเนีย ประเทศกรีซ เมื่อมีอายุได้ 15 ปี ในปี พ.ศ.2205 (ค.ศ.1662) ได้ออกจากบ้านไปทำงานอยู่ในเรือสินค้าอังกฤษ ซึ่งท่องทะเลทำการค้าจากอังกฤษไปยังส่วนต่างๆ ของทวีปเอเชีย เป็นเวลานับ 10 ปี

จนกระทั่งลาออกไปทำงานอยู่กับนักธุรกิจใหญ่ชาวอังกฤษผู้ตั้งฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และมีโอกาสได้เดินทางไปเมืองจีนและญวนเหนือ คอนสแตนติน ฟอลคอน เข้ามาเมืองไทยประมาณปี พ.ศ.2214 (ค.ศ. 1675) เมื่อมีอายุได้ประมาณ 28 ปี มีความรอบรู้และประสบการณ์ในเรื่องการค้าขายเป็นอย่างดี และสามารถพูดได้หลายภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ, โปรตุเกส, และมลายู

ดังนั้นเมื่อนักธุรกิจผู้เป็นนายเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ฟอลคอนก็ได้เข้ารับราชการกับเจ้าพระยาพระคลัง (โกษาเหล็ก) ในหน้าที่ล่ามในการดูแลการค้าต่างประเทศซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ "พระคลัง" จนกระทั่งมีโอกาสถวายตัวต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งราชการอย่างรวดเร็ว คอนสแตนติน ฟอลคอน สมรสกับดอญา มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) ผู้เป็นลูกครึ่งโปรตุเกสและญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2225 (ค.ศ.1682) ซึ่งขณะนั้นฟอลคอนได้รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วในวัย 35 ปี มีความคล่องแคล่วในภาษาไทยและการใช้ราชาศัพท์ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก

นามของ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เริ่มปรากฎในหน้าประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.2226 (ค.ศ.1683) เมื่อถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ไทยให้จัดส่งคณะทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเป็นคณะที่ 2 ภายหลังที่ทูตไทยคณะแรกเคยส่งไปหลายปีก่อนหน้านั้นได้สูญหายไปในระหว่างเดินทาง การจัดส่งคณะทูตไทยคณะที่ 2 ไปก็เพื่อเป็นการสนองรับพระราชไมตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ได้ทรงมอบให้สังฆราชเอลิโอโปลิส อัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คณะทูตไทยได้เดินทางถึงฝรั่งเศสวาเช่ต์เป็นผู้นำทาง และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

การนั้นได้ทำให้ฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสเตียนนิกายคาทอลิกในเมืองไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2205 (ค.ศ.1662) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในด้านต่างๆ จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตลอดจนได้แสดงความสนพระราชหฤทัยในศาสนาคริสต์และในความเจริญก้าวหน้าของฝรั่งเศส, ได้สนับสนุนให้ฝรั่งเศสผูกไมตรีกับไทย


ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้าถือศาสนาคริสเตียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสอง พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงรับคำแนะนำของบาทหลวงฝรั่งเศส และได้จัดส่งคณะทูตในฐานะผู้แทนพระองค์

ซึ่งมี เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เป็นเอกอัครราชทูต เดินทางมาเมืองไทยโดยเรือรบ มาถึงอยุธยาในครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2228 (ค.ศ.1685) คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่อพระหัตถ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามในข้อตกลงเรื่องการเผยแผ่ศาสนา และเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าของบริษัทอีสต์อินเดียของฝรั่งเศส

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้จัดคณะทูตไทยซึ่งมีออกญาวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต เดินทางไปถวายพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พร้อมกับ เดอ โชมองต์ ในการเดินทางกลับฝรั่งเศส ในการต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสครั้งนี้ คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้เป็นที่รู้จักของฝรั่งเศสมากขึ้น หวังฝรั่งเศสเป็นที่พึ่งมากขึ้น และฝรั่งเศสก็คาดหมายความร่วมมือจากฟอลคอนมากขึ้น

