เปิดสาเหตุ เครื่องบินตกหลุมอากาศ รุนแรงกี่ระดับ-อันตรายแค่ไหน?


เปิดสาเหตุ เครื่องบินตกหลุมอากาศ รุนแรงกี่ระดับ-อันตรายแค่ไหน?

จากเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน SQ321 เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER เดินทางจากท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่ประเทศสิงคโปร์ เกิดเหตุตกหลุมอากาศ ก่อนขอลงจอดฉุกเฉิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สุวรรณภูมิ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายชาวอังกฤษ วัย 73 ปี และผู้บาดเจ็บอีก 71 ราย

จากข้อมูลเส้นทางการบิน ของ FlightRadar24 และจากการวิเคราะห์ของสำนักข่าวเอพี ได้แสดงให้เห็นว่า เครื่องบินลำดังกล่าว ร่วงจากระดับความสูง 37,000 ฟุต ไปอยู่ที่ระดับ 31,000 ฟุต หรือร่วงลงไป 6,000 ฟุต (ราว 1.82 กิโลเมตร) ภายในเวลาราว 3 นาทีเท่านั้น

ก่อนที่เครื่องบินจะคงระดับการบินอยู่ที่ 31,000 ฟุต เป็นเวลาไม่ถึง 10 นาที แล้วลดระดับลงอย่างรวดเร็วและลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

เครื่องบินตกหลุมอากาศ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความรุนแรงกี่ระดับ



หลุมอากาศคืออะไร?

หลุมอากาศ คือการเปลี่ยนแปลงของการไหลของอากาศอย่างฉับพลัน ในระดับต่ำ อาจขึ้นลง 1 เมตร ผู้โดยสารอาจไม่รู้สึก, ระดับปานกลาง ขึ้นลง 3-6 เมตร ผู้โดยสารรู้สึก น้ำในแก้วอาจหก และระดับรุนแรง ขึ้นลงได้มากถึง 30 เมตร ผู้โดยสารถ้าไม่รัดเข็มขัด อาจหลุดจากเก้าอี้ได้

เมื่อ "เครื่องบินตกหลุมอากาศ" นั้น ผู้โดยสารจะเหมือนตกลงไปจากระดับการบินเดิมเล็กน้อย บางครั้งเครื่องจะสั่น และหากรุนแรงมาก ก็อาจเกิดความเสียหายของข้าวของภายในเครื่องได้

เวลาเครื่องบินบินอยู่กลางอากาศนั้น ต้องใช้แรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกไป ซึ่งโดยปกติแล้ว อากาศจะมีความหนาแน่นเท่ากัน และเคลื่อนที่สม่ำเสมอไปพร้อมกัน แต่บางครั้งเมื่ออากาศส่วนบน และส่วนล่างมีความเร็วในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน หรือมีความหนาแน่นต่างกันมากๆ บริเวณรอยต่อจึงเกิดการปั่นป่วน และเคลื่อนที่คล้ายๆ กับระลอกคลื่น เมื่อเครื่องบินบินผ่านเข้าไปในบริเวณนี้จึงเกิดการสั่นสะเทือนเหมือนตกหลุม



สาเหตุของการเกิดหลุมอากาศ


1.เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบิน บินเข้าไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรด กับบริเวณสภาพอากาศปกติ

2.เกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ สามารถคาดการณ์ได้

3.พายุฝนฟ้าคะนอง สามารถตรวจพบได้ นักบินจึงหลีกเลี่ยงไม่บินไปใกล้ได้



Clear Air Turbulence (CAT) ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส

เมฆทุกชนิดที่เกิดขึ้นในท้องฟ้าสามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึงความปั่นป่วนได้ว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งนักบินจะต้องเลือกว่าจะหลีกเลี่ยงหรือบินผ่านเข้าไปในเมฆชนิดนั้น เมื่อนักบินสังเกตเห็นเมฆปรากฏอยู่เบื้องหน้า นักบินสามารถประเมินความรุนแรงของความปั่นป่วนได้ และอาจตัดสินใจลดความเร็วของเครื่องบินลงหรือปฏิบัติการอย่างอื่น ตามคำแนะนำเพื่อผจญกับความปั่นป่วนนั้น

