กรุงเทพฯเสี่ยงจมน้ำ ถึงเวลาย้ายเมืองหลวงเเล้วหรือยัง


กรุงเทพฯเสี่ยงจมน้ำ ถึงเวลาย้ายเมืองหลวงเเล้วหรือยัง

หลังจากที่ John englander เผยข้อมูลระบุว่า กรุงเทพมหานคร ติดอันดับหนึ่งในเมืองใหญ่ที่เสี่ยงจมน้ำ โดยอันดับ 1 เป็นของ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อันดับ 2 กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ อันดับ 3 โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม อันดับ 4 เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา และอันดับ 5 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ได้ขยับรับมือปัญหานี้อย่างเด่นชัด ด้วยการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา ที่ทรุดตัวมากที่สุดในโลก ราว 30.5 เซนติเมตรต่อปี จนทำให้ความสูงของพื้นดินอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากถึงร้อยละ 40 ไปอยู่ที่เมือง "นูซันตารา" (Nusantara) บนเกาะบอร์เนียว ห่างจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงเก่า ประมาณ 2,000 กิโลเมตร อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-4,095 เมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจากภาวะโลกร้อน ทำให้คำถามที่ว่า "ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยจะต้องย้ายเมืองหลวง?" กลายเป็นคำถามที่หลายคนเริ่มส่งเสียงออกมาถึงรัฐบาลในตอนนี้

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ร้อยละ 96 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นแอ่งกระทะ และเป็นดินอ่อน ทำเลที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร อัตราแผ่นดินทรุดคือ 2 เซนติเมตรต่อปี ส่วนระดับน้ำทะเลรอบกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นราวปีละ 4 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักกันว่ากรุงเทพฯ อาจกำลังจะจมน้ำภายในปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมืองหลวงของไทยจะถูกลบออกจากแผนที่โลก แต่หมายถึงการที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องของน้ำทะเลที่หนุนที่อาจกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม หรือเกิดน้ำท่วมขังมากขึ้น ยาวนานขึ้น และมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 54

 



ความเป็นไปได้ที่ไทยจะย้ายเมืองหลวง

สำหรับเรื่องการย้ายเมืองหลวง รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "กรุงเทพฯ เมืองหลวง ปรับเปลี่ยนหรือโยกย้าย" เมื่อปี 2565 โดยระบุว่า ปัญหาของกรุงเทพฯ นอกเหนือจากน้ำท่วม ซึ่งเกิดจากพื้นที่กรุงเทพฯ ต่ำกว่าระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำทะเลหนุน น้ำฝนแล้ว ยังมีในส่วนของวินัยของคน ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ การทิ้งขยะชิ้นใหญ่ในแหล่งน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งหากย้ายเมืองไปที่อื่น 

แต่ยังมีการทิ้งขยะแบบนี้ ปัญหาก็เหมือนเดิม ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่าน้ำท่วม อาทิ การกระจุกตัวของแหล่งงานใจกลางเมือง มูลค่าที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองแพง คนจึงมักจะซื้อบ้านนอกเมืองแล้วเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรแออัดตามมา การแก้ปัญหา แทนที่จะย้ายเมือง กระจายเมืองได้หรือไม่ กระจายงานออกด้านนอกมากขึ้นได้หรือไม่ เป็นต้น

ความหมายของเมืองไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง แต่เมืองคือคน เมืองคือตลาดแรงงาน หรือ labor market ความหมายการย้ายเมืองหลวงอาจจะมีมิติอื่นที่ไม่เหมือนในสมัยก่อน เพราะสมัยก่อนเศรษฐกิจถูกควบคุมโดยภาครัฐ แต่ปัจจุบันเป็น market control ที่เมื่อก่อนย้ายได้เพราะราชการเป็นคนจ้างงาน ปัจจุบันคนที่จ้างงานส่วนใหญ่คือเอกชน คำว่าย้ายเมืองจึงไม่ง่าย เพราะเป็นการย้ายคน ย้ายเศรษฐกิจ ย้ายตลาดแรงงาน ไม่ใช่การย้ายหน่วยงานราชการ


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี อัมรินทร์TV


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์