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงจัดส่งทูตอีกคณะหนึ่งเดินทางมาอยุธยาอย่างต่อเนื่องไปเลย โดยมี เดอ ลาลูแบร์ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางจากฝรั่งเศสเมื่อต้นปี พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) ถึงอยุธยาในเดือนกันยายน และพำนักอยู่เมืองไทยประมาณ 3 เดือน ออกเดินทางกลับในต้นปี พ.ศ.2231 (ค.ศ.1688) ในขณะที่ เดอ โชมองต์ มีภารกิจหลักในการโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้านับถือศาสนาคริสต์

และให้ฝ่ายไทยอนุเคราะห์ฝรั่งเศสในเรื่องการค้า เดอ ลาลูแบร์ ได้รับนโยบายจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้จัดการปูทางให้ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในการบริหารเมืองไทย ซึ่งรวมถึงการส่งกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาสนับสนุนความมั่นคงด้วย คอนสแตนติน ฟอลคอน

ซึ่งหวังพึ่งฝรั่งเศสทั้งในทางส่วนตัวและในหน้าที่การงาน เป็นผู้นำเสนอนโยบายต่อฝรั่งเศสข้างต้น อย่างไรก็ดี เดอ ลาลูแบร์ ก็ขัดแย้งกับฟอลคอนในการปฏิบัติหลายเรื่องและในช่วงเวลานั้น เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็ไม่ค่อยจะมั่นใจในความมั่นคงในฐานะราชการ อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่คณะทูตฝรั่งเศสออกเดินทางไปจากเมืองไทยได้ไม่นาน เมืองไทยก็มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยพระเพทราชาในขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรหนัก

คอนสแตนติน ฟอลคอน ถูกจับและถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2231 (ค.ศ.1688) และต่อมาในวันที่ 11 กรกฎาคม ศกเดียวกัน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เสด็จสวรรคต เมื่อฟอลคอน ปิดชีวิตที่เสมือนนิยายลงไปนั้น มีอายุประมาณ 40 ปี และได้พำนักอยู่ในเมืองไทยได้ประมาณ 13 ปีเท่านั้น



ภาพพิมพ์คณะทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ภายในพระราชวังแวร์ซายส์ (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส กภาพพิมพ์คณะทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ภายในพระราชวังแวร์ซายส์ (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส ก

2.คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นบุคคลซึ่งมีความรู้ ความสามารถในหลายด้าน จึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพอพระราชหฤทัยในผลงานที่ได้มอบหมายให้ฟอลคอนรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าขายและการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ซึ่งในเวลานั้นพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก หลายชาติหลายภาษา

ฟอลคอนรับราชการโดยไม่มีเงินเดือนแต่สร้างฐานะให้มั่งคั่งอย่างรวดเร็วจากการประกอบธุรกิจส่วนตัวที่อาศัยอำนาจหน้าที่ทางราชการ สถานภาพอันโดดเด่นของ คอนสแตนติน ฟอลคอน ย่อมเป็นที่ริษยาและไม่เป็นที่วางใจของบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่โดยทั่วไปจนกล่าวได้ว่าฟอลคอนปราศจากมิตร มีแต่ผู้เป็นศัตรูที่คอยเวลากำจัดให้สิ้นไป

การที่ คอนสแตนติน ฟอลคอนมีอำนาจวาสนาและบารมี เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลทั่วไป ก็เพราะเป็นผู้ที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัย การที่ฟอลคอนพยายามฝากตัวเป็นคนฝรั่งเศส ภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็เพราะหวังพึ่งฝรั่งเศสในการช่วยค้ำจุ้นฐานะในราชการไทย ฟอลคอน ได้วางแผนที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสเมื่อใดที่ไม่อาจจะอยู่ในเมืองไทยต่อไปได้ หากต้องประสบเคราะห์กรรมเสียก่อนที่จะมีโอกาสเช่นนั้น

