ไขข้อสงสัย กักขัง กับ จำคุก ต่างกันอย่างไร หลังศาลกักขังเพนกวิน
22 มี.ค. ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 เดือน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" กรณีละเมิดอำนาจศาลจาการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมในห้องพิจารณาเมื่อ 15 มี.ค. แต่เนื่องจากรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 15 วัน เมื่อพิจารณาตามสถานะนักศึกษา และไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน รวมทั้งข้อหาดังกล่าวกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ศาลจึงพิจารณาให้กักขัง 15 วัน ตามกฎหมายอาญา มาตรา 23
ส่วนการไต่สวนกรณีนายอานนท์ นำพา ได้เขียนจดหมายแสดงความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย จากการถูกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เรียกตัวตรวจโควิด-19 กลางดึกนั้น นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าการไต่สวนแล้วเสร็จ โดยศาลนัดฟังคำสั่งอีกครั้ง ในวันที่ 29 มี.ค. เวลา 09.00 น.
มติชนออนไลน์ รายงานบรรยากาศระหว่างการพิจารณาคดีว่า นายพริษฐ์ได้เดินทางมาศาลด้วยการนั่งรถเข็นวิลล์แชร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และพยาบาลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มาคอยดูแลอาการ หลังมีอาการอ่อนเพลียจากการที่ประท้วงอดข้าวอดอาหารมาหลายวันแล้ว โดยพ่อแม่มาคอยให้กำลังใจ
ในการไต่สวนนั้นนายพริษฐ์ ได้แถลงศาลเกี่ยวกับความอึดอัดที่ไม่ได้รับการประกันตัวใน 2 คดีที่ถูกฟ้อง ซึ่งศาลก็ได้มีการปรามให้แถลงเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดอำนาจศาลเท่านั้น ก่อนจะอนุญาตให้ชี้แจง 5 นาที จากนั้นศาลได้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งบันทึกเหตุการณ์ภายในห้องพิจารณาในวันดังกล่าว
ระหว่างนั้นนายพริษฐ์ได้ขอกระดาษเพื่อเขียนจดหมาย ก่อนยื่นให้กับทนายความจำนวน 3 แผ่น อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ขอตรวจสอบเนื้อหาในจดหมาย แต่ทนายความไม่อนุญาต แต่ศาลก็ได้กำชับไม่ให้ทนายเผยแพร่ยังโซเชียลมิเดีย
ภายหลังนายกฤษฎางค์ ทนายความ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า จดหมายทั้ง 3 แผ่นนั้น นายพริษฐ์เขียนไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ หากศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก ซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายใน 15 วัน จึงถือว่าเป็นหลักฐานในคดี ไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจสอบได้
จากนั้นศาลได้อ่านคำสั่งพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบสำนวนการไต่สวนแล้ว เห็นว่านายพริษฐ์ ได้พูดตอบโต้กับผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาและขออ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมา ผู้พิพากษาจึงได้อธิบายสิทธิของจำเลยและการประพฤติตนในห้องพิจารณาคดี แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงยืนยันที่จะอ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมา ผู้พิพากษาจึงไม่อนุญาตและออกข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
เมื่อมีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นผู้พิพากษาจึงพักการพิจารณาชั่วคราว ระหว่างนั้นผู้ถูกกล่าวหาได้ยืนขึ้นอ่านคำแถลงการณ์และเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในห้องพิจารณาตามคำกล่าวหา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ มาตรา 180 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษ จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน เมื่อพิจารณาถึงอายุ การศึกษาอบรม สภาพความผิด และความรู้สำนึกในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ประกอบกับโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดไม่เกิน 3 เดือน และไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน นับแต่วันนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
ก่อนการเข้ารับฟังการไต่สวน นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของ นายพริษฐ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการอดอาหารของลูกชาย ตามที่ได้แถลงภายในห้องพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา
นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า วันนี้จะเป็นวันที่ได้พบลูกชายครั้งแรกนับตั้งแต่อดอาหาร เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม จากการสังเกตตอนนี้ ลูกมีสีหน้าไม่ยิ้มแย้ม เคร่งเครียด อีกทั้งในวันที่ 19 มี.ค. ทนายความก็แจ้งว่าน้ำหนักของลูกชายลดลงวันละ 1 กิโลกรัม ประกอบกับมีอาการอ่อนเพลีย
โดยนางสุรีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดี ม.112 ยังเป็นประเด็นที่หนักใจมากที่สุด เนื่องจากยังไม่มีโอกาสที่พิสูจน์ความจริง จึงเป็นกังวลว่าลูกชายจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่
สำหรับการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น นางสุรีรัตน์ ย้ำว่า ยังคงหารือกับทางทนายความอยู่ ซึ่งตลอดมาก็มีความพยายามยื่นขอประกันตัวทุกสัปดาห์ แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว
"มันไม่มีอะไรหนักใจมากกว่า 112 แล้วมั้ง คือคดีหมื่นศาลก็เดี๋ยวไปว่ากัน หนักสุดตอนนี้ก็คือคดีนี้ที่ถูกกล่าวหา ซึ่งยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความจริง ยังไม่มีโอกาสได้ทำไรเลย แล้วถูกขังภาษาชาวบ้านเรียกว่าไร ขังลืม ขังยาว ๆ นาน ๆ ขังโดยไม่มีกำหนด "
สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับจดหมายของ นายพริษฐ์ และ นายอานนท์ ว่าถูกส่งให้บุคคลภายนอกได้อย่างไรนั้น นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร (โฆษกกรมราชทัณฑ์) ได้ชี้แจงผ่านเอกสารประชาสัมพันธ์ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพื่อหาข้อสรุป
โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดในระหว่างการนำตัวขึ้นศาล จึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งปกติก่อนที่จะมีการนำตัวผู้ต้องขังเข้าและออกเรือนจำ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อย โดยเฉพาะการตรวจสอบสิ่งของต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าและออกเรือนจำ
จากข้อมูลเบื้องต้น นายธวัชชัย กล่าวว่า วันดังกล่าวในขณะที่ค้นตัวก่อนออกและเข้าเรือนจำ ไม่พบเอกสารหรือจดหมายในตัวของผู้ต้องขังทั้งสองราย
อีกประเด็นหนึ่งเรื่องความปลอดภัยของนายอานนท์ และพวกนั้น นายธวัชชัย กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้มีความพยายามที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านชีวิต ความเป็นอยู่เพื่อตอบข้อสงสัยของสังคม แต่ไม่อาจนำภาพผู้ต้องขังในเรือนจำมาเผยแพร่ได้ ด้วยติดขัดในประเด็นของข้อกฎหมายและสิทธิของผู้ต้องขัง
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ระบุไว้ว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด ได้แก่ ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ, ริบทรัพย์สิน
โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี
ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี
การกักขัง ใน มาตรา 23 ของประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้นก็ได้"
ส่วนมาตรา 24 ของประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ในวรรคแรกและวรรคสองว่า "ผู้ใดต้องโทษกักขัง ให้กักตัวไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน"
ย้ายเพนกวินมา สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อมวลชนของกรมราชทัณฑ์กล่าวกับ บีบีซีไทย ว่า ณ ปัจจุบัน นายพริษฐ์ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีอื่น ๆ กรมราชทัณฑ์ยังสามารถควบคุมตัวเขาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้อยู่ เนื่องจาก เรือนจำแห่งนี้รับผู้ต้องขังตั้งแต่อยู่ระหว่างถูกพิจารณาคดีจนถึงถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 15 ปี
แต่ ในเวลาต่อมา นายพริษฐ์ ถูกนำตัวมาสถานกักขังกลาง จ. ปทุมธานี โดย มารดาและทนายมาขอเข้าเยี่ยม เนื่องจากไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยของนายพริษฐ์ เมื่อต้องแยกการคุมขังกับเพื่อน ๆ
นางสุรีรัตน์ มารดาของนายพริษฐ์กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่าน เฟซบุ๊กไลฟ์ของ The Reporters เมื่อกลางดึกของ 22 มี.ค. ว่า เป็นกังวลต่อความปลอดภัยของลูกชาย และ จะมาขอเยี่ยมอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น พร้อมทนาย และเรียกร้องให้สาธารณชนช่วยกัน "จับตาดู" ความปลอดภัยของลูกชายเธอ
"เขาฝากบอกมาว่า 'คิดถึงทุกคนมาก'"