แต่มีความปั่นป่วนอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งเตือนใดๆ ที่มองเห็นได้ มีเครื่องบินจำนวนมากที่บินอยู่ในบริเวณที่ไม่มีก้อนเมฆปรากฏอยู่เลย แต่เครื่องบินได้รับการกระแทกหรือราวกับถูกจับโยนเหมือนกับเรือที่แล่นอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยระลอกคลื่น เรียกความปั่นป่วนในลักษณะนี้ว่า ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส




สาเหตุของความปั่นป่วนบริเวณ Jet Stream เกิดจากด้านในสุดของแกนของ Jet Stream อาจมีความเร็วสูงสุดถึง 250 mph แต่ถัดออกมาด้านนอก ความเร็วลมก็จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงขอบนอกอาจเหลือเพียง 50 mph โดยในแต่ละจุดของความแตกต่างของความเร็วลม จะเกิดกระแสอากาศหมุนวน เกิดความปั่นป่วน เรียกว่า CAT

ปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยเมื่อเครื่องบิน บินผ่านบริเวณ CAT คือเครื่องบินจะเกิดการโยนตัวอย่างทันทีทันใด หรือที่เรียกว่า ตกหลุมอากาศ (Air Pocket) ระดับความรุนแรงของความปั่นป่วนนี้อาจอยู่ในขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรง



ลำดับชั้นความรุนแรงของความปั่นป่วน


การแบ่งชั้นความรุนแรงความปั่นป่วน โดยนักบินประเมินค่าความรุนแรงได้ตามชนิดของเครื่องบินนั้นๆ ซึ่งการประเมินความรุนแรงนี้ต้องทำตามแนวทางการปฏิบัติงานและข้อจำกัดของนักบินแต่ละบุคคล

- ความรุนแรง ระดับเล็กน้อย : สภาพอากาศเกิดความแปรปรวนเล็กน้อย ผู้โดยสารจะต้องรัดเข็มขัด และอยู่กับที่ โดยสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินจะไม่ขยับ และอยู่นิ่งกับที่

- ความรุนแรง ระดับปานกลาง : สภาพอากาศเกิดความแปรปรวน โดยผู้โดยสารจะต้องรัดเข็มขัด และอยู่กับที่ ความรุนแรงนี้อาจทำให้ผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวเป็นครั้งคราว แม้รัดเข็มขัด และสิ่งของในเครื่องบินอาจเคลื่อนที่ได้

- ความรุนแรง ระดับรุนแรง : สภาพอากาศเกิดความแปรปรวน ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ชั่วขณะหนึ่ง ผู้โดยสารจะถูกโยนตัวขึ้น-ลง อย่างรุนแรง ขณะรัดเข็มขัด พร้อมกับสิ่งของต่างๆ อาจถูกโยนขึ้น และลอยตัวในอากาศได้

- ความรุนแรง ระดับรุนแรงมากที่สุด : หนึ่งในระดับที่เกิดขึ้นน้อยมาก ทำให้สภาพอากาศเกิดความแปรปรวน ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้เลย เครื่องบินถูกโยนขึ้น-ลง อย่างรุนแรง และอาจสร้างความเสียหายต่อตัวเครื่องบินได้



บริเวณของ CAT จะเคลื่อนที่ไปในทิศตะวันออกเสมอ โดยจะเคลื่อนที่ตามแนวปะทะอากาศ (Front) ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ ของผิวพื้นโลก

อันตรายของ CAT (Clear Air Turbulence) ต่อเครื่องบินที่กำลังทำการบินในอากาศโดยเฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ทำการบินในระดับสูงๆ เมื่อเครื่องบินเข้าสัมผัสกับบริเวณของ CAT จะประสบกับความปั่นป่วนของอากาศ เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินอย่างรุนแรง ทำให้ผู้โดยสารตกใจ หรือบางครั้งรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องบินและผู้โดยสารบาดเจ็บได้

ดังนั้น ก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการบินจะต้องศึกษาตำแหน่งของ CAT ให้ละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน (Flight folder) และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยง หรือ ลดความรุนแรงของ CAT เพื่อให้เกิดความสะดวก ความสุข ความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพของการบิน




เปิดสาเหตุ เครื่องบินตกหลุมอากาศ รุนแรงกี่ระดับ-อันตรายแค่ไหน?


เปิดสาเหตุ เครื่องบินตกหลุมอากาศ รุนแรงกี่ระดับ-อันตรายแค่ไหน?

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์