การที่ต้องดำรงตนอยู่อย่างโดดเดี่ยวภายใต้ร่มพระบารมีของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยปราศจากมิตรแท้ในแวดวงราชการไทย ทำให้ฟอลคอนมีความไม่ไว้วางใจบุคคลต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องด้วย โดยเลือกคบหาเฉพาะบุคคลที่จะอื้อประโยชน์ให้เท่านั้น สำหรับบุคคลที่มีพฤติกรรมขัดผลประโยชน์นั้น ฟอลคอนจะถือว่าเป็นศัตรูที่จะต้องกำจัดให้พ้นไป

กลุ่มบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจาก คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็คือคณะผู้สอนศาสนาและบาทหลวงฝรั่งเศส เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทางฝ่ายผู้สอนศาสนาและบาทหลวงได้ฟอลคอนเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจในเมืองไทย ในฐานะที่สามารถเข้าถึงพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง

ในขณะที่ฟอลคอนก็ได้อาศัยบุคคลกลุ่มนี้ในการสร้างความเชื่อถือและไว้วางใจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส ตลอดจนสำนักวาติกัน สำหรับตัวแทนการค้าชาวต่างประเทศนั้น, ฟอลคอนจะเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันไปแต่ละบุคคลและแต่ละกลุ่ม โดยการอ้างนโยบายในการรักษาผลประโยชน์ของราชสำนักเป็นหลัก



บ้านของ คอนสแตนติน ฟอลคอนบ้านของ คอนสแตนติน ฟอลคอน

3.พฤติกรรมต่างๆ ของ คอนสแตนติน ฟอลคอน จะถูกจะผิด หรือจะดีจะร้ายประการใด เป็นเหตุการณ์ที่ได้ผ่านไปนานแล้วกว่า 3 ศตวรรษ และปราศจากหลักฐานที่เชื่อถือได้สำหรับวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ฟอลคอนมิใช่คนไทย และมาอยู่เมืองไทยเพียง 13 ปี เพื่อสร้างฐานะ

ดังนั้นจึงไม่อาจคาดหวังว่าจะมีความรักและความผูกพันอย่างสุดซึ่งกับเมืองไทยและคนไทย กระนั้นก็น่าจะต้องยอมรับว่าฟอลคอนมีความเคารพรักและเทิดทูนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ได้บันดาลให้ฟอลคอนและครอบครัวได้รับความสุขและความเจริญอย่างไม่อาจคาดหมายมาก่อน

การที่ คอนสแตนติน ฟอลคอน ถูกกำจัดจนถึงสิ้นสุดชีวิตก็มีสาเหตุทางการเมืองและความมั่นคงของชาติ ตลอดจนความรู้สึกเกลียดชังเป็นส่วนตัวของกลุ่มคนไทยที่เป็นปรปักษ์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานในด้านของคนไทยที่จะระบุชัดเจนว่าคอนสแตนติน ฟอลคอน โดยแท้จริงแล้ว เป็นคนอย่างไร

เนื่องจากฟอลคอนได้ติดต่อใกล้ชิดกับชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยในช่วงเวลาประมาณ 3 ปี (พ.ศ. 2228-30/ค.ศ. 1685-87) และมีชาวฝรั่งเศสบางคนได้บันทึกประสบการณ์อันเกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไว้ พอที่จะมองเห็นได้ว่าบุคคลผู้นี้เป็นคนอย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจก็คือภาพ คอนสแตนติน ฟอลคอน จากประสบการณ์ของชาวฝรั่งเศสว่าเป็น "คนอย่างไร" มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยบางคนเห็นว่าฟอลคอนเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีเหตุผล, ขณะที่บางคนกลับเห็นว่าเป็นคนมักได้ชอบเงิน, และมีความอาฆาตพยาบาท



