ประวัติศาสตร์แรกเริ่มของแสงสียามค่ำคืนในกรุงเทพฯ
สำหรับกรุงเทพนั้น ในฐานะเมืองหลวงของประเทศไทยและยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยแสงสียามค่ำคืนที่น่าเย้ายวนใจนั้นมีที่มาอย่างไร กรุงเทพกลายเป็นเมืองแสงสียามค่ำคืนตั้งแต่เมื่อไร? บทความชิ้นนี้พยายามแสดงให้เห็นพัฒนาการของการเป็นเมืองกลางคืนของกรุงเทพในยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์สังคมไทย
กรุงเทพในอดีตนั้นไม่ใคร่จะมีกิจกรรมในยามค่ำคืนมากมายนัก เพราะด้วยขนาดของเมืองที่ไม่ใหญ่โต ประกอบกับเทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้าโดยเฉพาะในเรื่องไฟฟ้า ผู้คนต้องอาศัยแสงไฟจากตะเกียงในยามค่ำคืน นี่คือปัจจัยที่ทำให้กิจกรรมทางสังคมของกรุงเทพในยามค่ำคืนจำกัดตัวอยู่แต่ในอาณาบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้คนเท่านั้น
จากการศึกษาของ วีระยุทธ ปีสาลี ในหนังสือ "กรุงเทพฯ ยามราตรี" (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ปี 2557) ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประชากรในกรุงเทพเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการขยายตัวของเมืองให้กว้างออกไปด้วยการขุดคลองผดุงกรุงเกษมขึ้นเป็นคูพระนครชั้นนอกในปี พ.ศ. 2397 ทำให้พื้นที่เมืองกรุงเทพขยายออกไปอีกเกือบเท่าตัว ด้วยเหตุนี้ภูมิทัศน์ของมืองกรุงเทพจึงมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
นอกจากนี้ ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาวริ่งในปี 2398 ได้ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายในกรุงเทพมากขึ้นจนเกิดเป็นชุมชนชาวตะวันตกทางตอนใต้ของพระนครต่อเนื่องจากชุมชนชาวจีนที่สำเพ็ง ชาวตะวันตกนี้เองที่มีบทบาทในการเรียกร้องให้มีการตัดถนนขึ้นในกรุงเทพคือถนนเจริญกรุงตอนนอกพระนครในปี พ.ศ. 2404 โดยมีเหตุผลทางด้านสุขภาพเป็นสำคัญ เพราะกรุงเทพไม่มีเส้นทางให้ขี่รถและขี่ม้าไปเที่ยวตากอากาศ
สนธิสัญญาเบาวริ่งยังนำมาซึ่งความเป็นสมัยใหม่ของกรุงเทพอีกด้วย การค้าเสรีและการยอมรับความรู้และเทคโนโลยีจากโลกตะวันตกส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศให้ไปสู่สังคมสมัยใหม่ สภาวะสมัยใหม่ของสังคมไทยจึงผูกพันอยู่กับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยสภาวะสมัยใหม่นี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาในยามค่ำคืน
วีระยุทธ กล่าวไว้ในหนังสืออีกว่า ชนชั้นนำของสยามเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ยอมรับเอาสภาวะสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความทันสมัยในสายตาของชาวตะวันตก และเพื่อสร้างความเหนือกว่าและแตกต่างจากชนชั้นอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการบริโภควัตถุสิ่งของจากตะวันตก การสะสมงานศิลปะ การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การพักผ่อนตากอากาศ หรือการมีรสนิยมการใช้ชีวิตประจำวันแบบตะวันตก สิ่งที่น่าสนใจก็คืออิทธิพลตะวันตกนี้ก็ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาในตอนกลางคืนและโดยมากจะเริ่มจากกลุ่มชนชั้นนำของสยาม
ในงานศึกษาทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นพยายามชี้ให้เห็นว่าชีวิตกลางคืนของกรุงเทพนั้นเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เนื่องจากการพัฒนาประเทศในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และอิทธิพลของวัฒนธรรมอเมริกันในยุคสงครามเย็น ประจักษ์พยานที่สำคัญก็คือ การเติบโตของธุรกิจสถานบันเทิงในยามค่ำคืนในกรุงเทพที่ผุดพรายขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทั้งภัตตาคาร โรงภาพยนตร์ ไนต์คลับ สถานอาบอบนวด แต่วีรยุทธพยายามแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วกรุงเทพฯ เริ่มกลายเป็นเมืองกลางคืนมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2460 แล้วแม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่แต่ก็มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง
เทคโนโลยีที่สำคัญอย่างไฟฟ้าได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้กิจกรรมในยามค่ำคืนเกิดขึ้นได้ในกรุงเทพ กิจการการไฟฟ้าที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2432 ทำให้กรุงเทพยามกลางคืนมีแสงสว่างมากขึ้น หลังจากนั้นพัฒนาการของกิจการการไฟฟ้าในช่วงทศวรรษที่ 2430-2480 ทำให้กรุงเทพสว่างไสวด้วยแสงไฟฟ้าควบคู่กับแสงสว่างจากเครื่องตามประทีบ การติดตั้งไฟฟ้าตามถนนต่างๆ ช่วยทำให้รูปร่างของกรุงเทพยามค่ำคืนปรากฏตัวขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพของเมืองอีกด้วย
แม้จะมีแสงไฟในยามค่ำคืนแต่ความปลอดภัยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านในเวลากลางคืน เมืองกลางคืนย่อมมีปัญหาสาธารณะอย่างเช่นอาชญากรรมและความรุนแรง แต่การจัดระบบการแก้ไขเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยก็ทำให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตในเวลากลางคืนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
โดยสรุป ชีวิตกลางคืนของกรุงเทพนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับสภาวะสมัยใหม่ที่เข้ามาในสังคมไทยช่วงรัชกาลที่ 4 ความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงกายภาพ เทคโนโลยี และความคิดของผู้คนโดยเฉพาะชนชั้นนำได้ทำให้กรุงเทพฯ เริ่มกลายเป็นเมืองกลางคืนและมีพัฒนาการของชีวิตกลางคืนมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของชีวิตกลางคืนของกรุงเทพนั้นยังมีอีกมากมาย โปรดอ่านต่อในหนังสือ "กรุงเทพฯ ยามราตรี" โดย วีระยุทธ ปีสาลี
Cr:::silpa-mag.com