ข้อมูลบ่งชี้ โควิดระลอกใหม่ JN.1 กำลังจะเกิด
วันที่ 7 มกราคม 2567 แฟนเพจ Center for Medical Genomics ของ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ถึงปรากฏการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
โดยระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ กังวล ที่ประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศเลือกที่จะเชื่อว่าการระบาดของโควิด-19 ได้ยุติและผ่านพ้นไปแล้ว พร้อมปฏิเสธการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่ แม้แต่มาตรการพื้นฐานอย่างง่าย เช่น การสวมหน้ากากอนามัยในที่ผู้คนหนาแน่นก็ถูกละเลย ในขณะที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 13 ประการ กลับบ่งชี้ว่าการระบาดระลอกใหม่โควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 กำลังจะเกิดขึ้น และจำนวนผู้ป่วยจากลองโควิดน่าจะเพิ่มตามด้วยเช่นกัน
สหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาสองด้านพร้อมกัน ปัญหาแรกการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 สายพันธุ์ "เจเอ็นวัน (JN.1)" ที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมเมื่อ 2 ปีก่อน ปัญหาที่สองคือประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศเลือกที่เชื่อหรือจินตนาการเอง (make believe) ว่าการระบาดของโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว พร้อมลดการ์ด ปฏิเสธการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แม้แต่มาตรการง่ายๆ เช่น การล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะก็ถูกละเลย
ในขณะที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 13 ประการ กลับบ่งชี้ชัดเจนว่าการระบาดระลอกใหม่โควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 กำลังจะเกิดขึ้น และจำนวนผู้ป่วยจากลองโควิดน่าจะเพิ่มขึ้นด้วย กล่าวคือ
1. โอมิครอน JN.1 เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหญ่เป็นอันดับสองในสหรัฐอเมริกา มีชาวอเมริกันประมาณ 2 ล้านคนที่ติดเชื้อในแต่ละวัน
2. ช่วงปลายปี 2566 พบจำนวนโอมิครอน JN.1 ในแหล่งน้ำเสียทั่วโลก (ที่มีปัสสาวะและอุจจาระปนเปื้อน) เพิ่มสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อน บ่งชี้ว่าอาจมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแหล่งน้ำร่วมด้วย นอกเหนือจากการติดต่อโดยสารคัดหลั่งจากการไอ-จาม
3. ข้อมูลในอดีตยังแสดงให้เห็นว่าชุมชนใดที่ตรวจพบไวรัสโควิด-19 ในแหล่งน้ำ จากนั้นประมาณ 1-2 อาทิตย์ถัดมา มักจะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากชุมชนนั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
4. โอมิครอน JN.1 สืบเชื้อสายมาจาก BA.2.86 โดยมีความแตกต่างทางสายวิวัฒนาการจากโอมิครอนเชื้อสาย XBB* ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในปี พ.ศ. 2566 โดยมีการกลายพันธุ์ส่วนหนามของอนุภาคไวรัสที่ใช้ยึดเกาะกับเซลล์มากกว่า 30 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับโอมิครอน XBB.1.5 และการกลายพันธุ์ส่วนหนามดังกล่าวยังช่วยเพิ่มศักยภาพของโอมิครอน JN.1 ให้สามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้สูงขึ้น ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนสายพันธุ์ XBB* ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน JN.1 ได้ดีนัก
5. โอมิครอน JN.1 สืบเชื้อสายมาจากโอมิครอน BA.2.86 เกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 โดยมีการกลายพันธุ์ส่วนหนาม 1 ตำแหน่งที่ "Leu455Ser" และการกลายพันธุ์อีก 3 ตำแหน่งนอกบริเวณส่วนหนาม ต่างจากโอมิครอนพ่อแม่ BA.2.86
6. ความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ของโอมิครอน JN.1 สูงกว่าโอมิครอน BA.2.86 และ HK.3 ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก EG.5.1<--XBB.1.5 ถึง 79% บ่งชี้ว่าโอมิครอน JN.1 จะแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่โอมิครอนสายพันธุ์อื่นในปี 2567
7. โอมิครอน JN.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามที่ทำให้ความสามารถในการจับกับตัวรับ "ACE2" บนผิวเซลล์มนุษย์ลดลงบ้าง แต่ก็แลกมาด้วยการหลบเลี่ยงภูมิกันสูงกว่าโอมิครอนรุ่นพ่อแม่ BA.2.86 อย่างมีนัยสำคัญ จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า โอมิครอน JN.1 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบัน
8. วัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นล่าสุดที่ใช้หัวเชื้อหรือสารตั้งต้นเป็นโอมิครอน XBB.1.5 สามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดีเข้าจับและทำลายโอมิครอนทั้งตระกูลรวมทั้งสายพันธุ์ JN.1 ในหลอดทดลองได้ดี และสามารถลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อโอมิครอนรวมถึงสายพันธุ์ JN.1 ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. และรักษาตัวในห้องฉุกเฉินลงได้ถึงประมาณ 60% อย่างไรก็ดี กลับพบว่ามีเพียง 19% ของชาวอเมริกันกลุ่มเปราะบางที่เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นล่าสุดโมโนวาเลนต์ XBB.1.5 โดยเป็นที่แน่ชัดว่าการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่จะทำให้ชาวอเมริกันอาจต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการ "ลองโควิด" เพิ่มมากขึ้น
9. จำนวนผู้เจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโอมิครอน JN.1 ขณะนี้ยังไม่แตกต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ย่อมทำให้มีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
10. สหรัฐฯ ได้ลงทุนในวัคซีนชนิดรับประทาน วัคซีนสูดดม แต่ยังไม่ได้รับการผลักดันให้แล้วเสร็จในปีนี้ 2567
11. สาธารณสุขสหรัฐฯ ให้ความสำคัญการทำวิจัยเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคลองโควิด (long covid) ลดลง
12. หน่วยงานในสหรัฐฯ ลดจำนวนการสุ่มตรวจและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 ทำให้การติดตามการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่กระทำได้ยากขึ้น ไม่เรียลไทม์
13. ในสหรัฐฯ การรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและใส่หน้ากากอนามัยลดลง
ประเทศไทยอาจถอดบทเรียนจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มาปรับใช้
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!