ภาพสีน้ำแสดงบริเวณป้อมฝั่งตะวันออกที่บางกอก ซึ่งควบคุมดูแลโดยกองทหารฝรั่งเศส ถูกกองกำลังของฝ่ายไทยปิภาพสีน้ำแสดงบริเวณป้อมฝั่งตะวันออกที่บางกอก ซึ่งควบคุมดูแลโดยกองทหารฝรั่งเศส ถูกกองกำลังของฝ่ายไทยปิ

4.บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ผู้ซึ่งเดินทางมาเมืองไทยในฐานะผู้ช่วย เชอวาลิเอร์ เอด โชมองต์ ในครึ่งหลังของปี พ.ศ.2228 (ค.ศ.1685) เป็นผู้ที่ได้แสดงความชื่นชมคอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งได้พบปะติดต่อกันค่อนข้างใกล้ชิดในระหว่างเวลา 3 เดือนเศษ ที่คณะราชทูตฝรั่งเศสพำนักอยู่ในเมืองไทย บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับฟอลคอน และมีความรู้ในระดับราชบัณฑิต

เมื่อได้พบกันครั้งแรก บาทหลวงฝรั่งเศสก็รู้สึกตื่นเต้นในความยิ่งใหญ่ของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ "ฟอลคอนเป็นขุนนางคนโปรด และปัจจุบันมีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าพระยาพระคลังเสียอีก", เดอ ชัวซีย์ บันทึก, "เขาพอใจแต่เพียงได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนั้นเท่านั้น เขาเป็นคนที่เฉลียวฉลาดและทำการค้าเก่งกาจมาก" และเสริมว่า "โดยเหตุที่เขาเป็นคาทอลิกนี้เอง จึงได้มีความสนใจที่จะทำให้เจ้านายตนเป็นคริสตังไปด้วย"

บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ มีความประทับใจใน คอนสแตนติน ฟอลคอน ค่อนข้างมาก ดังที่ได้บันทึกความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับฟอลคอนเอาไว้หลายตอนอาทิ "ฟอลคอนมีความภูมิฐานในทุกสิ่งที่เขาปฏิบัติไป" "เขาเป็นบุคคลมือชั้นเยี่ยมทีเดียว, ถ้าปราศจากเขาเสียคนหนึ่งแล้ว จะทำอะไรไม่ได้สักอย่าง", "เขาเป็นคนคุยสนุก ไม่น่าเบื่อเลยสักนิดเดียว" (ฟอลคอนใช้ภาษาโปรตุเกส ขณะที่ เดอชัวซีย์พูดอิตาเลียน แต่พอรู้โปรตุเกสบ้าง เพราะได้เรียนมาระหว่างการเดินทาง), "ข้าพเจ้าได้ติดต่อกับฟอลคอนมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเห็นว่าเขาเป็นผู้มีความสามารถมากยิ่งขึ้นทุกขณะ น่าเชื่อถือในความสุจริตใจ และเจรจาพาทีก็นิ่มนวล เขามีไหวพริบปฎิพานเฉียบแหลม สามารถพูดตอบโต้ได้ทันคน"

ยิ่งไปกว่านั้น บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ก็ยังได้พรรณนาบรรดา "จุดเด่น" ของ คอนสแตนติน ฟอลคอน ต่อไปอีก. "บุคคลผู้นี้เป็นคนใจใหญ่ เขาน่าจะมีบุญวาสนาเป็นอันมาก จึงได้ไต่เต้าขึ้นมาสู่ตำแหน่งที่ครองอยู่ในปัจจุบันนี้ได้" และ "หลายครั้งทีเดียวที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปรารถนาจะแต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าพระยาจักรี อันเป็นขุนนางในตำแหน่งสูงสุดแห่งราชอาณาจักร เขาก็ปฏิเสธตลอดมาโดยกราบทูลอ้างเหตุผลว่ายศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งอันใหญ่โตเช่นนั้นจะทำให้เขามีภารกิจมากเกินไป จนจะไม่มีเวลาสนองพระเดชพระคุณได้อย่างเต็มที่" เดอ ชัวซีย์ สรุปว่า "ฟอลคอนเป็นหัวใจของราชการงานแผ่นดินทั่วไป"


บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ อธิบายว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามมิได้ทรงจ่ายเบี้ยหวัดเงินปีให้แก่ คอนสแตนติน ฟอลคอน เลย แต่เขาก็มีการใช้จ่ายมากพอดูทีเดียว เขามีเรือสินค้าเป็นส่วนตัวอยู่ ๕ หรือ ๖ ลำ ซึ่งไปๆ มาๆ กับจีนและญี่ปุ่น และเครื่องใช้ไม้สอยของเขาก็มีอุดมสมบูรณ์ (บ้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่เมืองลพบุรีเป็นอาคารก่ออิฐหลังใหญ่)". ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาคริสตัง, เดอ ชัวซีย์ได้ยืนยันว่าฟอลคอน "ได้รับใช้พระศาสนามิได้น้อยเลย สมควรที่สันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะทรงขอบคุณเขาอยู่ เขาต้องการได้รับแต่เกียรติยศเท่านั้น มิได้คำนึงถึงเรื่องเงินทองเลย

ทุกสิ่งที่เขาพูดนี้ เขาจะทำได้ทั้งนั้น อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารักบุคคลผู้นี้อย่างหลงใหลทีเดียว และไม่ประหลาดใจสักนิดเดียวว่า เหตุไฉน เขาจึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นเจ้านายของเขานัก. ม.เดอเมเดลโลโปลิสเคยกล่าวกับข้าพเจ้าหลายครั้งว่า การมิสซัง หรือการเผยแผ่พระศาสนานั้นเป็นหนี้บุญคุณเขาอยู่เป็นอันมาก ถ้าปราศจากเขาเสียคนหนึ่งแล้ว เราคงได้รับความลำบากใจเป็นอันมากทีเดียว".

เดอชัวซีย์ เน้นคุณลักษณะของฟอลคอนอีกตอนหนึ่งว่า "นอกจากจะเป็นคนเฉลียวฉลาดและรู้งานอย่างลึกซึ้งแล้ว เขายังเป็นคนรอบคอบอีกด้วย. ไม่มีอะไรที่เขาต้องลำบากใจ หรือขัดข้องเลย เขาฟังคนร้อยคนพูด และตอบข้อซักถามร้อยข้อได้ภายในครึ่งชั่วโมงเท่านั้น, เป็นคนที่มีความตกลงใจเด็ดเดี่ยวตรงไปสู่จุดหมาย...เป็นนักการค้ากับนักสถาปัตย์ที่ดีได้"

บาทหลวงฝรั่งเศสสรุปความเห็นเกี่ยวกับ คอนสแตนติน ฟอลคอน ว่า "ข้าพเจ้านั้น บางทีอาจมีอคติเข้าข้างฟอลคอนอยู่ แต่ก็ดูว่าเขาเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีเหตุผลมิใช่น้อย และจนกว่าเขาจะสับปลับให้ข้าพเจ้าเห็นนั่นแหละ ข้าพเจ้าจะยังไม่ยอมเปลี่ยนความรู้สึกนี้เลย." เดอ ชัวซีย์ แสดงความรู้สึกดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2228 (ค.ศ.1685)


5.บาทหลวงตาชารด์เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งมีความนิยมชมชอบในตัว คอนสแตนติน ฟอลคอน บาทหลวงฝรั่งเศสผู้นี้เดินทางมาเมืองไทยกับคณะทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เช่นเดียวกับบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ และเดินทางกลับไปฝรั่งเศสพร้อมกัน แต่เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่ง เดอ ลาลูแบร์ เป็นราชทูตมาเมืองไทยในปี พ.ศ.2230 (ค.ศ.1687) บาทหลวงตาชารด์ก็ได้ร่วมคณะทูตมาด้วย

