“ท้องสนามหลวง” ชื่อใหม่สมัย ร.4 แทนชื่อเก่า “ทุ่งพระเมรุ”

ท้องสนามหลวง (ภาพจากหนังสือ กรุงเทพฯ 2489-2539.กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2539)

สนามหลวงมีมาแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในสมัย ร.1 อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

เป็นบริเวณที่โล่งแจ้ง ซึ่งจัดให้มีขึ้นตามแบบสนามหน้าจักรวรรดิของพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ชั้นสูง

คนทั่วไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงเรียกบริเวณนี้ว่า ทุ่งพระเมรุ

 

จับกบทุ่งพระเมรุ

ถ้าไม่มีงานพระเมรุก็ปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าราวหนองบึง ที่ชุมนุมสัตว์เลื้อยคลานครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นอาหารของไพร่บ้านพลเมืองที่มีหลากหลายนานาชาติพันธุ์ ล้วนถูกเกณฑ์เป็นแรงงานสร้างกรุง ดังมีในเนื้อเพลงลาวแพน (น่าจะแต่งในสมัยรัชกาลที่ 3-4) ดังนี้

"มืดมนฝนตก เที่ยวหยกๆ ถกเขมร

ถือข้องส่องคบ จับกบทุ่งพระเมรุ

 

เปื้อนเลนเปื้อนตม เหม็นขมเหม็นคาว

จับทั้งอ่างท้องขึง จับทั้งอึ่งท้องเขียว

จับทั้งเปี้ยวทั้งปู จับทั้งหนูท้องขาว

จับเอามาให้สิ้น มาต้มกินกับเหล้า--"

 

ทำนาท้องสนามหลวง

ร.3 โปรดให้ทำนาในทุ่งพระเมรุ เพราะเป็นที่ลุ่มต่ำ พอถึงฤดูทำนาวิดน้ำเข้านา ก่อคันดินทำเป็นคันนา ต่อฤดูแล้งแผ่นดินแห้งแล้วถ้ามีการเมรุจึงให้ลบคันดิน

เรื่องการทำนาที่ท้องสนามหลวงนี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีรับสั่งประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ทรงบันทึกว่า "คงจะได้เค้ามาจากเรื่องมหานิบาตเรื่องพระมโหสถ ตอนข้าศึกมาล้อมพระนครหวังจะให้อดตาย พระมโหสถเป็นบัณฑิต จึงเอาข้าวปลูกลงในกรับอกไม้ไผ่ พอต้นข้าวเจริญเติบโตสูงขึ้นก็ส่งไปอวดข้าศึก เพื่อที่จะให้ข้าศึกรู้ว่า ในเมืองนี้ไม่มีวันอดข้าวดอก ข้าศึกเมื่อเห็นว่าล้อมไว้ก็ไม่สามารถเอาชนะได้เพราะราษฎรไม่อดอยากจึงได้เลิกทัพกลับไป"

เมื่อทำนาที่ทุ่งพระเมรุ ร.3 โปรดให้สร้างพลับพลาที่ประทับสำหรับทอดพระเนตรการทำนาไว้ทางด้านทิศตะวันตก ใกล้พระบรมมหาราชวัง

 

ร.4 ให้เรียกท้องสนามหลวง

ร.4 โปรดให้เรียกทุ่งพระเมรุว่า ท้องสนามหลวง มีประกาศดังนี้

"ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ' นั้น หาชอบไม่

ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง' ถ้าผู้ที่ยังมิได้รู้หมายประกาศนี้ หรือได้รู้แล้ว แต่หลงลืมไป ยังเรียกว่าทุ่งพระเมรุอยู่ตามเคยเรียกมาแต่ก่อน ถ้ากรมพระตำรวจหรือกรมพระนครบาลผู้หนึ่งผู้ใดจับกุมผู้ที่เรียกพลั้งเรียกผิดนั้นมาปรับไหมเอาเงินทอง ก็ให้ผู้ต้องจับนั้นมาร้องฟ้องตามกระทรวง

ถ้าชำระได้ความจริงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ไหมผู้จับทวีคูณให้แก่ผู้ต้องจับนั้น"

ในรัชกาลนี้ปรากฏว่าพลับพลาทอดพระเนตรการทำนาที่ท้องสนามหลวงมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีหอพระสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปในพระราชพิธีพืชมงคล มีหอสำหรับดักลม มีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง และบนกำแพงแก้วมีพลับพลาโถงสำหรับทอดพระเนตรในการทำนาส่วนนอกกำแพงแก้วมียุ้งมีฉางไว้สำหรับใส่ข้าวหลวงที่ได้จากการปลูกข้าวเรียงเป็นลำดับ

สนามหลวงรูปไข่

เมื่อยกเลิกวังหน้าในสมัย ร.5 ได้ขยายเนื้อที่ออกไปอีกครึ่งหนึ่งแล้วแต่งเป็นรูปไข่อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันปลูกต้นมะขาม 2 แถวโดยรอบ เคยใช้เป็นสนามกอล์ฟ สนามแข่งว่าว สนามแข่งม้า และเป็นที่สวนสนาม และในสมัยหลังเคยใช้เป็นที่ติดตลาดนัดด้วย

ขอบคุณ matichon.co.th


 “ท้องสนามหลวง” ชื่อใหม่สมัย ร.4 แทนชื่อเก่า “ทุ่งพระเมรุ”

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์