จาก ‘พระราชินี’ สู่ ‘พระบรมราชินี’ ในประวัติศาสตร์บรมราชจักรีวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศ พระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระราชินีให้ทรงดำรงราชฐานันดรศักดิ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีแล้ว
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระราชินีสุทิดา ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี"
สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ 1
พระนามเดิมว่า นาก เป็นธิดาของท่านทองกับท่านสั้น ชาวบ้านบางช้าง ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี ได้วิวาห์กับนางสาวนาก เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา
ต่อมา รัชกาลที่ 2 ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชชนนีเป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เมื่อ พ.ศ. 2353 เทียบอย่างกรมพระเทพามาตย์ที่เป็นสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง ตามโบราณราชประเพณี
ครั้นล่วงถึงรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศเฉลิมพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี เพื่อเทิดพระเกียรติ
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ 2พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าบุญรอด ทรงเป็นธิดาของสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ กับท่านขรัวเงิน พระราชสมภพ ณ ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระพันวัสสา ต่อมา รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเฉลิมพระนามให้เป็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้เฉลิมพระนามใหม่เป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับเจ้าจอมมารดางิ้ว เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า ทรงกำพร้าพระบิดาเมื่อพระชนมายุเพียง 6 เดือน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเข้าไปอุปถัมภ์ในพระบรมมหาราชวัง โปรดให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชธิดา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ โปรดให้จัดการพระราชพิธีอภิเษกสมรสด้วยพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี และโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในที่สมเด็จพระนางนาฏบรมอัครราชเทวี เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2394 ขณะมีพระชนมายุ 18 พรรษา
สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ 4มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้ารำเพย ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยยิกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ กับหม่อมน้อย เป็นพระเชษฐภคินีของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชินี เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชินี เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นพระพี่นางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ และต่อมา ทรงสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นพระอัครมเหสี พระราชทานนามว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์
ต่อมา รัชกาลที่ 5 โปรดให้สถาปนาพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชชนนี พระพันปีหลวงขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ และในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยใหม่เป็น สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินีสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ 5
ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ถวายตัวรับราชการในตำแหน่งพระราชชายาเจ้า เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา
หลังทิวงคตด้วยเรือพระที่นั่งประสบอุบัติเหตุล่มที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี รัชกาลที่ 5 โปรดให้สถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ 5
มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี ดำรงพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระอัครมเหสี เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2423
ต่อมา รัชกาลที่ 6 โปรดให้สถาปนาพระอิสสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ครั้นสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ทรงรับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการเปลี่ยนการขานพระนามตอนเท้าย เพื่อให้ถูกต้องตามการลำดับพระอิสสริยศักดิ์แห่งราชสกุล เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5
พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ได้รับการสถาปนาเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศตามลำดับ เริ่มด้วย พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี
ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชนินีนาถ พระองค์แรกของไทย
ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีนามเดิม ประไพ สุจริตกุล เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชินี บิดาได้นำเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แสดงเป็นนางเอกในละครพูดเรื่อง เสือเถ้า และต่อมา ได้ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวประไพ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2464 โปรดให้สถาปนาเป็นพระอินทราณี ตำแหน่งพระสนมเอก
ครั้นพระอินทราณีพระชนมายุ 20 พรรษา โปรดฯ ให้สถาปนาเป็น พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2468 ได้มีพระบรมราชโองการว่าด้วยการออกพระนามใหม่ โดยลดพระอิสริยยศลง เป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
ทรงเป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ หรือ ‘ท่านหญิงนา'
เมื่อหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชนมายุได้ 14 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2461
ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 ในคราวนั้นได้ทรงสถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายา ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
ทรงเป็นพระธิดาของพลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล) กับหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานนามว่า สิริกิติ์ อันมีความหมายว่า ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร
ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี แล้วย้ายไปศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ทรงจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในกลางพุทธศักราช 2489 ในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลได้ทูลเชิญหม่อมเจ้านักขัตรมงคลเสด็จไปรับตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซ็นต์เยมส์ ประเทศอังกฤษ
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามเสด็จพระบิดาไปยังประเทศอังกฤษ เดนมาร์ก และฝรั่งเศส ซึ่งทรงเข้าศึกษาที่วิทยาลัยกองเซอเลอตัวเลอ ปารีส อันมีชื่อเสียงทางวิชาการดนตรีของกรุงปารีส
19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ ที่ประทับนครโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์
28 เมษายน พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส โดยมีพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานในการจดทะเบียนสมรส แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
ต่อมา วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นวันงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
ครั้นเมื่อเสด็จออกผนวชใน พ.ศ.2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระราชอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 10
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2521 ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2543 ต่อมาทรงเป็นนายทหารบกหญิง และทรงดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นราชองครักษ์เวรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์1 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเรื่องสถาปนาสมเด็จพระราชินี ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระราชโองการให้สถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ในการมหาศุภมงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศ พระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระราชินีให้ทรงดำรงราชฐานันดรศักดิ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จสู่หน้าพระที่นั่งภัทรบิฐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิม และพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ และเครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค แก่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปประทับพระราชอาสน์เบื้องซ้ายพระที่นั่งภัทรบิฐ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระราชินีสุทิดา ขึ้นเป็น"สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี"
ภาพและข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547
เครดิตแหล่งข้อมูล : matichon.co.th