โดยขากลับยุโรป ได้เป็นผู้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และสมเด็จพระสันตะปาปา ณ วาติกันด้วย บาทหลวงตาชารด์ได้เดินทางมาเมืองไทยเป็นครั้งที่ 3 ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ในการเดินทางมาเมืองไทย 2 ครั้งแรก บาทหลวงฝรั่งเศสสำนักเยซูอิตผู้นี้ได้มีโอกาสรู้จักมักคุ้นกับ คอนสแตนติน ฟอลคอนเป็นอย่างดี

จากเอกสารต่างๆ ของบาทหลวงตาชารด์ ปรากฏข้อความที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตาชารด์มั่นใจว่าฟอลคนเป็นคนดี และมีความฝักใฝ่กับทางฝรั่งเศส ข้อความดังกล่าวนี้ก็มีอาทิ "ตามความเห็นของข้าพเจ้านั้นท่านคอนสแตนติน ฟอลคอน ก็เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14) เช่นเดียวกัน ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าเขาคงจะสามารถปฏิบัติการต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ข้าพเจ้าจำต้องย้ำถึงความตั้งใจดีและความไว้วางใจได้ของเขา", "ฟอลคอนเป็นคนอ่อนโยนและมีกตเวทิตาคุณสูงกว่าคนทั่วไป" "เขาอุทิศตนปฏิบัติพระราชภารกิจ (ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) อย่างไม่มีชาวฝรั่งเศสคนใดเท่าเทียม". ฯลฯ

บาทหลวงตาชารด์เปิดเผยว่า เดอ ลาลูแบร์ กับ บุคคลในคณะทูตฝรั่งเศสมีความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน ในลักษณะที่ไม่ไว้วางใจ โดยเห็นว่า ฟอลคอนกระทำการเพื่อประโยชน์ของตนเอง มิใช่เพื่อการสนองผลประโยชน์ของฝรั่งเศส อย่างที่บาทหลวงตาชารด์เข้าใจ

แม้ว่าบาทหลวงตาชารด์จะได้พยายามชี้แจงว่าแม้ฟอลคอนจะรับใช้เจ้านายของเขา หากก็มีความจงรักภักดีต่อฝรั่งเศสอย่างจริงใจ กระนั้น เดอ ลาลูแบร์ ก็ไม่เคยเปลี่ยนความคิด และกลับกล่าวหาว่าบาทหลวงตาชารด์ไปประจบสอพลอฟอลคอน และสมควรที่จะแปลงสัญชาติเป็นไทยไปเสีย

ในความคิดเห็นของบาทหลวงตาชารด์นั้น, คอนสแตนติน ฟอลคอน จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมพระราชไมตรีระหว่างพระมหากษัตริย์ของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งการนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อฝรั่งเศสหลายด้านและเช่นนั้นจึงควรที่คณะทูต เดอ ลาลูแบร์ จะพึงมีไมตรีกับฟอลคอน บาทหลวงตาชารด์กล่าวว่าฟอลคอนเองก็มีความรู้สึกไม่พอใจ เดอ ลาลูแบร์เช่นเดียวกัน

ซึ่งโดยสรุปก็คือ "ความเกลียดชังที่เดอ ลาลูแบร์มีต่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน นั้นมากมายเสียจนกระทั่งไม่สามารถเอ่ยถึงคุณงามความดีแม้สักเพียงเล็กน้อยของท่านเสนาบดี (ฟอลคอน) ผู้นี้ เดอลาลูแบร์ กล่าวหาว่าฟอลคอนเป็นคนไม่มีศาสนา แต่นับถือผีสางเทวดา"


6.สำหรับชาวฝรั่งเศสผู้แสดงความเห็นในทางเสียหายของ คอนสแตนติน ฟอลคอน มากที่สุดก็คือ มองสิเออร์เวเรต์ ผู้จัดการบริษัทอีสต์เอเชียของฝรั่งเศสประจำเมืองไทย เวเรต์ถูกส่งมาประจำเมืองไทยพร้อมกับคณะทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ในปี พ.ศ.2228 (ค.ศ.1685) นักธุรกิจฝรั่งเศสผู้นี้พำนักอยู่ในเมืองไทยจนกระทั่ง คอนสแตนติน ฟอลคอน ถูกประชีวิต

และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2231 (ค.ศ.1688) เวเรต์มีความสำคัญร่วมทุนและให้ความสนับสนุนเท่านั้น หากยังเป็นผู้เบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบริษัทอีกด้วย และดังนั้นจึงเป็นคนฝรั่งเศสที่มีอำนาจเงินในเมืองไทย ที่ทั้งคนฝรั่งเศสในเมืองไทยและคนไทยต้องให้ความเกรงใจ เวเรต์ติดต่อกับ คอนสแตนติน ฟอลคอนอย่างใกล้ชิดพอสมควร

ในการเดินทางไปรับหน้าที่ผู้จัดการบริษัทอีสต์อินเดียของฝรั่งเศส เวเรต์ได้รับแจ้งว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน จะสนับสนุนธุรกิจของบริษัทในเมืองไทย แต่เมื่อได้มาพบปะติดต่อกับฟอลคอนแล้ว เวเรต์ได้รายงานให้ทางปารีสทราบว่า "ข้าพเจ้าต้องทำธุระกับคนผู้หนึ่ง ซึ่งเอาการของตนเป็นใหญ่กว่าของบริษัท

และเมื่อจะพูดถึงการงานกันแล้ว พอข้าพเจ้าขอร้องหรือแนะนำขึ้นอย่างใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เรา ท่านผู้นั้นก็ร้องขึ้นดุจถูกตัดแขนหรือตัดขาทีเดียว" เวเรต์พรรณาต่อไปในรายงานฉบับเดียวกันว่า "ข้าพเจ้าได้รับความลำบากมาก เพราะคอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนโมโหร้าย และจะพูดจาด้วยก็ยาก ข้าพเจ้าต้องใช้วาจาอย่างอ่อนหวานและใช้คำปลอบโยน จึงจะดับโมโหของฟอลคอนได้"

ความจริงผู้จัดการบริษัทฝรั่งเศสคนก่อนคือ เดอ ลูแวง ก็มีความขัดแย้งกับฟอลคอนเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งอาจเนื่องมาจาก คอนสแตนติน ฟอลคอน ไม่เกรงใจพ่อค้า และพ่อค้าก็มักจะเสนอหรือเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ ที่ยากจะรับได้

อย่างไรก็ตามพ่อค้าฝรั่งเศสเห็นว่าฟอลคอนยึดเอาประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ ก็เลยหมดความนับถือ เวเรต์บอกว่าเหตุที่ฟอลคอนชอบพ่อค้าอังกฤษ ก็เพราะฟอลคอนกลัวคนอังกฤษ (เนื่องจากเคยทำงานกับคนอังกฤษมานานในอดีต) และได้รับประโยชน์จากธุรกิจของอังกฤษมากมาย เวเรต์สรุปว่า "คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนมักได้ และหาประโยชน์ส่วนตัวมาก"

ในรายงานของเวเรต์ได้มีการพรรณาถึงรูปลักษณะของ คอนสแตนติน ฟอลคอน เอาไว้ด้วย โดยกล่าวว่า "ฟอลคอนนั้นเป็นคนไม่สูงไม่ต่ำ รูปร่างหน้าตาดี พอใช้ได้สำหรับเมืองนี้ อายุในราว 35 หรือ 36 ปี เป็นผู้มีไหวพริบรูปภายนอกงดงาม" แล้วก็วิจารณ์ว่า "แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าภายในใจจะไม่ตรงกับรูปภายนอก เพราะทุกๆวันคงคิดการหลายพันอย่าง แต่ไม่ได้ทำตามที่คิดไว้สักอย่างเดียว ฟอลคอนเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เป็นคนชอบเงิน ชอบทำการแก้แค้น ชอบคนยอ และชอบคนที่ลงหมอบคลาน"

