ทำไม? ‘วันวิสาขบูชา’ ถึงเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก!


ทำไม? ‘วันวิสาขบูชา’ ถึงเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก!

เปิดที่มาและความสำคัญของ "วันวิสาขบูชา" ในฐานะวันสำคัญหนึ่งของโลก และชวนรู้เรื่องราวพุทธประวัติซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ "วันวิสาขบูชา" ที่ชาวพุทธควรรู้ และปีนี้งดการเวียนเทียนเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

วันพระใหญ่ของพุทธศาสนิกชนชาวไทยเวียนมาบรรจบอีกครั้ง แถมยังเป็นวันสำคัญระดับโลกอีกด้วย! เรากำลังพูดถึง "วันวิสาขบูชา" หนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง กล่าวคือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหมือนกันทั้งสามวัน (แต่ต่างปีกัน) นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดน่ารู้อีกมากมายเกี่ยวกับ "วันวิสาขบูชา" ที่พุทธศาสนิกชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ควรทำความรู้จักเอาไว้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้

1. ทำไม "วันวิสาขบูชา" ถึงกลายเป็นวันสำคัญระดับโลก?

ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม เช่น บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้ตกลงกันที่จะเสนอให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองข้อมติประกาศ "วันวิสาขบูชา" ให้เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ

แต่ทางสหประชาชาติแย้งมาว่าวันหยุดเดิมก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว หากบรรจุวันนี้เป็นวันหยุดเพิ่มอีกจะเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณและการบริหารแก่สหประชาชาติ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ประเทศศรีลังกาจึงได้เสนอร่างข้อมติ ขอให้ "วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญสากลที่สหประชาชาติแทนการเสนอให้เป็นวันหยุด โดยผู้แทนจากประเทศต่างๆ ข้างต้นให้การสนับสนุน

โดยกล่าวถ้อยแถลงว่า "วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ และจัดให้มีการระลึกถึงตามความเหมาะสม

จากนั้นคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้ "วันวิสาขบูชา (Vesak Day)" ถือเป็น "วันสำคัญของโลก" ทั้งนี้ด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ และพระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ

2. ย้อนดูที่มาและความหมายของ "วันวิสาขบูชา"

คำว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะ (ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือนแปดสองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือนเจ็ด) โดย "วันวิสาขบูชา" ถือเป็นวันที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ และปรินิพพาน คือ ดับ ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ตรงกันทั้ง 3 คราว (แต่ต่างปีกัน) ได้แก่

2.1) เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ "ประสูติ" ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

2.2) เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ "ตรัสรู้" เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี

2.3) หลังจากตรัสรู้แล้วพระองค์ได้ประกาศพระศาสนาและโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จ "ดับขันธปรินิพพาน" ในวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)


3. "วันวิสาขบูชา" ในสมัยสุโขทัย

ตามหลักฐานพบว่า "วันวิสาขบูชา" เริ่มมีในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะได้แบบอย่างมาจากเมืองลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬารเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

สำหรับสมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ทำไม? ‘วันวิสาขบูชา’ ถึงเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก!


4. "วันวิสาขบูชา" ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

ต่อมาในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่

โดยสมเด็จพระสังฆราชถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นเป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุข และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน


5. กิจกรรมสำคัญใน "วันวิสาขบูชา"

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่เราจะได้ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหลักธรรมคำสอนต่างๆ ที่ท่านได้เคยสอนไว้ สำหรับกิจกรรมที่ชาวพุทธมักจะปฏิบัติกันเป็นประจำเมื่อถึงวันวิสาขบูชา ได้แก่ การเข้าวัดทำบุญตักบาตรด้วยอาหารคาวหวาน ถวายสังฑทาน ฟังเทศเพื่อเป็นศิริมงคลกับชีวิต ถือศีล ปฏิบัติธรรมสร้างบารมีให้กับตัวเอง และสะสมผลบุญ รวมถึงการ "เวียนเทียน" เพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ปีนี้ 2563 ทางการประกาศให้ งดการเวียนเทียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ "โควิด-19"

ทำไม? ‘วันวิสาขบูชา’ ถึงเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์