เมื่อได้มองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งเช่นนี้แล้ว เวเรต์ก็มีความลำบากใจในการวางตัว "ในชั้นต้นข้าพเจ้าออกหนักใจอยู่บ้าง ด้วยไม่ทราบว่าจะควรวางตัวกับคอนสแตนติน ฟอลคอน อย่างไร ข้าพเจ้าควรจะถ่อมตัวลงให้ฟอลคอนที่สุดที่จะทำได้ โดยอย่าให้เสียเกียรติยศของข้าพเจ้า" เวเรต์กล่าวในรายงาน "ข้าพเจ้าจำเป็นจะต้องพบกับฟอลคอนทุกๆวันเพื่อทำธุระให้แก่บริษัท เพราะข้าพเจ้าจะซื้อสินค้าแม้ราคาอัฐเดียวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ก่อนไม่ได้"

เวเรต์รายงานเจ้านายบริษัทอิสต์อินเดียของฝรั่งเศสที่กรุงปารีสต่อไปว่า "คอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งเป็นผู้ปกครองอุดหนุนบริษัท(ในเมืองไทย) ทำทีเหมือนจะอุดหนุนหาประโยชน์ให้แก่บริษัท แต่ความจริงตัวของตัวเองกลับได้รับประโยชน์มากกว่าเราหลายเท่า (ซึ่ง) ข้าพเจ้าก็ตกลงยอมให้เขาถือเนื้อ ถึงพวกอังกฤษเองก็ต้องยอมเหมือนกัน เพราะถ้าไม่ยอมแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องทำการค้าขายเลยจนอัฐเดียว

ทั้งข้าพเจ้าก็จะต้องแตกร้าวกับฟอลคอนด้วย ข้าพเจ้าจึงต้องทำเป็นไม่รู้เท่า เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าเวลานี้เป็นการจำเป็นที่บริษัทจะต้องยกย่องเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปก่อน และโดยที่ข้าพเจ้าปล่อยให้ฟอลคอนได้ทำอะไรตามความชอบใจทุกอย่าง ฟอลคอนจึงได้สนิมสนมกับข้าพเจ้า" เวเรต์ยืนยันว่า "ในทุกวันนี้คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนที่พระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โปรดปรานมากกว่าคนอื่นๆ (ดังนั้น) หากมีความประสงค์ทำการค้าขายหรือทำการอย่าหนึ่งอย่างใดแล้ว จะต้องเอาคอนสแตนติน ฟอลคอนไว้เป็นพวกเดียวกัน จึงจะได้"

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เวเรต์ก็ยังมองเห็นว่า "อำนาจการต่องรอง" ของฝ่ายฝรั่งเศส โดยรายงานว่า "พระเจ้ากรุงสยามนั้นทางลำเอียงรักใคร่พวกฝรั่งเศสมาก และถ้าไม่มีฟอลคอนคอยกีดขวางอยู่แล้ว เราจะขออะไรพระเจ้ากรุงสยามก็คงพระราชทานให้ทุกอย่าง เราจะขออะไรพระเจ้ากรุงสยามก็คงพระราชทานให้ทุกอย่าง แต่ต้องนับว่าเป็นการเคราะห์ดีที่ฟอลคอนยังจะต้องการอาศัยเรามากกว่าที่เราจะต้องการอาศัยฟอลคอน และในทุกวันนี้ (พ.ศ. ๒๒๓๐/ค.ศ. ๑๖๘๗) คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็น่ากลัวจะต้องตายทั้งบุตรและภรรยา และการที่ฟอลคอนจะต้องเสียชีวิตนี้ ก็คงต้องเป็นวันหนึ่ง มิช้าก็คงเร็วเพราะฉะนั้น ฟอลคอนจึงจำเป็นต้องหาที่พึ่ง..." ซึ่งเวเรต์ได้วิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง.


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 36 ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2558 หน้า 112-123 หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, ข่าวสด


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์